คลังไม่ถอยแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่น เล็งขยายพื้นที่ใช้ได้ทั้งจังหวัด ชี้ร้อยทั้งร้อยชาวบ้านรอใช้ หลังนักวิชาการรุมสวด ย้ำดูแลวินัยการคลังเต็มสูบ หวังดันเศรษฐกิจโต 5% เคาะไทม์ไลน์โครงการจบในต.ค.

วันที่ 9 ต.ค.66 ที่กระทรวงการคลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง แถลงข่าวว่า กระทรวงการคลัง มุ่งมั่นเร่งสร้างความมั่นใจเดินหน้าในการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต และรู้สึกดีที่มีการถกเถียงกันในสังคมวงกว้าง ทั้งภาควิชาการ ภาคเอกชน และประชาชน ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ไม่ได้เห็นมานาน ในการวิพากษ์วิจารณ์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่ห่างหายเป็น 10 ปี ในรัฐบาลก่อนหน้า

ขณะนี้สภาวะเศรษฐกิจประเทศไทยยังไม่เติบโตเต็มศักยภาพ และเติบโตช้ากว่าภูมิภาค ทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนยังเปราะบาง มาตรการดิจิทัลวอลเล็ต จึงเป็นการจุดชนวน กระตุกเศรษฐกิจให้เติบโตอีกครั้งหนึ่ง เป็นการใส่เงินให้ทั่วถึง กระจายทุกพื้นที่ สร้างโอกาสการจ้างงาน สร้างการลงทุน เพิ่มการผลิต และเชื่อมั่นกลไกนโยบาย จะประสบผลสำเร็จ

“รัฐจะได้รับเงินคืนมาในรูปแบบภาษี และเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล และ e-Gorvernment ในอนาคต เราเดินหน้าทำตามสัญญาที่ให้กับประชาชน และ รัฐสภาที่ได้แถลงไว้ โดยมุ่งเป้าเศรษฐกิจเติบโต 5% ในระยะ 3-4 ปีหน้า”

รมช.คลัง กล่าวว่า มีคำถามจากประชาชนหลายข้อ ว่าทำไมต้องมีโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เพราะไทยมีปัญหาสะสม คนไทยยากลำบาก ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากการไปถามประชาชน ร้อยทั้งร้อย ในต่างจังหวัด รอมาตรการนี้อย่างมีความหวัง แต่ก็รับฟังข้อเสนอแนะให้รอบด้าน ยืนยันว่าเสียงสะท้อนจากการเลือกตั้ง ชัดเจนว่าต้องเดินหน้าโครงการนี้ให้สำเร็จให้ได้

“10 ปีที่ผ่านมา หนี้สาธารณะ จาก 40% ต่อจีดีพี เป็น 60% เป็นสถานการณ์เปราะบาง โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ขนาดนี้ จึงเป็นการสตาร์ตชีวิตของประชาชน”

รมช.คลัง กล่าวว่า มีการพูดว่ามาตรการดังกล่าว เป็นคริปโตเคอเรนซี่จะมีการซื้อตุนไว้ ขอชี้แจงว่าไม่ใช่การเสกเงินขึ้นมาใหม่ เงินทุกบาทยังเป็นไปตามกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ใช่พิมพ์เงินขึ้นมาใหม่ หรือเขียนโปรแกรมมาใหม่ ไม่มีปรับมูลค่า แบ็คอัพบาทต่อบาท แต่ใช้ในบาทดิจิทัล ที่ถูกกำหนดเงื่อนไขการใช้ ให้มีมูลค่าเศรษฐกิจมากที่สุด เช่น ใช้ภายในระยะเวลา 6 เดือน กำหนดระยะทาง กำหนดประเภทห้ามใช้ จึงตอบได้ว่านโยบายนี้มีประสิทธิภาพกว่านโยบายอื่นๆ ที่ผ่านมา ที่ไม่สามารถนำไปสู่การออม นำไปใช้หนี้สิน แต่ กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย

สำหรับเงื่อนไขที่กำหนดรัศมีที่ใช้ใน 4 กิโลเมตร เป็นอำนาจคณะอนุกรรมการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวอีกครั้ง และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการขยายกรอบให้เกิดความคล่องตัว อาจเป็นตำบล อำเภอ หรือจังหวัด โดยจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือนต.ค.นี้

ส่วนประเด็นแหล่งที่มาของเม็ดเงิน ต้องใช้เวลาในการพิจารณา แต่รัฐบาลจะยึดมั่นในวินัยการเงินการคลัง โดยยึดมั่นมาตลอด ซึ่งจากประสบการณ์พรรคเพื่อไทย เห็นชัดเจนว่าสามารถชำระหนี้ไอเอ็มเอฟได้ก่อนเวลา ยึดมั่นสมดุลการคลัง และมาตรการนี้จะใช้แหล่งงบประมาณเป็นส่วนใหญ่ ได้ข้อสรุปในสิ้นเดือน ใช้ความยึดมั่นในกรอบการบริหารให้ดีที่สุด

“ถ้ายึดกรอบเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่ยึด 2% ต่อปีเหมือนที่ผ่านมา ประชาชนก็ไม่สามารถหลุดจากกับดักได้ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ในการหาจุดสมดุล ในการเติบโตที่เหมาะสม จึงมีความจำเป็นต้องเดินหน้า”

รมช.คลัง ยืนยันว่า จะฟังเสียงทุกภาคส่วน ทั้งภาควิชาการที่สนับสนุน หรือคัดค้าน ภาคเอกชนที่รอคอยด้วยความหวัง ก็จะนำความเห็นทั้งหมดไปหารือในชั้นคณะอนุกรรมการ ฟังความเห็น ประชาสัมพันธ์ทุกอย่างภายในสิ้นเดือนต.ค.

ทั้งนี้ ในวันที่ 12 ต.ค.ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนครั้งแรก มาหารือความจำเป็น ประโยชน์ วัตถุประสงค์ โครงการ และมอบหมายคณะอนุกรรมการ ไปหารือประเด็นต่างๆ จากนั้น 19 ต.ค. ประชุมคณะอนุกรรมการเป็นครั้งที่ 2 หารือ ก่อนเข้าชุดใหญ่ และวันที่ 24 ต.ค.เสนอเข้าคณะกรรมการใหญ่ มีข้อเสนอหรือสั่งการอย่างไร เป็นการตัดสินใจชุดใหญ่ต่อไป

รวมโหวตโพลมติชนxเดลินิวส์ คลิก > https://poll.matichon.co.th/srettha-government-2023/

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน