จุรินทร์ ซัดมาตรฐานรัฐบาล สวนทางความสูงนายกฯ เปรียบเป็นนโยบายน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง จวกขึ้นค่าแรง-เงินเดือนขั้นต่ำ 25,000 ขายฝัน ชี้นโยบายที่กล่าวมาเป็นแค่ลมปากตอนหาเสียง ดีแล้วที่ไม่มีนโยบายจำนำข้าว-ประกันรายได้ กันเกิดคอร์รัปชั่น เหน็บรัฐบาลต้องยึดหลักนิติธรรมเท่าเทียม ไม่ใช่คนจนติดคุก

เมื่อเวลา 11.25 น. วันที่ 11 ก.ย. 2566 ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปรายว่า ขอประกาศว่าพรรคประชาธิปัตย์จะทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างเต็มความสามารถ ตนขอแสดงจุดยืนสั้นๆ 2 ข้อ 1.ขอยืนยันว่าพวกตนจะไม่ค้านทุกเรื่อง 2.การทำงานร่วมกับพรรคฝ่ายค้านอื่น พรรคถือหลักแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง อะไรที่เป็นจุดยืนสำคัญของพรรค อย่างไม่แตะม.112 วันหนึ่งอาจมีพรรคฝ่ายค้านใดเสนอเรื่องนี้เข้าสภา พรรคจะไม่สนับสนุน

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า สำหรับนโยบายที่นายกฯ แถลง ตนดูอย่างละเอียด มีความเห็นเหมือนสาธารณชนทั่วไปว่า มาตรฐานรัฐบาลชุดนี้สวนทางกับความสูงของนายกฯ การตั้งโจทย์ประเทศคลุมเครือ นโยบายเลื่อนลอยขาดความชัดเจน ฟุ่มเฟือยด้วยวาทกรรมวกไปวนมา กลายเป็นนโยบายน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง

ที่สำคัญที่ นโยบายที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ แถลงและนโยบายหาเสียงเป็นหนังคนละม้วน เป็นนโยบายไม่ตรงปกอย่างที่วิจารณ์กัน ทั้งเงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท ตอนหาเสียงอึกทึกคึกโครม สร้างความหวังให้เด็กที่จะเรียนจบ วันนี้นโยบายนี้หายไปไหน กลายเป็นนโยบายนินจา เพราะหายไปอย่างไร้ร่องรอย ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ขีดเส้นใต้ว่า ทำทันที ล่องหนไปอีกนโยบาย

นโยบายลดความเหลื่อมล้ำ เติมเงินให้ทุกครอบครัวที่รายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท ทุกเดือน หากจะทำนโยบายนี้ต้องเติมเงินหลักแสนล้าน จะนำเงินมาจากไหนหรือสุดท้ายกลายเป็นนโยบายล่องหน นโยบายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ตอนหาเสียงบอกว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในจังหวัดที่มีความพร้อม วันนี้นายกฯแถลงไม่มีสักคำ และยังถูกแปลงโฉม จากผู้ว่าฯที่มาจากการเลือกตั้ง ไปเป็นผู้ว่าฯซีอีโอ เปลี่ยนจากกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เป็นรวบอำนาจมาสู่การปกครองส่วนภูมิภาค

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า ตนหยิบ 5 นโยบายมาเป็นตัวอย่างเพื่อบอกว่า แค่ลมปากตอนหาเสียง เพราะท่านไม่เขียนในนโยบายที่แถลง ตนต้องพูดเพราะมีหน้าที่ตรวจสอบการบริหารแทนประชาชน และต้องพูดให้รัฐบาลได้ตระหนักว่า หาเสียงได้แต่ต้องมีความรับผิดชอบ

“อย่าให้เหมือนตอนไล่หนูตีงูเห่า สุดท้ายทั้งหนูทั้งงูเห่าอยู่ด้วยกัน แล้วกลายเป็นแค่เทคนิคการหาเสียง หรือแค่นโยบายการละคร สิ่งนี้ประชาชนไม่ต้องการเห็น ต้องการยกระดับมาตรฐานการเสียงของพรรคการเมืองให้สูงกว่านี้ พูดแล้วต้องทำอย่างที่ประชาชนคาดหวัง” นายจุรินทร์กล่าว

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า นโยบายการเกษตร นายเศรษฐากล่าวที่จ.ขอนแก่นชัดเจน ว่ารัฐบาลนี้จะไม่มีนโยบายจำนำข้าวและประกันรายได้เกษตรกร ไม่มีนโยบายจำนำข้าวดีแล้วเพราะเป็นต้นเหตุการทุจริตคอร์รัปชัน นโยบายจำนำข้าวจนวันนี้สร้างภาระหนี้ให้ประเทศ 884,000 ล้านบาท ประเทศไทยยังค้างชำระหนี้โครงการนี้อยู่ 254,000 ล้านบาท ซึ่งคนที่จะต้องใช้ต่อไปรัฐบาลถัดจากรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ และเหมือนกรรมมีจริง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วงว่า ผู้อภิปรายได้อภิปรายเลยกรอบที่เราอภิปรายรัฐบาลปัจจุบันไม่ใช่ในอดีต และการอภิปรายของนายจุรินทร์ เป็นเท็จในสภา ขอให้ถอนคำพูดที่บอกโครงการจำนำข้าวสมัยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สร้างความเสียหาย

ขณะที่นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ประท้วงเช่นกันว่า พรรคเพื่อไทย ไม่ได้มีโอกาสแสดง เพราะโดนปฏิวัติก่อน เพื่อไล่ล่า และเปลี่ยนรัฐบาล ตนจึงอยากให้ความเป็นธรรมกับเรื่องนี้ ไม่อยากให้พูดกันต่อ เพราะทั้งการจำนำข้าวหรือการประกันราคาข้าว เป็นการช่วยเหลือชาวนา

นายจุรินทร์ อภิปรายต่อว่า ตนกำลังอภิปรายถึงรัฐบาลชุดนี้ที่นายกฯ บอกว่าไม่ทำจำนำข้าว ตนว่าดีแล้ว และตนพร้อมสนับสนุน เพราะจำนำข้าวรัฐบาลนี้ต้องมาใช้หนี้ 250,000 ล้านบาท แต่คำถามคือถ้านายกฯ ไม่ทำจำนำข้าวและไม่ทำประกันรายได้เกษตรกร ถ้าวันหนึ่งราคาพืชผลเกษตรราคาตก อะไรจะกลายเป็นตัวช่วยให้เกษตรกรช่วยยังชีพอยู่ได้ และนายกฯ ระบุว่าจะพักหนี้เกษตรกรแทน ตนไม่ค้าน แต่พักหนี้แค่หยุดต้นกับหยุดดอก หมดเวลาเมื่อไหร่ก็มารวมกันกลายเป็นหนี้เดินต่อ สุดท้ายพักหนี้แค่ต่อลมหลายใจให้เกษตรกรชั่วคราว

ส่วนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ย้ำว่ารัฐบาลต้องทำเพราะเป็นสัญญาที่หาเสียงไว้ แต่มีคำถามคือทำอย่างไร และเอาเงินมาจากไหน ขอเตือนว่าอย่าให้นโยบายนี้ กลายเป็นการทุจริตเชิงนโยบายเด็ดขาด

สำหรับนโยบายเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลเขียนไว้ในนโยบายเร่งด่วน ตนและพรรคประชาธิปัตย์ ให้การสนับสนุน แต่มีข้อสังเกตว่าทำไมนโยบายไม่กล้าระบุให้ชัด เกรงใจใครหรือไม่

ส่วนเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ตนเป็นห่วงว่ารัฐบาลเอาจริงแค่ไหน เพราะทั้งเล่มนโยบายป้องกัน ปราบปรามการทุจริต มี 2 บรรทัด ซึ่งรัฐบาลต้องตระหนักว่าไม่ทำเหมือนอดีต เพื่อรักษาประชาธิปไตย และประโยชน์สูงสุดของประชาชน เพราะรัฐบาลท่านในอดีตเคยถูดยึดอำนาจ 2 ครั้ง เพราะเหตุแห่งการทุจริต และการออกกฎหมายล้างการทุจริต จนคนออกมาเป็นล้าน ในที่สุดนำมาสู่การยึดอำนาจ ท่านต้องไม่ทำประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิมอีก ตนขอให้กำลังใจ ถ้าท่านตั้งใจปราบปรามทุจริตจริงๆ

ทำให้นายครูมานิตย์ ประท้วงว่า ตนไม่สบายใจ เพราะผู้อภิปรายระบุว่าพรรคของตนรัฐบาลในอดีตโดนปฏิวัติด้วยการทุจริต ตนว่าเป็นการใส่ร้ายเกินเหตุความเป็นจริง สังคมรู้ บางพรรคอาศัยบุญบารมีของคณะปฏิวัติ วันนี้เริ่มสูญเสียอำนาจและกำลังสูญเสียอะไรหลายอย่าง ต้องถอนคำว่าทุจริต

นายจุรินทร์ อภิปรายต่อว่า นโยบายที่นายกฯ ประกาศชัดเจนว่าจะฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่มีความเข้มแข็ง รัฐบาลข้ามขั้ว แม้จะเปลี่ยนชื่อเป็นรัฐบาลสลายขั้ว สลายความขัดแย้งไม่ได้ มีแค่หลักนิติธรรมที่เข้มแข็งเท่านั้นที่จะทำให้ประเทศมีความหวัง ซึ่งหลักนิติธรรมคือทุกคนเท่าเทียมกัน ภายใต้กฎหมายเดียวกัน นโยบายดังกล่าวคือจุดเริ่มต้นของความหวัง จะศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นจริงได้อยู่ที่ตัวของนายกฯและรัฐบาล

การพระราชทานอภัยโทษที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 1 ก.ย. ผู้ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษต้องสำนึก และรัฐบาลก็ต้องสำนึกว่าผู้นั้นยังเป็นผู้มีความผิด หากมีคำพิพากษาศาลในคดีใดเกิดขึ้นอีกว่ามีการกระทำความผิด ก็ยังจะต้องรับโทษใหม่ในอนาคต

รัฐบาลต้องบังคับใช้กฎหมายโดยหลักนิติธรรม เท่าเทียมกับคนไทยทุกคนต่อไป ถ้ารัฐบาลก่อนหน้าทำไม่ถูก ท่านก็ทำให้ถูก อย่าปล่อยเลยตามเลย ตนเห็นว่าโอกาสนี้เป็นโอกาสสำคัญของรัฐบาลที่จะทำให้วลีที่เราพูดกันว่า คุกมีไว้แค่ขังคนจน กับคนไม่มีอำนาจให้หายไปได้ โดยตนขอให้นายกฯที่ชื่อนายเศรษฐา รักษาคำพูด ยึดมั่นในสิ่งที่แถลงไป ขอให้นายกฯ และรัฐบาลประสบความสำเร็จในการเร่งฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่เข้มแข็งให้เกิดขึ้นได้โดยเร็ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน