ไอติม ยันไม่มีความจำเป็น วิปรัฐบาล จ่อเลื่อนวาระอื่นแทรกคิวญัตติประชามติจัดทำ รธน.ใหม่ มองไม่ต้องกังวลซ้ำซ้อน เหตุเป็นกลไกคู่ขนาน ชี้ประชาชนจับตาดูอยู่สมเหตุสมผลหรือไม่

เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2566 ที่พรรคก้าวไกล นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงวิปรัฐบาลมีมติจะเลื่อนนำระเบียบวาระอื่นมาแทรกคิวญัตติเดิมที่เรื่องแรกจะเป็นญัตติพิจารณาประชามติเพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่พรรคก้าวไกลเป็นผู้เสนอว่า พรรคก้าวไกลเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องเลื่อนวาระอื่นเข้ามาแทรก สามารถดำเนินการตามระเบียบวาระเดิมได้

ส่วนที่วิปรัฐบาลกังวลว่า ญัตติดังกล่าวจะซ้ำซ้อนกับการทำงานของรัฐบาล ตนไม่ได้มองอย่างนั้น เนื่องจาก พ.ร.บ.ประชามติ ปี 2564 ระบุว่าการเสนอทำประชามติ เสนอได้ผ่าน 3 กลไกคู่ขนานกัน คือ รัฐบาลเป็นผู้ริเริ่มการดำเนินการ หรือให้ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อ หรือ สส. เป็นผู้เสนอ โดยผ่านความเห็นชอบจากทั้ง 2 สภา

นายพริษฐ์ กล่าวว่า ถ้าดำเนินการตามระเบียบวาระเดิม และเปิดให้อภิปรายในวันที่ 25 ต.ค.ได้ ไม่ว่ารัฐบาลจะมีจุดยืนอย่างไร ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลทั้งนั้น โดยความเป็นไปได้แรกคือ หากรัฐบาลเห็นตรงกับพรรคก้าวไกลว่าควรเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญด้วยประชามติที่มีคำถามตรงไปตรงมา ก็ใช้เวลาอภิปรายไม่นาน แล้วลงมติ เพราะญัตติดังกล่าว เคยถูกเสนอมาแล้วเมื่อสมัยประชุมที่ผ่านมา และสภาลงมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์

ความเป็นไปได้ที่สอง คือ รัฐบาลอาจยังไม่ชัดเจนเกี่ยวกับคำถามประชามติและวิธีดำเนินการ ดังนั้น การอภิปรายในสภา น่าจะเป็นการรวบรวมความเห็นที่ดี แม้คณะกรรมการศึกษาการจัดทำประชามติของรัฐบาลมี 30 กว่าคน แต่พื้นที่สภาก็มีประโยชน์ต่อรัฐบาลในการรับฟังความเห็นของผู้ได้รับการเลือกจากประชาชนอย่างแท้จริง

ความเป็นไปได้ที่ 3 คือ รัฐบาลอาจมีจุดยืนเรื่องการทำประชามติที่แตกต่างจากพรรคก้าวไกล พรรคก้าวไกลในฐานะฝ่ายค้านก็เหลือเพียงกลไกสภาเพียงช่องทางเดียวเพื่อโน้มน้าวเพื่อนสมาชิกในฝ่ายนิติบัญญัติ

สำหรับทางออกของเรื่องนี้ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ภาระการพิสูจน์จะอยู่ที่ สส.ฝั่งรัฐบาล เพราะอย่างแรก สส.ของรัฐบาลก็ต้องเป็นผู้เสนอให้เลื่อนวาระอื่นเข้ามาแทรกคิว ซึ่งสส.ฝ่ายรัฐบาล จะต้องเป็นผู้พิสูจน์ว่ามีเหตุผลความจำเป็นอย่างไรที่ต้องเลื่อนระเบียบวาระ ส่วนเจตนาในการเลื่อนของฝ่ายรัฐบาลเป็นอย่างไรนั้น ต้องถามฝ่ายรัฐบาล แต่พรรคก้าวไกลยืนยันว่าไม่ซ้ำซ้อน

นายพริษฐ์ กล่าวว่า คงต้องพยายามหารือกันระหว่างวิปทั้ง 2 ฝ่าย ตามระบบรัฐสภา ถ้าจะลงมติ สส.ฝ่ายรัฐบาลก็เป็นเสียงข้างมาก แต่นอกจากเรื่องตัวเลขแล้ว ประชาชนก็จับตาดูอยู่ว่าผลจะเป็นเช่นไร และมีความสมเหตุสมผลหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน