เศรษฐา แจงทุกข้อ คง 4 กิโลเมตร ใช้เงินดิจิทัล ปรับแค่บางจังหวัดให้เหมาะสม ไม่ทิ้งบัตรคนจน เพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่าภายใน 4 ปี เร่งแก้ฝุ่นพีเอ็มเห็นผลต้นปีหน้า ย้ำให้ความสำคัญปราบทุจริต ยันไม่แก้รธน.หมวด 1-2

เมื่อเวลา 17.30 น. วันที่ 11 ก.ย.2566 ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 162 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ชี้แจงเป็นครั้งแรกว่า ขอขอบคุณทุกความเห็นที่สส.และสว. แนะนำมอบให้รัฐบาล ในการดำเนินนโยบาย เราจะยึดโยงผลประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง และครอบคลุมคนทุกกลุ่ม ทั้งคนเมืองและคนต่างจังหวัด คนทุกฐานะ ภาคเอกชน ข้าราชการอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ตนขอชี้แจงให้ชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายแก้รัฐธรรมนูญว่า เราจะไม่แก้ไขหมวด 1 หมวด 2 ส่วนการพักหนี้ของเกษตรกร ทราบหรือไม่ว่า 9 ปีที่ผ่านมา มีการพักหนี้ไปแล้ว 13 หน ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่ทุกคนบอกว่าการพักหนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

รัฐบาลตระหนักดีในเรื่องนี้ เราจึงมีมาตรการหลายอย่างเพื่อเพิ่มรายได้ เช่น การทำให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายใน 4 ปี โดยการใช้ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ควบคู่กับการพักหนี้ เพื่อทำให้เกษตรกรหายใจและลืมตาอ้าปากได้ เป็นช่วงที่เขาฟื้นฟูตัวเอง ทำให้เขามีกำลังใจที่จะกลับมาแก้ไขปัญหาประกอบอาชีพ อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ซึ่งการพักหนี้หนนี้จะทำประโยชน์มากกว่าที่เกิดขึ้นในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องรัศมี 4 กิโลเมตรของการใช้ดิจิทัลวอลเล็ตนั้น เรื่องนี้เราตระหนักดีว่า ในชนบทอาจมีร้านค้าไม่เพียงพอ จึงขอไปดูรายละเอียดและดำเนินการให้เหมาะสมอีกครั้งตามคำแนะนำของสมาชิก ส่วนระยะเวลาในการใช้ 6 เดือนนั้น เรื่องนี้จำเป็น เพราะเราต้องการให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงระยะสั้น เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่

ฉะนั้น ระยะเวลาการใช้เงินเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญอย่างมาก แต่มีบางคนอยากให้ยกเลิกรัศมี 4 กิโลเมตร ขอเรียนว่า เศรษฐกิจภูมิภาคต้องการการกระตุ้น ถ้าคนที่มีถิ่นฐานจังหวัดใด ก็ควรกลับไปใช้ที่นั่น ซึ่งมีเวลา 6 เดือนในการกลับไปเยี่ยมญาติพี่น้อง จะทำให้สถาบันครอบครัวแข็งแกร่งขึ้น ดังนั้น เรื่องรัศมี 4 กิโลเมตรตามบัตรประชาชน ขอคงไว้ ยกเว้นบางจังหวัดหรือบางเขตที่อาจจะต้องขยาย ซึ่งจะขอดูอีกครั้ง

นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า ทั้งนี้เราจะผลักดันการท่องเที่ยวให้มากขึ้น ซึ่งจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว และรัฐบาลมีแผนที่จะทำอะไรหลายอย่าง การยกเว้นการขอวีซ่าเข้ามาของบางประเทศ ซึ่งกำลังดำเนินงาน และการท่องเที่ยวจะกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเพื่อนำเงินเข้ามาในประเทศ ทำให้ภาคท่องเที่ยวเติบโตอีกครั้ง ตั้งเป้าสร้างรายได้ประมาณ 3 ล้านล้านบาทต่อปี

สำหรับเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ที่มีคำถามมาเยอะนั้น เห็นว่าสมควรได้รับการปรับให้เร็วที่สุดและเราตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้เศรษฐกิจโตเฉลี่ยปีละ 5% ตลอด 4 ปี ซึ่งจะทำให้ค่าแรงขึ้นเป็น 600 บาทต่อวัน ปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือน ส่วนค่าพลังงาน เราตระหนักดีว่าเรื่องการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเป็นเรื่องสำคัญ เรามั่นใจว่าเราทำให้ค่าพลังงานต่ำลงอย่างมีนัยยะ ส่วนเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ยังคงมีอยู่

นายกฯกล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ที่ดินต่างๆ ที่จะต้องจัดสรรให้ประชาชนนำไปทำประโยชน์ ทำมาหากินได้นั้น จะต้องดูทั้งที่ดิน ส.ป.ก. ที่ดินของหน่วยงานราชการอื่นๆ ตามรูปแบบที่เหมาะสม เพื่อให้ประชาชนมีที่ดินทำกินอย่างมีศักดิ์ศรี

ส่วนประเด็นที่สมาชิกยกขึ้นมาที่น่าสนใจคือ เรื่องน้ำในอีอีซี ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลอยู่แล้วที่จะต้องดูแลอย่างเหมาะสมทุกมิติ และบริหารจัดการเรื่องน้ำให้มีความเหมาะสม ระหว่างภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม การอุปโภคบริโภค และคงไว้ซึ่งความสมดุลของระบบนิเวศ ส่วนการแก้ไขปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ซึ่งแน่นอนว่าอีก 5 เดือนจะเข้าสู่ช่วงวิกฤตในจังหวัดภาคเหนือ เราจะเร่งทำโดยเร็วเพื่อให้เกิดผลในช่วงต้นปีหน้า โดยจะดำเนินการในส่วนที่ไม่ต้องใช้เงินเยอะ ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็ค่อยๆ พัฒนาไปตามขีดจำกัดของงบประมาณที่ทำได้

“ขอเน้นย้ำอีกครั้งว่า มีคำถามมากมายเกี่ยวกับเรื่องทุจริต รัฐบาลให้ความสำคัญความโปร่งใส เราจะเอาระบบดิจิทัลมาใช้มากขึ้นเพื่อลดการทุจริต ประพฤติมิชอบ ซึ่งรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจะมาตอบคำถามอีกครั้ง” นายเศรษฐา กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน