กมธ.งบฯ ถกปัญหาภัยแล้ง-งบสร้างฝาย ณัฐพงษ์ ชี้งบฯ 67 ไร้เงินกู้ 5 แสนล้าน เผยฝ่ายนิติบัญญัติเตรียมเสนอร่างงบฯ 68 เสนอประกบคู่ร่างรัฐบาล หวังตอบโจทย์ประชาชนที่สุด

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 30 พ.ย.2566 ที่รัฐสภา นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมกมธ.ว่า กมธ.จะพิจารณาแก้ไขปัญหาภัยแล้ง แก้ปัญหาเอลนีโญ ซึ่งงบส่วนใหญ่ที่ตั้งขึ้นมา จะเกี่ยวกับการสร้างฝายเก็บน้ำในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเราจะพิจารณาให้เกิดความรอบคอบ และเกิดการใช้งบประมาณให้คุ้มค่าสูงสุด

ก่อนหน้านี้ กมธ.พิจารณาหลายอย่าง เช่น การประชุมของคณะอนุฯงบ ปี 67 ที่เรียกหน่วยงานขอรับงบทั้งหมดมาชี้แจงว่า แต่ละหน่วยขออะไรบ้าง เป็นจำนวนเงิน 5.8 ล้านล้านบาท ซึ่งสำนักงบประมาณ ตัดเหลือ 3.48 ล้านล้านบาท และตอนนี้ร่างพ.ร.บ. ที่กำหนดว่ากรอบงบประมาณแต่ละกระทรวง ผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว

ขั้นตอนต่อไปที่เรากำลังรอคือ คำของบประมาณที่ถูกอนุมัติจัดสรรในรายโครงการ โดยจะออกมาประมาณวันที่ 23 ธ.ค. และจะมีมติครม.ในวันที่ 26 ธ.ค. กมธ.จะนำข้อมูลที่ได้จากหน่วยงานมาประกบกับข้อมูลจากสำนักงบฯว่า มีความเหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนหรือไม่

เมื่อถามว่างบประมาณปี 67 ยังไม่มีส่วนที่เกี่ยวกับการกู้เงิน 5 แสนล้านบาทใช่หรือไม่ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ไม่มี ซึ่งชัดเจนอยู่แล้วว่าแหล่งที่มาของเงินในโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต ไม่สามารถใช้แหล่งเงินจากงบประมาณเป็นหลักได้ เพราะรัฐบาลออกข่าวมาแล้วว่าจะใช้ พ.ร.บ.กู้เงิน ซึ่งทราบดีว่ามีปัญหาหลายอย่าง เช่น จะขัดกับพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง หรือวินัยหนี้สาธารณะหรือไม่ ขณะนี้รอคำตอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกา เราอยากได้ความชัดเจนในเรื่องนี้เช่นกัน

เมื่อถามว่ามีการตั้งข้อสังเกตในสิ่งที่จะนำไปอภิปรายในร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ได้หรือยัง นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า มีหลายอย่าง โดยเฉพาะระเบียบการใช้งบ เช่น การประชุมกมธ.ครั้งที่แล้ว นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอเกี่ยวกับระเบียบแบ่งชั้นผู้รับเหมา ที่ค่อนข้างชี้ชัดว่าผู้รับเหมาชั้นพิเศษของกรมทางหลวงชนบทเอื้อให้เกิดการฮั้วประมูล เพราะการประมูลของผู้รับเหมาชั้นพิเศษ แตกต่างกับราคากลางเล็กน้อย ขณะที่ผู้รับเหมารายอื่น ประมูลงานได้ถูกกว่าถึง 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ จึงมีความเป็นไปได้ว่าเกิดการฮั้วประมูล จึงเชิญหน่วยงานมาชี้แจงและแก้ไขกฎระเบียบเหล่านี้

เมื่อถามว่าการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 67 ได้หารือกับพรรคร่วมฝ่านค้านเพื่อผิดชอบหัวข้อการอภิปรายอะไรหรือไม่ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า เรามีแผนว่าจะเปิดเผยข้อมูลคำของบประมาณ 5.8 ล้านล้านบาท เทียบคู่กับ 3.48 ล้านล้านบาท ที่สำนักงบฯ จัดสรรมา ซึ่งสส.ทั้งหมดไม่ใช่เฉพาะฝ่ายค้านต้องช่วยกันตรวจสอบ เพราะสำนักงบฯ เป็นผู้ถือหลักเกณฑ์เพียงผู้เดียว ในการจัดสรรงบ

ทาง กมธ.ได้เข้าไปดูงานที่สำนักงบฯแล้ว และได้คำชี้แจงกลับมาว่าหลักเกณฑ์ต่างๆ ไม่ได้เป็นลักษณะระเบียบที่ให้ทุกคนเข้าไปตรวจสอบได้ นั่นคือ ไม่มีความโปร่งใสเพียงพอ เป็นการตัดสินใจภายในลำนักงบฯ ทั้งหมด ดังนั้น ตนคิดว่าเป็นสิทธิและหน้าที่ของสส.ทุกคนสามารถตั้งคำถามถึงการตัดงบประมาณว่าเหมาะสมหรือไม่ ก่อนให้ผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ปี 67

เมื่อถามว่าประเมินภาพรวมการใช้งบที่ผ่านมาของรัฐบาล มีความเสียหายเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า งบประมาณปี 67 เป็นปีแรกที่ดีเลย์มาครึ่งปี แน่นอนว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น สามารถใช้งบไปก่อน แต่งบการลงทุนที่เป็นรายจ่ายจากภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไม่สามารถเบิกจ่ายได้เลย

เราได้เห็นข้อถกเถียงต่างๆว่าวิธีการจ่ายงบ ด้วยการกู้มาแจก กับการใช้แหล่งงบ ไปในแง่ของการลงทุน เราคิดว่าตัวคุณทางเศรษฐกิจของการลงทุนในโครงสร้างขั้นพื้นฐาน จะเกิดประโยชน์กับประชาชนในระยะยาวมากกว่า จึงเป็นสิ่งที่ต้องเร่งให้ร่างพ.ร.บ.งบปี 76 ผ่านสภาฯโดยเร็ว

นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 68 ที่จะเข้าต่อจากพ.ร.บ.งบปี 67 กมธ.ตั้งใจจะให้ร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 68 เป็นร่างที่ฝ่ายนิติบัญญัติเสนอประกบกับร่างของฝ่ายบริหาร ซึ่งเราได้ตัวอย่างจากหลายประเทศที่ใช้รูปแบบดังกล่าว จึงคิดว่าช่วงปลายปีนี้ เป็นช่วงกำหนดส่งคำของบประมาณปี 68 ของทุกหน่วยงาน เราจะเรียกทุกหน่วยรับงบ ชี้แจงคำขอแบบเดียวกับที่ทำกับงบประมาณปี 67

แต่จะแตกต่างกันเล็กน้อยตรงที่กมธ.จะมีเวลาพิจารณาเพิ่มขึ้น และให้ข้อเสนอกับสำนักงบฯได้ว่า ร่างพ.ร.บ.งบ ที่สส.ในฐานะตัวแทนประชาชนอยากเห็นนั้นเป็นอย่างไร ส่วนขั้นตอนของร่างพ.ร.บ.งบปี 68 นั้น ประมาณกลาง ม.ค.67 เป็นเดดไลน์ส่งคำของบประมาณ จากนั้นสำนักงบฯจะรวบรวม เพื่อส่งให้ครม.อนุมัติ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน