ริยธรรมนักการเมืองควรให้ใครตัดสิน ศาล องค์กรอิสระ หรือสาธารณชน

นี่เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันกว้างขวาง หลังศาลห้าม “ช่อ พรรณิการ์” สมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต

จริยธรรมคืออะไร สังคมไทยใครพูดถึงคุณธรรมจริยธรรมเป็นซาบซึ้งน้ำตาไหล แต่ถามจริงคุณเอาอะไรมาวัด จริยธรรมไม่ได้จำกัดแค่ข้อกฎหมายหรือศีลห้า มันกว้างขวางกว่า มันรวมถึงความเสื่อมเสียความไม่เหมาะสม ที่จะทำหน้าที่หรือดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่พนักงานขายไปจนนักการเมือง

จริยธรรมจึงไม่สามารถจำกัดและตัดสินด้วยกฎหมาย โดยผู้ใช้กฎหมาย ไม่เหมือนการทำผิดอาญา ซึ่งมีบทบัญญัติเคร่งครัด ตัดสินจากการพิสูจน์พยานหลักฐาน ไม่ได้ใช้ความเห็นหรือทัศนคติ

ขณะที่ความเหมาะสมไม่เหมาะสมเป็นเรื่องทัศนคติของสังคม ของสาธารณชน ซึ่งเห็นต่างได้หลากหลาย

จริยธรรมนักการเมืองซึ่งมาจากการเลือกตั้ง อยู่บนความนิยมของประชาชน ถ้าไม่ใช่เรื่องความผิดตามกฎหมาย จึงไม่สามารถตัดสินโดยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่ต้องตัดสินโดยกระบวนการทางสังคม เช่น ถ้าสาธารณชนเห็นว่าพฤติกรรม น่าเกลียด ไม่เหมาะสม แล้วยังดันทุรัง ก็จะโดนบอยคอต ทัวร์ลง พรรคต้นสังกัดกลัวเสื่อมต้องจัดการ

การเมืองประชาธิปไตยทั่วโลกก็เป็นเช่นนี้ สังคมเข้มแข็งสร้างมารยาทประเพณี รัฐมนตรี สส. เสื่อมเสียต้องลาออกหรือพรรคบีบออก

แต่สังคมไทยไม่อดทน ไม่ส่งเสริมสังคมประชาธิปไตยให้ เข้มแข็ง มองเห็นนักการเมืองญี่ปุ่นยุโรปถูกกดดันให้ลาออก ก็บอกว่านักการเมืองไทยหน้าด้าน ต้องใช้อำนาจจัดการมัน

รัฐธรรมนูญ 2540 ก็ไปยืมวิธี Impeachment ประธานาธิบดีอเมริกามาใช้ ให้วุฒิสภาลงมติ 3 ใน 5 ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งได้ ซึ่งทีแรกพอฟังได้เพราะวุฒิสภามาจากเลือกตั้ง แต่เหนือชาติใดในโลกคือ ห้ามดำรงตำแหน่ง 5 ปี

กลไกนี้อยู่ต่อมาในรัฐธรรมนูญ 2550 วุฒิสภาเปลี่ยนเป็นสรรหากึ่งหนึ่ง แต่ก็ไม่เคยถอดถอนใครได้ เพิ่งทำสำเร็จครั้งแรกหลังรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ 2557 แต่อ้างว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญยังอยู่ ให้ สนช.รัฐประหารตั้งทำหน้าที่แทน สว. แล้วก็ยกมือถอดถอนยิ่งลักษณ์กันพรึ่บ สำเร็จเป็นรายแรก

โดนรัฐประหารแล้วยังโดนถอดถอน ไม่เคยมีที่ไหนในโลก มีแต่ประเทศที่ใช้กฎหมายแบบศรีธนญชัย

ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 คงขัดใจ ถอดถอนใครไม่ได้สักคน ก็เลยกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเขียนมาตรฐานทางจริยธรรม โดยเอามาบังคับใช้กับนักการเมืองด้วย

ซึ่งตลกตั้งแต่เริ่ม เพราะจริยธรรมของศาล องค์กรอิสระ กับนักการเมืองไม่เหมือนกัน เช่น นักการเมืองต้องพบปะคนกว้างขวาง เจรจากลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ แต่ศาลต้องระวังตนในการคบค้าสมาคม

ที่สำคัญคือ มาตรฐานทางจริยธรรม เป็นการยัดเรื่องที่กว้างกว่ากฎหมายมาอยู่ในกฎหมายเป็นข้อๆ จากนั้นก็ให้ ป.ป.ช. เป็นผู้ไต่สวน ทำสำนวน เสมือนมีกระบวนการทางกฎหมาย ทั้งที่เป็นเรื่องความเห็น แล้วส่งให้ศาลฎีกาตัดสิน

ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องซึ่งควรใช้ศาลตัดสิน ศาลควรตัดสินเฉพาะเรื่องผิดหรือไม่ผิดกฎหมาย ผู้พิพากษาตุลาการฝึกฝนเชี่ยวชาญในการวินิจฉัยพยานหลักฐาน แล้วใช้เหตุผลทางกฎหมายอธิบายให้สังคมยอมรับคำตัดสิน

แต่เรื่องความประพฤติ ความเหมาะสมไม่เหมาะสม เป็นความเห็นซึ่งสังคมเห็นต่างได้หลากหลาย ศาลไม่สามารถทำให้คนส่วนใหญ่เห็นด้วยเสมอไป

ยิ่งไปกว่านั้น คำว่า “จริยธรรม” ยังเป็นอันตราย เพราะทำให้ฟังเหมือนผู้พิพากษาตุลาการต้องมีศีลธรรมจรรยาสูงส่งกว่านักการเมืองหรือประชาชนทั่วไป ทั้งที่ไม่จำเป็น ผู้พิพากษาสามารถทำตนแบบคนธรรมดา แค่มีข้อพึงระวังบางอย่าง และต้องเที่ยงตรงทางกฎหมาย

ว่าโดยหลักการ บทบัญญัติส่วนนี้จึงควรโละทิ้งไป ถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรมควรเสนอเองด้วยซ้ำไปว่า อย่าเอาศาลเข้าไปตัดสินเรื่องที่กว้างกว่ากฎหมายอีกเลย

สังคมไทยก็ควรตระหนักเช่นกัน อย่าดีใจเมื่อนักการเมืองที่ตัวเองไม่ชอบถูกตัดสิทธิ อย่างปารีณา คนไม่ชอบที่แสบซ่าวาจาระราน ฯลฯ แต่ก็ไม่ควรถูกตัดสิทธิตลอดชีวิตฐานเสื่อมเสีย ทั้งที่คดีอาญาฟาร์มไก่รุกป่ายังไม่ถึงที่สุด

หรือสิระ เจนจาคะ บางคนร้องยี้แล้วดีใจ ทั้งที่โดนคดียี่สิบกว่าปีที่แล้ว ซึ่งสำเนาคำพิพากษาก็ค้นไม่เจอ หรือ สส. กปปส. ศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกไม่ได้ประกัน แค่นั้นก็ตกเก้าอี้ สส.

แนวคิด “การเมืองคนดีย์” ใช้อำนาจศาลองค์กรอิสระจัดการนักการเมืองเลว มีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ให้อำนาจตัดตอนกระบวนการยุติธรรมแก่ กกต. ป.ป.ช. หลังรัฐประหาร 2549, 2557 รัฐธรรมนูญ 2550, 2560 ก็กลายเป็นเครื่องมือชนชั้นนำอนุรักษนิยม เพิ่มอำนาจยุบพรรคตัดสิทธิล้มเลือกตั้ง

ถ้าจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ต้องยุบลดเลิกโละอำนาจองค์กรอิสระ ตระหนักว่าไม่มีอีกแล้วองค์กรเทวดา เปาบุ้นจิ้นลอยลงมาแบบที่คิดกันตอนร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ใครมีอำนาจก็ใช้เป็นเครื่องมือทั้งสิ้น ยิ่งอยู่นานก็ยิ่งกลายเป็นระบบราชการไร้ประสิทธิภาพ เช่น กกต.จัดเลือกตั้ง 2 ครั้งจับซื้อเสียงไม่ได้เลย จับใบส้มก็ถูกฟ้องกลับแพ้คดี

ที่สำคัญ การเมืองคนดีย์มันกำลังกลับตาลปัตร อุดมการณ์อนุรักษ์เสื่อมลงทุกองคาพยพ ที่ด่านักการเมืองเลวก็กลับมาสมคบกัน ขัดขวางประชาธิปไตยประชาชน

จริยธรรมอนุรักษนิยมจึงล้มละลาย ไม่เป็นที่ยอมรับ อีกต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน