เวทีถอดบทเรียนเลือกตั้งสส. คนอยากให้ กกต.ลาออกทั้งชุด-ตัดสิทธิเข้าทำงานต่อ ‘ธีรรัตน์’ สส.เพื่อไทย แนะแก้รธน. ทำระบบเลือกตั้งดีขึ้น ชี้บัตร 2 ใบเบอร์ต่างกันทำคนสับสน ‘ปริญญา’ชงใช้ไปรษณีย์เป็นหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า

เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2566 ที่โรงแรมอัศวิน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.) จัดสัมมนานำเสนอ “ผลการประเมินผลและถอดบทเรียนการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2566”

นางสิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การจัดเลือกตั้งที่ผ่านมา มีข้อร้องเรียนจากประชาชนเลือกตั้งล่วงหน้ามากกว่าเลือกตั้งทั่วไป และควรจัดเลือกตั้งล่วงหน้ามากกว่า 1 วัน และควรประหยัดค่าใช้จ่ายบางอย่างลง และมองว่าการมีผู้ตรวจการเลือกตั้ง เป็นเรื่องย้อนแย้งของ กกต. เพราะต้องอบรม ให้งบผู้ตรวจฯ และผู้ตรวจฯ มาตรวจการทำงานของกกต. และไม่มีอำนาจสืบสวน ไม่ใช่คนในพื้นที่

ส่วนสิ่งที่ประชาชนอยากให้ กกต.ปรับปรุงในเรื่องใด ผลปรากฏว่า ไม่อยากให้ กกต.มาจากการแต่งตั้งของ คสช. พร้อมให้ลาออกไปทั้งชุด และตัดสิทธิเข้าทำงานต่อในภายภาคหน้า ขณะเดียวกันอยากให้ปรับปรุงวิธีการขั้นตอนและอุปกรณ์อบรมให้มีประสิทธิภาพ ปรับลดเวลาในการใช้สิทธิลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า และลดช่วงเวลาในการลงคะแนน โดยประเมินไว้ในช่วงเวลา 08.00-14.00 น.

ทั้งนี้ มีการนำเสนอบัตรเลือกตั้งของเยอรมันให้ดู ซึ่งมีการจัดพิมพ์รายชื่อผู้สมัครครบถ้วน พร้อมแนะให้การรับรอง สส. เร็วขึ้น โดยการแก้รัฐธรรมนูญ ปรับลดจาก 60 วัน รวมถึงขยายจำนวนวันเลือกตั้งล่วงหน้า อาจจะเป็นวันเสาร์ 2 เสาร์ เพราะวันเดียวดูบีบบังคับคนเกินไป และเกิดความแออัด

นอกจากนี้ กกต. ต้องสร้างความเชื่อมั่นและความศรัทธากลับคืนสู่ความคาดหวังและความตื่นตัวของประชาชน โดยหมั่นชี้แจงให้สาธารณชนรับทราบ ให้ไว้วางใจว่า กกต. เป็นกลาง โปร่งใส และควรมีโฆษกทำหน้าที่สื่อสาร จะได้ไม่เป็นตำบลกระสุนตก ปลอดจากอิทธิพลของนักการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่น

ด้านน.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวณิช สส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมาพบปัญหาบัตรเลือกตั้ง ซึ่งเป็นปัญหาที่มองได้ง่ายที่สุด เพราะมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่เบอร์คนกับเบอร์พรรคต่างกัน ทำให้คนสับสบในการจดจำหมายเลข จึงควรแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ระบบเลือกตั้งดีขึ้น ส่วนตัวเคยทักท้วงเรื่องการแบ่งเขตที่มีความซ้ำซ้อนกัน โดยเฉพาะการซอยแขวง ทำให้เขตหนึ่งมีผู้สมัคร 2 คน

ขณะที่นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า บัตรเสีย ทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อในการเลือกตั้งที่ผ่านมา มีมากกว่า 1 ล้านใบ ปัญหาเกิดจากบัตรเลือกตั้งทำให้ประชาชนสับสนในการลงคะแนน แม้กกต. ไม่ได้ทำผิดระเบียบ แต่ก็ควรออกแบบให้สะดวกกับประชาชนจะดีกว่า เมื่อเทียบกับปี 2554 ที่บัตรเลือกตั้งเหมือนกันแต่หมายเลขพรรคและผู้สมัครเป็นเบอร์เดียวกัน








Advertisement

นายปริญญา กล่าวว่า ขอตั้งข้อสังเกตพรรคที่ได้หมายเลขตัวเดียว ได้คะแนนบัญชีรายชื่อมากกว่าแบบแบ่งเขต เช่น พรรคใหม่ ที่ได้เบอร์ 1 ได้ ได้คะแนนแบ่งเขต 1,365 คะแนน แต่คะแนนบัญชีรายชื่อได้ 249,731 คะแนน ประชาชนโดยสันนิษฐานว่าเกิดจากประชาชนกาเลขผิด ทำให้บัตรเสียกลายเป็นคะแนนดีของพรรคอื่น

ส่วนการแก้ปัญหาเลือกตั้งล่วงหน้า ทั้งกรณีหย่อนบัตรผิดเขต กรอกรายละเอียดไม่ชัดเจน ผิดพลาด อ่านไม่ออก ซึ่งนอกจากบัตรจะโหลแล้ว ซองยังโหลอีก ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหาคือ ให้ไปรษณีย์ทุกที่กลายเป็นหน่วยเลือกตั้ง เพราะไปรษณีย์มีทั้งสถานที่ และบุคลากร ซึ่งพร้อมจัดส่งบัตรเลือกตั้งได้เลย

ส่วนเรื่องผู้ตรวจการเลือกตั้งนั้นตนอยากให้เลิกไปเลย แล้วเปลี่ยนมาเป็น กกต.จังหวัด แล้วกกต.จังหวัดจะมีบทบาทมากขึ้น แล้วให้เลิกระบบราชการในผู้ตรวจการเลือกตั้งให้เป็นภาคประชาชนมากขึ้นแบบนี้จะดี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน