ภูมิธรรม ทาบ ‘เอกชัย-สิริพรรณ-พงศ์เทพ-นิกร’ ร่วมกก.ศึกษาประชามติฯ แก้ รธน. เปิดช่อง ก้าวไกล ร่วมทีม รับอยากคุย‘วิษณุ’ ฟังความเห็นทำงาน เล็งลดงบทำประชามติ เหตุทำหลายครั้งงบสูงแตะหลักหมื่นล้าน

เมื่อวันที่ 22 ก.ย.2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ถึงการเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า คาดว่าต้องใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ที่จะพูดคุยทุกอย่างให้เรียบร้อย โดยตนติดต่อทาบทามบุคคลจากภาคส่วนต่างๆ อาทิ นายเอกชัย ไชยนุวัฒน์ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม น.ส.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่มีความสนใจ

โดยต้องคุยในรายละเอียดเพื่อให้ทุกคนสบายใจว่าจะมีบทบาทและเข้ามาทำให้เกิดรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นอย่างแท้จริง นอกจากนั้นจะทาบทามนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย แม้จะไม่ได้อยู่กับพรรคเพื่อไทย แต่เรายังขอคำปรึกษาในแง่กฎหมายหลายครั้งในฐานะอดีตผู้พิพากษาที่มีความเชี่ยวชาญ ขณะที่นายนิกร จำนง ประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคชาติไทยพัฒนา ตอบรับเข้าร่วม ซึ่งน่ายินดีเพราะเกี่ยวข้องกับรัฐธรรรมนูญ และยืนยันในจุดยืนประชาธิปไตยมาตลอด

ทั้งนี้ จะเร่งติดต่อบุคคลให้เร็วที่สุด เมื่อนายกฯ เดินทางกลับจะเสนอรายชื่อเพื่อพิจารณา หากไม่ทันวันที่ 26 ก.ย. ในสัปดาห์ถัดไปวันที่ 3 ต.ค. คาดว่าจะมีรายชื่อครบถ้วน และในการประชุมนัดแรกจะกำหนดไทม์ไลน์การทำงาน รวมถึงวัตถุประสงค์ ขอบเขต เป้าหมาย ขั้นตอนการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

“ผมหวังว่าเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น สมมติว่ารัฐบาลครบ 4 ปี ซึ่งผมอยากเห็นการเลือกตั้งครั้งหน้ามีรัฐธรรมนูญใหม่ และมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญใหม่ให้สำเร็จเพื่อใช้เลือกตั้ง” นายภูมิธรรม กล่าว

ผู้สื่อถามว่าจะเชิญคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 นักนิติศาสตร์ชื่อดัง เพิ่มเติมหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า เรายินดีต้อนรับทุกคน ให้มีส่วนร่วม ต้องคุยรายละเอียดถึงกรอบแนวทาง

เมื่อถามว่าจะทาบทามนายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ยังไม่มีโอกาสได้คุยกับนายวิษณุ แต่ถ้ามีโอกาสก็อยากคุยเพราะท่านเป็นผู้รู้เชี่ยวชาญในกฎหมาย และยังมีอีกหลายคนเคยมีบทบาทที่เราจะได้นำความคิดเห็น หรือหากยังไม่มีโอกาสคุย เวลามีประชุมก็ปรึกษาหารือกันได้

เมื่อถามว่าได้ทาบทามตัวแทนพรรคก้าวไกลเข้าร่วมคณะกรรมการชุดนี้หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า จะเชิญพรรคการเมืองมาร่วมให้มากที่สุด แต่เรามีข้อจำกัดเรื่องจำนวนคน เมื่อเกิน 30 คน ใหญ่มากเกินไปก็ทำงานลำบาก แต่ถ้าไม่ได้เป็นคณะกรรมการก็เข้ามามีส่วนร่วม พบพูดคุยแสดงความคิดเห็น








Advertisement

เมื่อถามถึงงบประมาณจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับและทำประชามติ รวมแล้วประมาณเท่าใด นายภูมิธรรม กล่าวว่า การทำประชามติ ตีความตามศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ประมาณ 3-4 ครั้ง โดยจะใช้งบประมาณครั้งละ 3-4 พันล้านบาท แต่ตนคิดว่าอยู่ในแนวทางที่พูดคุยกันให้ชัดเจน ต้องอาศัยความคิดเห็นจากคณะกรรมการชุดดังกล่าว

เราจะทำประชามติน้อยครั้งที่สุด อันไหนควบรวมได้ก็จะทำ โดยยึดแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยไว้ และหากประหยัดงบได้มากที่สุดก็เป็นเรื่องดี เพราะหากทำครบ 3-4 ครั้งตามที่ศาลวินิจฉัยจะใช้งบสูงถึงหมื่นล้าน

เมื่อถามมองเรื่องมาตรฐานจริยธรรมที่ลงโทษ น.ส.พรรณิการ์ วานิช ผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล ด้วยการตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตอย่างไร ขณะที่พรรคก้าวไกลระบุปัญหาอยู่ที่รัฐธรรมนูญ นายภูมิธรรม กล่าวว่า อะไรที่เป็นประชาธิปไตยเราทำได้หมด เว้นการแก้ไขในหมวด 1 และ 2 ในแต่ละเรื่องที่เกิดขึ้นเราต้องดูว่าเจตจำนงที่จะควบคุมดูแลนักการเมือง และผู้เกี่ยวข้อง ต้องถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ต้องดูว่าไปละเมิดและมีความเที่ยงตรงได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งต้องดูในรายละเอียด

ส่วนที่มีการวิจารณ์ว่ามาตรฐานจริยธรรมที่ออกโดยศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ มาบังคับใช้กับ สส.อาจไม่ถูกหลัก หรือกรณีศาลตัดสินว่าไม่ผิด แต่กลับผิดหลักจริยธรรมไปก่อนหน้านี้ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ต้องดูเป็นรายกรณี แต่การอิงศาลรัฐธรรมนูญในเบื้องต้นก็ถูกต้องแล้ว แม้จะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม แต่อะไรที่เป็นปัญหามากเกินไป คนในกลุ่มวิชาชีพที่เราเชิญมาหรือรับฟังมาก็จะเป็นคนให้ความเห็นเองว่าเรื่องไหนโอเค หรือเรื่องไหนต้องปรับปรุงแก้ไขอะไร

หากระดมความคิดเห็นได้กว้างขึ้นรัฐธรรมนูญก็จะไม่มีปัญหา เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และทุกฝ่ายต้องยอมรับและผ่านให้ได้ และถ้ารัฐธรรมนูญผ่านได้ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยในลำดับใด ก็จะทำให้โอกาสและบรรยากาศของประเทศ พัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน