พริษฐ์ ชงแก้ กม.ประชามติ เหลือเกณฑ์ออกมาใช้สิทธิ์-เห็นชอบ 25% ป้องกันยุทธศาสตร์นอนอยู่บ้านเพื่อคว่ำประชามติ เชื่อหากฝ่ายค้าน-รัฐบาลร่วมยื่นแก้ ผ่าน 3 วาระฉลุย ไม่กระทบไทม์ไลน์ทำประชามติแก้รธน.

เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2566 ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงข้อกังวลของหลายฝ่ายเกี่ยวกับเงื่อนไขใน พ.ร.บ.ประชามติ ว่า ทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้านและภาคส่วนอื่นๆ มีข้อห่วงใยเกี่ยวกับกฎหมายประชามติ ที่ต้องใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น หรือ Double majority ที่บัญญัติในมาตรา 13 ที่อาจไม่เป็นธรรมต่อการทำประชามติในทุกหัวข้อ

เกณฑ์ชั้นที่ 1 คือ ต้องมีจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ ชั้นที่ 2 คือ ต้องมีเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์ ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงหากคนที่ไม่เห็นด้วยกับประเด็นที่ถูกถาม แทนที่จะออกมาใช้สิทธิ์แต่ใช้วิธีนอนอยู่บ้าน เพื่อคว่ำประชามติแทน และหากบวกกับจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์ก็จะไม่ถึงเกณฑ์ เสียงข้างมาก ชั้นแรก ก็จะทำให้กฎหมายประชามติตกไป

นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า ตนเห็นว่าควรทบทวนตัวกติกานี้โดยเฉพาะชั้นแรก จึงเสนอทางเลือกในการแก้ไข 2 ประเด็นคือ ยกเลิกเกณฑ์ชั้นที่ 1 ไม่ต้องกำหนดจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งบางประเทศ ไม่มีเกณฑ์ใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น และประชามติ 2 ครั้งของไทย ในการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 และ 2560 ก็ไม่ได้กำหนดเกณฑ์สัดส่วนผู้ออกมาใช้สิทธิ์ ส่วนอีกหนึ่งทางคือ ให้เขียนว่า คนออกมาใช้สิทธิ์และลงคะแนนเห็นชอบ เกิน 25% หรือ 1 ใน 4 ของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด ซึ่งจะสามารถป้องกันยุทธศาสตร์การนอนอยู่บ้านเพื่อคว่ำประชามติได้

สำหรับกระบวนการแก้ไขกฎหมายนั้น นายพริษฐ์ กล่าวว่า วิธีการแก้ไขกฎหมาย เรียบง่ายตรงไปตรงมาที่สุดคือให้รัฐบาลและฝ่ายค้าน ร่วมกันยื่นแก้ไขกฎหมายพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา13 ถ้าดำเนินการยื่นเสนอไว้ เมื่อสภาฯเปิดสมัยประชุมช่วงเดือนธ.ค. ก็สามารถพิจารณาวาระแรกได้ทันที และเชื่อว่าจะผ่าน 3 วาระไปได้ โดยจะไม่กระทบต่อกรอบเวลาจัดทำประชามติ แก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล ตามไทม์ไลน์ที่วางไว้ และเคาะว่าจะทำประชามติหรือไม่ในช่วงต้นเดือนม.ค. 2567 เพราะแก้ไขแค่มาตราเดียว

นายพริษฐ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากเรื่อง มาตรา 13 เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นแล้ว ตนเห็นว่าเมื่อจะแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติ ถ้าไม่กระทบกรอบเวลา อาจพิจารณาประเด็นอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น จะทำอย่างไรให้กฎหมายประชามติรองรับการจัดทำประชามติวันเดียวกับการเลือกตั้งอื่นๆ ได้ ไม่ว่าเลือกตั้งสส. หรือเลือกตั้งท้องถิ่น ปัจจุบันมีข้อจำกัดที่ทำให้การดำเนินการด้านธุรการยุ่งยาก

ถ้าแก้ไปด้วยก็จะเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้เลือกวันลงประชามติได้ยืดหยุ่นมากขึ้น และอาจมีประชาชนออกมาใช้สิทธิ์มากขึ้นได้หากทำพร้อมกับการเลือกตั้ง ทั้งนี้ ขอเสนอให้แก้ไขกรณีการเข้าชื่อของประชาชนเพื่อทำประชามติ 50,000 รายชื่อทางออนไลน์ได้ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน