นิกร เผยชง 5 ข้อ ถามกลุ่มนักศึกษา-เยาวชน-ประชาชน-สมาชิกรัฐสภา นัด 22 ธ.ค.สรุป เผยเคาะงบทำประชามติครั้งละ 3.2 พันล้าน ห่วงตกม้าตาย มาใช้สิทธิ์ไม่ถึง 25 ล้านคน

เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายนิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 แถลงผลประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาฯและอนุกรรมการรับฟังความเห็นว่า การประชุมครั้งนี้ได้เริ่มเปิดรับฟังความเห็นของประชาชน กลุ่มแรกคือ นิสิต นักศึกษา คนรุ่นใหม่

โดยเชิญตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยมหิดล ตัวแทนมรภ. และตัวแทนสภาเยาวชน ตัวแทนมูลนิธิดวงประทีป กลุ่มราษฎร ที่เคยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ รวมถึงกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ โดยจะมีคำถามเริ่มต้นทดสอบก่อนลงในรายละเอียดที่มาจากการหารือกับวุฒิสภา

โดยมี 5 คำถาม คือ 1.สมควรจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ มีรายละเอียดเห็นสมควรจะทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 หรือ เห็นสมควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ หรือ ไม่สมควรให้จัดทำและจำนวนฉบับใหม่ 2.กรณีที่เห็นว่าไม่ควรทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เห็นสมควรแก้เป็นรายมาตราหรือไม่

3.กรณีที่เห็นว่าควรทำใหม่ทั้งฉบับ เห็นว่าเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาเรื่องใดที่จำเป็นต้องแก้ไข เช่น การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนการมีส่วนร่วมทางการเมืองการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระ หรือวิธีและกระบวนการแก้ไขธรรมนูญเป็นไปได้ยาก หรืออย่างอื่น เป็นต้น ทั้งหมดคือต้นเหตุที่จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

4.จากนั้นจะเป็นคำถามว่า สมควรจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมดหรือไม่ และสมควรจัดตั้งสสร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ สัดส่วนวิธีการได้มา ตามที่กรรมาธิการกำหนด

5.ในการทำประชามติ จะถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะทำประชามติก่อนเริ่มกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 และถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะจัดทำประชามติเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว เพื่อให้ประชาชนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้ง ก่อนที่นายกฯจะนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯถวาย เพื่อลงพระปรมาภิไธย โดยรายละเอียดจะไปอยู่ในคณะกรรมาธิการ(กมธ.)จัดทำร่างรัฐธรรมนูญในอนาคต

นายนิกร กล่าวว่า ในการแก้ไขมาตรา 256 จะไม่อยู่ในคำถามนี้ เพราะต้องแก้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ชุดคำถามที่จะสอบถามเยาวชน จะใกล้เคียงกับที่จะไปถามสมาชิกรัฐสภา 700 คน เมื่อเปิดสมัยประชุมสภา 13-14 ธ.ค.นี้ และวันที่ 18-19 ธ.ค. จะนำไปถามส.ว. จากนั้นคณะอนุกรรมการจะนัดประชุมในวันที่ 22 ธ.ค. เพื่อสรุปและนำเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ภายในสิ้นปีนี้








Advertisement

นายนิกร กล่าวว่า ส่วนการประชุมของคณะกรรมการศึกษาฯ ได้เชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เข้าร่วม โดยได้เคาะงบประมาณเบื้องต้นในการจัดทำประชามติ 3,250 ล้านบาท ส่วนวิธีที่จะใช้ลงประชามติ ต้องหารือว่าจะทำได้หรือไม่ได้ โดยอาจจะต้องใช้แอพพลิเคชั่นมาช่วย โดยกกต. จะเสนอรายละเอียดว่าหากใช้แอพฯ จะมีความเสถียรและสามารถล้วงข้อมูลได้หรือไม่ กลับมาเสนอให้คณะกรรมการฯ ทราบอีกครั้ง ทั้งนี้ หากจะนำไปใช้กับการเลือกตั้งอื่นด้วย อาจจะไม่ทัน และหากจะใช้เครื่องมืออื่น ก็จะมีค่าใช้จ่ายอีกเป็นหมื่นล้านบาท

ที่ประชุมมีข้อกังวลเรื่องการทำประชามติ คือ กฎหมายประชามติ กำหนดว่าต้องใช้เสียงข้างมาก เพราะประชาชนต้องออกมาใช้สิทธิ์ให้เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ ครั้งหนึ่งต้องมี 25 ล้านคนขึ้นไป เรากังวลตรงนี้ เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่ประชาชนจะออกมา เนื่องจากไม่ใช่การเลือกตั้งสส. และในจำนวนผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์ประชามติ ต้องมีผู้เห็นชอบเกินครึ่งหนึ่ง ตรงนี้ทำได้ยาก

การทำประชามติครั้งแรก ประชาชนอาจสนใจ แต่ในครั้งที่สอง ที่แก้ไขมาตรา 256 ตรงนี้ประชาชนจะเข้าใจหรือไม่ว่าจำเป็นต้องทำ โดยมาตรานี้จะทำไปพร้อมกับการเลือกตั้งนายกอบจ. ซึ่งประชาชนจะออกมาโหวตสองอย่าง แต่ที่น่าห่วงคือจะตกม้าตาย เพราะประชาชนจะออกมาไม่ครบ เพราะไม่มีการเหนี่ยวนำให้ออกมา ไม่มีหัวคะแนน

ทั้งนี้ ยืนยันว่าเราจะทำตามกฏหมายที่มีอยู่ ครั้งที่แล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการสู้กันระหว่างคสช. กับฝ่ายการเมืองและฝ่ายการเมืองไม่เห็นด้วย เมื่อเกิดการสู้กันก็ทำให้ดึงคนจากทั้งสองข้างจากทั้งสองฝ่ายออกมา แต่ครั้งนี้หากประชาชนเห็นว่าไม่เกี่ยวข้อง ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะออกมา ส่วนอย่างไรก็ตามรายละเอียดต่างๆสภาจะต้องไปคุยกันเอง และพิจารณาว่าจะต้องไปแก้ไขกฎหมายประชามติหรือไม่ ถ้าแก้ก็จะใช้เวลาไม่นาน และคาดว่าจะถามประชามติประมาณเดือนเม.ย. โดยต้องทำให้ประชาชนเข้าใจและคิดคำถามให้ประชาชนตอบได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน