ก้าวไกล จับตานโยบายเกณฑ์ทหาร หนุนเลิกแบบการันตีไม่มีเกณฑ์ ไม่ต้องลุ้นปีต่อปี ยินดีให้ความร่วมมือ หวังรัฐบาลเห็นตรงกัน รอนายกฯ คนใหม่เซ็นรับรองร่างกฎหมาย

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 6 ก.ย. 2566 ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์กรณีนโยบายการเกณฑ์ทหารของกระทรวงกลาโหมว่า หากจะยกเลิกเกณฑ์ทหารให้สำเร็จ โดยที่ไม่กระทบต่อภารกิจในการรักษาความ ต้องพยายามปรับตัวเลข ยอดกำลังพลที่กองทัพขอ ตัดส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น ทหารรับใช้ที่ไม่ได้ทำหน้าที่รักษาความมั่นคง หรือทบทวนงานบางอย่างที่บริบทไม่สอดคล้องกับการป้องกันความมั่นคง

จะทำอย่างไรให้เราเพิ่มยอดการสมัครทหารได้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มสวัสดิการ ฉะนั้น หัวใจสำคัญในการยกเลิกการบังคับการเกณฑ์ทหารคือ การพยายามปรับสองส่วนนี้

นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า การยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร มี 2 วิธี แบบที่ 1 เรียกว่ายกเลิกลุ้นปีต่อปี คือการพยายามลดช่องว่าง ระหว่างตัวเลขที่กองทัพขอกับที่สมัครใจเข้ามา ซึ่งเป็นแนวทางที่กองทัพได้ชี้แจงในแผนปฏิรูปกองทัพของสภากลาโหม 2566 ที่พยายามจะลด ตัวเลขส่วนนี้ลงมาเรื่อยๆ จนในที่สุดสามารถทำให้ไม่มีใครบังคับถูกไปเกณฑ์ทหารได้

แบบที่ 2 เรียกว่า การยกเลิกแบบการันตีว่าไม่มีเกณฑ์ทหารเลย คือ การแก้ที่ตัวกฎหมายคือ แก้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ราชการทหาร เพื่อทำให้กองทัพไม่มีอำนาจในการเกณฑ์ทหารในช่วงที่ไม่มีสงคราม หากเป็นเช่นนั้นกองทัพจะเต็มไปด้วยยอดที่มีคนสมัครใจเข้ามา เหตุที่เราเสนอไปเช่นนี้ เพื่อให้มีความชัดเจนว่าท้ายที่สุด เราจะยกเลิกเกณฑ์ทหารสำเร็จภายในกรอบระยะเวลาเท่าไหร่ และทำให้เยาวชนไม่ต้องลุ้นปีต่อปีว่า เขาจะเสี่ยงถูกบังคับไปเกณฑ์ทหารหรือไม่ เพื่อให้เขาวางแผนชีวิต

นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า เชื่อว่าการยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร จะเป็นแรงกระเพื่อมสำคัญให้กองทัพต้องปฏิรูปตัวเอง และให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิต เพราะตราบใดที่มีกฎหมายเปิดช่องให้กองทัพสามารถบังคับได้ก็อาจเกิดความชะล่าใจได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าคุณภาพชีวิตของกำลังพลจะไม่ดีแค่ไหน แต่เขาก็สามารถบังคับคนมาเป็นทหารได้ ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่เราสามารถแก้ไขกฎหมายดังกล่าวได้ กองทัพจะต้องเอาจริงเอาจังในการยกระดับคุณภาพชีวิตของกำลังพล

ต้องจับตานโยบายของรัฐบาลที่จะแถลงในรัฐบาลอีกครั้งว่า แนวทางในการยกเลิกจะเป็นเช่นไร และต้องยอมรับว่า การให้สัมภาษณ์ของนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม เป็นไปในแนวทางที่ 1 มากกว่า ซึ่งหากดูในแนวทางของพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็มีแนวทางที่จะแก้กฏหมายเช่นกัน หากท้ายที่สุดออกมาเป็นแบบที่หนึ่ง เราก็หวังว่ารัฐบาลจะมีความชัดเจนในเรื่องของกรอบเวลา

“แต่หากเป็นไปในแนวทางที่สองพรรคก้าวไกล ก็ยินดีที่จะร่วมมือกับรัฐบาลในการผลักดันการแก้กฎหมาย ซึ่งขณะนี้เรายื่นกฎหมายการเกณท์ทหารเข้าสู่รัฐสภา และรอนายกฯ เซ็นรับรองก่อน เนื่องจากสภาพิจารณาว่าร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นหลักกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน” นายพริษฐ์ กล่าว

เมื่อถามถึงนโยบายยกเลิกเกณฑ์ทหารที่ระบุในเอกสารคำแถลงนโยบายรัฐบาล นายพริษฐ์กล่าวว่า ในเอกสาร ตนเห็นมีประโยคสั้นๆ ว่าเปลี่ยนจากรูปแบบการเกณฑ์เป็นระบบสมัครใจ หากใช้คำศัพท์เช่นนี้ อาจจะตีความยากว่าเป็นแบบไหน ในมุมมองของตน หมายถึงการเปลี่ยนตัวระบบ คือการยกเลิกการอนุญาตให้มีการบังคับเกณฑ์ แต่ยังไม่อยากด่วนสรุปว่าจะเป็นแบบไหน พรรคยืนยันว่าควรจะยกเลิกเป็นแบบที่ 2 คือการแก้กฎหมายเพื่อรับประกันว่าจะไม่มีการบังคับเกณฑ์ทหาร หวังว่ารัฐบาลจะเห็นตรงกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน