ก้าวไกล ย้ำจุดยืน จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยสสร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง ชี้กก.ศึกษาประชามติ แค่ประวิงเวลา ขอรัฐบาลถอดบทเรียน 6 ตุลาฯ อย่ากีดกันความคิดใดออกจากพื้นที่ปลอดภัย

วันที่ 6 ต.ค. 2566 ที่ลานประติมานุสรณ์ 6 ตุลาฯ 2519 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ตอบกระทู้ถามสดกรณีการตั้งคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เมื่อวานนี้ (5ต.ค.) โดยระบุจะทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้ 2 ข้อที่พรรคก้าวไกลเสนอว่า คำตอบที่ได้ ตนกลัวว่าสิ่งที่ทุกฝ่ายได้ศึกษามาตลอดหลายปี จนมีหลักการตรงกันว่า ต้องมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จะถูกย้อนหลักการกลับ รวมถึงอาจเป็นการประวิงเวลา ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่สังคมไทยต้องการ

ด้านนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า จากคำตอบของนายภูมิธรรม ยังไม่มีผลให้ สส.ส่วนใหญ่ในพรรค มีความเห็นแตกต่างไปจากมติเดิม ที่ตัดสินใจไม่เข้าร่วมในคณะกรรมการดังกล่าว พรรคก้าวไกลมีจุดยืนที่ชัดเจน ต้องการให้เกิดการทำประชามติ จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจาก สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง แม้พรรคก้าวไกลจะไม่ได้ร่วมเป็นกรรมการ ก็ยังคงยินดีที่จะเสนอความคิดเห็นต่อคณะกรรมการในทางต่างๆ ที่ทำได้

ทั้งนี้ ตนเห็นว่าสิ่งที่พึงระวังสำหรับรัฐบาล คือท่ามกลางความขัดแย้งแตกต่างทางความคิดหลายขั้ว ถ้าจัดการไม่ดี อาจมีแนวโน้มนำไปสู่ความรุนแรงได้ในอนาคต เมื่อรัฐบาลมีอำนาจแล้วต้องใช้อย่างระมัดระวัง ควรเปิดพื้นที่ให้กับทุกฝ่ายได้มีพื้นที่ปลอดภัยในการเอาความคิดเห็นมาเสนอ สุดท้ายเสียงส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้เห็นด้วยทุกฝ่าย แต่ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมจัดระบบทางการเมือง โดยไม่มีใครถูกกีดกัน

ข้อเสนอของพรรคก้าวไกล อยู่บนพื้นฐานวิธีคิดว่า การออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ จะต้องไม่กีดกันกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออกไป ต้องมีพื้นที่ปลอดภัยในทางการเมืองให้ทุกความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เสียงส่วนใหญ่ได้ข้อสรุปอย่างไร ต้องเห็นตามนั้น รัฐบาลไม่ควรมีท่าทีว่าใครที่ต้องการเสนอความคิดเห็นหรือจุดยืนทางการเมืองของตัวเองโดยยึดในหลักการที่ถูกต้อง คือ คนที่เป็นชนวนความขัดแย้งหรือตัวปัญหา แบบที่มีท่าทีออกมาเมื่อวานนี้

“ถ้าพูดตามรัฐบาล ว่าใครก็ตามที่ยึดมั่นในหลักการมากเกินไป ระวังจะเป็นชนวนความขัดแย้ง เป็นเรื่องน่าเสียใจมาก เหมือนพูดว่าเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2519 นักศึกษาที่ยืนยันหลักการที่ถูกต้องคือคนที่เป็นชนวนปัญหาใช่หรือไม่ กระบวนการที่เปิดพื้นที่ให้ทุกความคิดเห็นต่างหากที่สำคัญ แม้ทุกคนจะไม่ได้ทุกอย่างที่ต้องการ อย่าผลักให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มีพื้นที่ทางการเมือง อย่าผลักให้คนที่เสนอในหลักการที่ถูกต้องกลายเป็นคนที่เป็นชนวนของความขัดแย้ง” นายชัยธวัชกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน