“แป้ง นาโหนด” ขยี้รัฐล้มเหลว เขย่ากระบวนการยุติธรรม ส่งผลสะเทือนกว้างขวาง ปล่อยคลิปแต่ละที คนติดตามล้นหลามทุกช่องทาง

ตลกร้ายคือ แรกเริ่มเดิมที เสี่ยแป้งเป็นข่าวใหญ่ ในมุมที่ถูกมองว่าเป็นผู้มีอิทธิพลมีเส้นสาย เป็นนักโทษชาย แต่สามารถหนีจากโรงพยาบาล ระหว่างเจ้าหน้าที่เรือนจำคุมตัวไปรักษา

ข่าวช่วงแรกจึงขุดคุ้ยความไม่ชอบมาพากล ทำไมเสี่ยแป้งหนีได้ ไล่เอาผิดคนช่วยให้หนี ข่าวช่วงถัดมาเป็นมหกรรมไล่ล่า ตำรวจหลายร้อยนาย ขี่ช้าง ขี่ ฮ. ขี่มอเตอร์ไซค์ แต่คว้าน้ำเหลว ออกข่าวว่าวิสามัญได้แล้วกลับโอละพ่อ ชาวบ้านไม่กล้ากรีดยาง เพราะกลัวลูกหลงกลัวตำรวจเข้าใจผิด มากกว่ากลัวเสี่ยแป้งเสียอีก

แถมกลายเป็นข่าวดราม่า น้องๆ ลุงพลแห่งเทือกเขาบรรทัด มีทั้งเสี่ยแป้งหนังเหนียว ตำรวจโดนผีหลอก ตำรวจโดนทากกัด ร้านกาแฟกลางป่าขายดี

ล้อกันขำๆ ว่า ททท.น่าจะฉวย “ซอฟต์เพาเวอร์” ส่งเสริมท่องเที่ยวเขาบรรทัด

แต่พอเสี่ยแป้งอัดคลิปแฉกลับว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม มีผู้เกี่ยวพันในการทำผิดทั้งตำรวจ อัยการ แต่รอดหมด ตัวเองโดนคนเดียว กระแสก็พลิกหันมาเชียร์เสี่ยแป้งถล่มทลาย ทั้งที่รู้ว่าไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์ ข่าวอีกด้านก็บอกว่า เสี่ยแป้งมีลูกพี่เป็น พล.ต.ต.เป็นผู้ต้องสงสัยว่าพาเสี่ยแป้งหนี

ทำไมคนเชียร์ทั้งที่รู้ อันดับแรกน่าจะเป็นความขบขันปนสะใจ ตำรวจขี่ช้าง เล่นใหญ่ ไล่ล่าป่าแตก แต่คว้าน้ำเหลว นี่ไม่ใช่ชาวบ้านเชียร์ผู้ร้าย แต่มันสะท้อนความไร้ประสิทธิภาพของรัฐราชการ เรื่องไหนเป็นข่าวใหญ่ก็ทุ่มสุดกำลังหวังโชว์ผลงาน ชาวบ้านเห็นจนชิน

ทำไมคนเชียร์ทั้งที่รู้ ก็ดูอย่างชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ซึ่งบอกว่าไม่ใช่คนดีแต่รู้ลึก คนไทยไม่เชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรมอยู่แล้ว เชื่อว่าเต็มไปด้วยผลประโยชน์พวกพ้องเส้นสาย คนอย่างชูวิทย์คนอย่างแป้ง ยิ่งแฉยิ่งสะใจ

คลิปเสี่ยแป้งนั้นเป็นการย้อนถามว่า ถ้าตำรวจเป็นผู้ร้ายเสียเอง ใครจะจับตำรวจ ถ้าอัยการเป็นผู้ต้องหาเสียเอง ใครจะสั่งฟ้องอัยการ

ความเชื่อมั่นตำรวจตกต่ำมานานแล้ว ตอกย้ำซ้ำซากตั้งแต่ทุนจีนสีเทา กำนันนก ตำรวจกันเองบุกค้นบ้านรอง ผบ.ตร. แล้วจบเงียบ แต่ครั้งนี้ลามไปถึงอัยการ ตอกย้ำคำสั่งไม่ฟ้องทายาทมหาเศรษฐีพุ่งชน และอีกหลายคดีที่ประชาชนสงสัย

ติ๊กไว้ด้วยว่า ปัจจุบันอัยการเป็นอิสระ ตามรัฐธรรมนูญ 2550, 2560 รัฐบาลไม่มีอำนาจกำกับดูแล ทั้งที่เป็น “ทนายของรัฐ”

ขณะที่ พ.ร.บ.ตำรวจ ให้อำนาจนายกฯ เสนอชื่อ ผบ.ตร.คนเดียว ตำแหน่งรองลงมาให้ ผบ.ตร. เสนอชื่อหรือใช้กรรมการกลั่นกรอง ในทางปฏิบัติแม้คนเชื่อว่า “ขอตำแหน่ง” ได้เพราะตำรวจเกรงใจ แต่ในแง่กฎหมาย รัฐบาลไม่มีอำนาจยุ่งเกี่ยวแต่งตั้งโยกย้าย

ซึ่งแปลว่ารัฐบาลมีอำนาจน้อยมากในการกำกับดูแลกระบวนการยุติธรรม รัฐประหาร 2 ครั้งเอาอัยการออกไปเป็นอิสระ แก้โครงสร้างตำรวจจนกึ่งเป็นอิสระ แต่รัฐบาลต้องรับผิดชอบความเสื่อมของกระบวนการยุติธรรม

เหลือแต่ DSI เท่านั้นที่อยู่ใต้กระทรวงยุติธรรม แต่ก็เพิ่งเกิดดราม่า “หมูเด้ง” อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ

จากหมูเถื่อนเป็นหมูเด้ง ก็ย้อนแย้งเช่นกัน จากตอนแรกที่เศรษฐาบ๊งเบ๊งสั่งดีเอสไอปราบหมูเถื่อน

แต่พอเด้งอธิบดีก็มีข้อสงสัยไปอีกด้าน ว่าเป็นเพราะไปจับบริษัทในเครือทุนใหญ่ ซึ่งการออกใบอนุญาตโยงใยถึงข้าราชการคนใกล้ชิดอดีตรัฐมนตรี

ในมุมหนึ่ง การแต่งตั้งโยกย้ายอาจไม่เกี่ยวกับเรื่องหมูๆ อาจเป็นวาระที่รัฐมนตรียุติธรรมซึ่งเป็นอดีตอธิบดีดีเอสไอ ต้องการปรับเพื่อความเหมาะสม (เปลี่ยนรัฐบาลทีไร อธิบดีกรมนี้โดนย้ายทุกที บางคนโดนคดีหนักเช่น ธาริต เพ็งดิษฐ์)

แต่กระแสที่เกิดขึ้นสะท้อนความไม่ไว้วางใจของประชาชน ซึ่งไม่ใช่แค่รัฐบาล แต่เป็นความไม่ไว้วางใจกลุ่มทุนใหญ่ ที่เชื่อกันว่ามีไม่กี่กลุ่มผูกขาดประเทศไทย

ในภาพรวมนี่คือปัญหาโครงสร้างที่รัฐบาลเผชิญ รัฐล้มเหลว ระบบราชการไร้ประสิทธิภาพ ทุจริตคอร์รัปชั่น ประชาชนไม่เชื่อถือกระบวนการยุติธรรม ทางเศรษฐกิจก็ถูกผูกขาดโดยกลุ่มทุนไม่กี่กลุ่ม

รากฐานปัญหาไม่ใช่ความผิดของรัฐบาลเพื่อไทย แต่ประชาชนไม่เชื่อไม่ศรัทธาว่ารัฐบาลนี้จะแก้ได้ เพราะบอกแต่ต้นว่าไม่แตะปัญหาโครงสร้าง แถมยังมีแนวโน้มคล้อยตามพึ่งพาอาศัย

เมื่อตัดสินใจเป็นรัฐบาลข้ามขั้วสวามิภักดิ์ อ้างหลักประนีประนอมไม่ชนโครงสร้างอำนาจ เกิดอะไรขึ้นก็ต้องรับผิดชอบแทน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน