ยุบ-ไม่ยุบ กอ.รมน. กลายเป็นดราม่า มากกว่าถกเนื้อหาสมควรยุบหรือไม่ แต่ก็มีข้อดีทำให้สาธารณชนสนใจ กอ.รมน.มีไว้ทำไม รัฐบาลเพื่อไทยปกป้องไว้ทำไม

อันที่จริง “ยุบ กอ.รมน.” เป็นการเสนอกฎหมายปกติ หนึ่งในชุดกฎหมายเปลี่ยนประเทศของพรรคก้าวไกล เสนอพร้อมกฎหมายยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร แก้ พ.ร.บ.ระเบียบราชการกลาโหม แก้ระเบียบการคลังกลาโหม ฯลฯ

แต่ที่มันกลายเป็นดราม่าคือ หลังจากเว็บไซต์สภาผู้แทนราษฎรเปิดรับฟังความคิดเห็น ตามมาตรา 77 รัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค. ตอนแรกๆ ก็ไม่มีคนสนใจ แต่ไม่กี่วันที่ผ่านมา ร่าง พ.ร.บ.ยุบ กอ.รมน. มีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นถล่มทลาย 2.5 แสนคน ขณะที่ร่างกฎหมายทั่วไปมีแค่ 400-500 คน

ทำไมเป็นอย่างนั้น มันเริ่มจากเพจอนุรักษนิยม เรียกร้องให้คนฝ่ายตัวเอง #saveกอ.รมน. เข้าไปโหวตต้านร่างกฎหมาย “พรรคส้ม” ท่วมท้น พอ “พรรคส้ม” ไหวตัว ก็เรียกร้องคนเห็นด้วยเข้าไปโหวตสู้

ตลกร้ายคือ เว็บไซต์รัฐสภาไม่ห้ามใช้ IP เดียวกันโหวตซ้ำๆ แม้ให้บอกเลขบัตรประชาชน แต่ก็ไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลอ้างอิง ฝ่ายไหนมี IO เป็นร้อยเป็นพัน กดโหวตซ้ำๆ ตั้งแต่เช้าจนเย็น จนหมดเวลาราชการ ก็ย่อมได้

ผลโหวตจึงกลายเป็น 71% ไม่เห็นด้วย สื่ออนุรักษ์เย้ยหยัน IO ก้าวไกลไม่ทำงาน ถามจริง ฝ่ายไหนกันแน่โดนจับได้ว่าใช้ IO จนโดนเฟซบุ๊กลบบัญชี

รมว.กลาโหมสุทิน แก้ขวย ไฟเขียวให้กองทัพทำ IO อย่างสร้างสรรค์ ทำให้เกิดภาพพจน์ที่ดีต่อประเทศและกองทัพ อย่าใช้ทำร้ายด้อยค่าขยายความขัดแย้ง

นั่นแปลว่า สุทินรู้ดี กองทัพใช้ IO ทำไมจะไม่รู้ ก็ต่อสู้มาด้วยกันสมัยเป็นฝ่ายค้าน

“ไม่ได้เป็นรัฐบาลก็พูดได้ทุกอย่าง” อันนี้ใช่เลย เพราะตอนไม่ได้เป็นรัฐบาล เพื่อไทยก็ต้องการลดบทบาทลดอำนาจ กอ.รมน. “เมื่อมาเป็นแล้ว ก็ต้องดูความเป็นไปได้อีกทีว่าทำยากแค่ไหน” อันนี้ก็ใช่ แต่ถ้าเป็นรัฐบาลแล้วทำอะไรไม่ได้เลย จะเป็นไปทำไม

ที่จริงเข้าใจสุทินและพรรคเพื่อไทยน่าจะยังอยากลดอำนาจบทบาท กอ.รมน. “รัฐซ้อนรัฐ” โดยเฉพาะในชายแดนใต้ ซึ่งพรรคประชาชาติก็ถูกมวลชนกดดัน แต่เมื่อเป็นรัฐบาลข้ามขั้ว เพื่อไทยคงคิดใช้อำนาจนายกฯ ในฐานะ ผอ.รมน. เจรจาต่อรอง ทำทีละขั้น มากกว่า “หักด้ามพร้าด้วยเข่า”

ดราม่าชวนหัวยังได้แก่การที่ประธานวิปรัฐบาล อดิศร เพียงเกษ ยังหลงยุค ลืมไปว่าเพื่อไทยเป็นรัฐบาล แสดงความเห็นก่อนนายกฯ หนุนยุบ กอ.รมน. คืนเสรีภาพประชาชน เป็นองค์กรรัฐซ้อนรัฐ หมดยุคสงครามเย็นทำไมยังมีทหารเป็นรองผู้ว่าฯ ฝ่ายความมั่นคง

นั่นแหละคือจุดยืนเพื่อไทยสมัยยังไม่เป็นรัฐบาลข้ามขั้ว

“ยุบ กอ.รมน.” นั้นคือ ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 2551 ซึ่งเป็นผลงานรัฐประหาร 2549 โค่นทักษิณ-ไทยรักไทย

กฎหมายฉบับนี้เป็น 1 ในสิบกว่าฉบับที่ สนช.ทิ้งทวนพิจารณาด่วนวันเดียว ซึ่ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ระบุไว้ว่า ผ่านวาระ 2-3 โดยไม่ครบองค์ประชุมด้วยซ้ำ แต่ตอนนั้นไม่มีใครร้องศาลรัฐธรรมนูญ

กอ.รมน.มีมาก่อนหน้านั้นตั้งแต่สมัยสงครามเย็น สู้รบกับพรรคคอมมิวนิสต์ ใช้การจัดตั้งมวลชน เช่น ทสปช. อบรมปลูกฝังความคิด แต่หมดพรรคคอมมิวนิสต์แล้วไม่ยอมยุบ คงอยู่ต่อโดยมีคำสั่งสำนักนายกฯ รองรับ

รัฐประหาร 2549 ใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายใน สถาปนาอำนาจ กอ.รมน. ให้มีกฎหมายรองรับ แล้วต่อมาเมื่อปี 2560 ประยุทธ์ก็ใช้ ม.44 แก้กฎหมายขยายอำนาจ กอ.รมน.เข้าควบคุมงานความมั่นคงของประเทศทั้งระบบ รวมทั้งให้กำหนดเองว่าสถานการณ์ใดอาจเป็นภัยความมั่นคง

นี่คือการติดดาบ 2 ครั้ง หลังรัฐประหารโค่นทักษิณ-ยิ่งลักษณ์

ภารกิจ กอ.รมน. จึงเป็นการใช้ “ทหารนำการเมือง” มุ่งจัดตั้งมวลชน อบรมปลูกฝัง ต่อต้านความคิดต่าง เหมือนสมัยสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์

แต่พรรคคอมมิวนิสต์ไม่มีแล้วก็หันมาสู้ความคิดประชาธิปไตย ใครเห็นต่างจากอุดมการณ์อนุรักษนิยม ของรัฐ ของกองทัพ ก็ถือเป็นภัย

สิบกว่าปีที่ผ่านมา ภัยความมั่นคงคือคนเสื้อแดง มวลชนเพื่อไทย คือคนสามจังหวัดใต้ ฐานเสียงพรรคประชาชาติ รวมถึง NGO ที่คัดค้านโครงการของรัฐ

เพียงปัจจุบัน ภัยความมั่นคงเปลี่ยนจาก “แดง” เป็น “ส้ม” แต่พรรคเพื่อไทยมั่นใจได้อย่างไรว่า วันหนึ่งตัวเองจะไม่กลับไปถูกกระทำ

ถ้าไม่ยุบ ก็ต้องพูดให้ชัดว่าจะลดอำนาจ กอ.รมน. อย่างไร อย่ามัวดราม่าทวีตโต้สื่อแบบทรัมป์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน