นิด้าโพล เผยผลสำรวจ ประชาชน OK หรือไม่ บทสรุปดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่น ชี้ ส่วนใหญ่เห็นด้วย เกณฑ์ผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินดิจิทัล

เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2566 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “OK ไหม กับ นายกฯ สรุปเอง เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 13-16 พ.ย. 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับบทสรุปของนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ภายหลังการแถลงของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง

จากการสำรวจเมื่อถามประชาชนถึงคุณสมบัติการได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 79.85 ระบุว่า มีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์ รองลงมา ร้อยละ 11.68 ระบุว่า ไม่แน่ใจว่าตนเองมีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์หรือไม่ และร้อยละ 8.47 ระบุว่า ไม่มีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์

เมื่อถามตัวอย่างที่ระบุว่าไม่แน่ใจว่าตนเองมีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์หรือไม่ และไม่มีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์ (จำนวน 264 หน่วยตัวอย่าง) เกี่ยวกับความรู้สึกที่จะไม่ได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เนื่องจากคุณสมบัติไม่ครบตามเกณฑ์ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 68.18 ระบุว่า ไม่โกรธเลย รองลงมา ร้อยละ 11.36 ระบุว่า ไม่ค่อยโกรธ ร้อยละ 8.71 ระบุว่า ค่อนข้างโกรธ ร้อยละ 7.58 ระบุว่า โกรธมาก และร้อยละ 4.17 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อหลักเกณฑ์ผู้มีสิทธิได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ต้องเป็นคนไทยไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป มีรายได้ไม่ถึง 7 หมื่นบาทต่อเดือน และ/หรือมีเงินฝากทุกบัญชีรวมกันต่ำกว่า 5 แสนบาท พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 40.53 ระบุว่า เห็นด้วยมาก รองลงมา ร้อยละ 25.80 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 20.31 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย ร้อยละ 12.67 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 0.69 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อเงื่อนไขการใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยสามารถใช้ซื้ออาหาร เครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภคได้เท่านั้น พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 34.66 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย รองลงมา ร้อยละ 28.47 ระบุว่า เห็นด้วยมาก ร้อยละ 20.69 ระบุว่าค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 16.03 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 0.15 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ส่วนความคิดเห็นของประชาชนต่อแหล่งที่มาของงบประมาณในการจัดทำนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่รัฐบาลจะออกพระราชบัญญัติ กู้เงิน 500,000 ล้านบาท และงบประมาณประจำปีอีก 100,000 ล้านบาท พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 50.69 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย รองลงมา ร้อยละ 18.70 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ 14.89 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 13.35 ระบุว่า เห็นด้วยมาก และร้อยละ 2.37 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ภายหลังการแถลงของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 29.92 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย รองลงมา ร้อยละ 25.97 ระบุว่า เห็นด้วยมาก ร้อยละ 25.11 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 18.24 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 0.76 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ








Advertisement

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน