“หมอวาโย” ข้องใจ 30 บาทจะให้ปชช.กลับไปเสียเงินอีกหรือ ทั้งที่ปัจจุบันมีบัตรทองไม่ต้องเสียสักบาท จี้ “หมอชลน่าน” แจงให้ชัดจะสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนอย่างไร

เมื่อเวลา 20.35 น. วันที่ 11 ก.ย.2566 นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายนโยบายด้านสาธารณสุข ว่า มีคำถามว่านโยบายสาธารณสุขของรัฐบาลจะทำให้ “สาธารณะ สุข” ได้จริงหรือไม่ หรือรัฐไม่ยอมเปลี่ยนแปลงซึ่งประเทศไทยจะเกิดสังคมสูงวัยเยอะขึ้น ผู้ป่วยก็เยอะขึ้นไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน ความดัน ไขมันสูงขึ้นแน่นอน แต่ประชากรวัยทำงานลดลง ซึ่งบ่งบอกถึงบุคลากรทางการแพทย์ลดลงด้วยเช่นกัน

” ดังนั้นสังคมสูงวัยจะสร้างภาระให้สาธารณสุข นั่นคือผู้ป่วยเยอะขึ้นแต่หมอลดลง เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐบาลจะทำอย่างไร จากที่ฟังนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับสาธารณสุขทั้งหมด นโยบายที่ละเอียดที่สุดคือการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค สรุปแล้วประชาชนต้องกลับไปจ่าย 30 บาทหรือไม่ เพราะปัจจุบันเป็นหลักประกันว่าประชาชนไม่ต้องจ่ายเงิน เพราะรักษาได้ทุกโรค ทุกที่อยู่แล้ว ”

ก้าวไกล

นพ.วาโย กล่าวต่อว่า ตนจับประเด็นได้ว่านายกรัฐมนตรีได้พูดออกมาทั้งหมด 6 ประกอบ 1.บริการพื้นฐานใกล้บ้าน ท่านบอกว่าจะให้ผู้ป่วยพบแพทย์ตรวจเลือด รับยาได้ โดยไม่ต้องเดินทางไกลแต่จากช่วงหาเสียงตนเคยไปดีเบตเจอกับคนของพรรค พท.หลายคนบอกว่าจะมีนโยบายเรื่องการนัดคิวกับหมอออนไลน์ ตนไม่แน่ใจว่าทำไมจึงหายไปจากคำแถลง 2. การลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ แต่ไม่ได้บอกว่าจะลดอย่างไร

3.การสร้างเสริมและป้องกันที่นายกฯบอกว่าจะเน้นในเรื่องของวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก วัคซีนตัวนี้มีฉีดอยู่แล้วในประเทศไทย แต่ปัญหาคือมีแบบกระปริบกระปรอย บางปีมี บางปีไม่มี ฉะนั้นเราอยากได้คำมั่นสัญญาว่า จะทำให้วัคซีนตัวนี้มีได้ทุกปีหรือไม่ 4.สถานชีวาภิบาล ประจำท้องถิ่นดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ถือเป็นเรื่องที่ดีแต่เราอยากให้มีทุกอำเภอ 1 อำเภอ 1 สถานชีวาภิบาล แต่ของรัฐบาลระบุว่าประจำท้องถิ่น ไม่ทราบว่าระดับไหนประจำตำบลหรือจังหวัด

นพ.วาโย กล่าวด้วยว่า 5. บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกโรค รักษาทุกที่ ซึ่งปัจจุบันก็เป็นเช่นนี้อยู่แล้วจึงไม่แน่ใจว่า นายกฯเคยไปใช้บัตรทองหรือไม่ และ 6.ข้อมูลทั้งหมดจะถูกเชื่อมต่อบนฐานข้อมูลที่ปลอดภัย ปัญหาคือเราไม่แน่ใจว่าการเชื่อมฐานข้อมูลของท่าน ท่านจะรวมศูนย์หรือจะกระจายออกเพราะหากรวมศูนย์และถูกโจมตีเหมือนรัฐบาลที่แล้ว ที่มีการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลจากแอพพลิเคชั่นการแพทย์สาธารณะ จึงอยากทราบว่ารัฐบาลมีความอ่อนไหวกับเรื่องนี้แค่ไหน และจะป้องกันความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่จะรวมข้อมูลของคนทั้งประเทศอย่างไร

นพ.ชลน่าน

นพ.วาโย กล่าวต่อว่า นโยบายของพรรคเพื่อไทยที่จะยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรคที่ได้หาเสียงเอาไว้ 10 นโยบาย แต่สิ่งที่นายกฯแถลงดูแล้วมี 8 อย่าง สิ่งที่หายไปคือเรื่องของสุขภาพจิตที่จะสามารถให้ประชาชนปรึกษาหารือ หรือตรวจสุขภาพจิตกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาได้ ผ่านทางเทเลเมดิซีนและนโยบายเรื่อง 50 เขต 50 รพ.ที่บอกว่าต้องมีรพ.รัฐขนาด 120 เตียง ประจำทุกเขตซึ่งตนไม่เห็นด้วยและดีแล้วที่ไม่ได้อยู่ในคำแถลง

“นายกฯได้พูดถึงเรื่องการพัฒนาด้านสาธารณสุขเพื่อให้รองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน โรคอุบัติใหม่ สร้างความมั่นคงทางด้านวัคซีน ซึ่งแน่นอนอยู่แล้วว่ารัฐบาลจะต้องพูดเช่นนี้ ไม่มีใครบอกว่ารัฐบาลจะทำลายความมั่นคง ปัญหาคือมันสั้นมาก ผมไม่แน่ใจว่าท้ายที่สุดแล้วมันรัฐบาลจะทำอย่างไร

ขอให้อธิบายรายละเอียดเพิ่มขึ้นอีก เพราะโควิดยังไม่จบ แล้วยังมีโรคฝีดาษลิงที่ทำให้ประชาชนเกิดความกังวล และเรารู้อยู่แล้วว่ารอบของโรคระบาดจะมีทุกกี่ปี ก็ต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์เหล่านั้น ดังนั้น เมื่อนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เข้าไปเป็นรมว.สาธารณสุข ต้องเข้าไปช่วยแก้ไขและอธิบายให้ชัดเจนว่าจะสร้างความมั่นคงทางวัคซีนได้อย่างไร”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน