“โภคิน” หนุนแก้มาตรา 256 ปลดล็อกเสี้ยนหนามแก้รธน. เตือน คิดซับซ้อน ปมคำถามประชามติ จะไม่ได้แก้ ด้าน รองเลขาฯ นายกฯ ยัน รัฐบาลไม่เตะถ่วง

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2566 ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการมองรัฐสภา ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า พรรคก้าวไกลมองว่าการทำประชามติก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ควรทำ 2 ครั้งตามกติกา แต่ขณะนี้ยอมรับว่ามีผู้ที่เห็นต่างและควรทำประชามติ 3 ครั้ง ซึ่งเป็นเหตุผลทางการเมืองและอาจจะทำให้การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมมนูญต่อรัฐสภาที่จะเกิดขึ้น อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ไม่ได้รับความเห็นชอบ

นายพริษฐ์ กล่าวว่า พรรคก้าวไกลจึงเสนอว่า หากจะทำประชามติในครั้งแรก ควรทำ 1 คำถามหลักและมี 2 คำถามพ่วง โดยคำถามหลักต้องเป็นอย่างกว้าง เช่น เห็นชอบหรือไม่ที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง ส่วนคำถามพ่วง 2 คำถามนั้น จะเป็นการแก้ปัญหาความเห็นต่าง คือ ประเด็น ส.ส.ร. ว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะมี ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และประเด็นการไม่แก้ไขปรับปรุงหมวด 1 และ หมวด 2

“ผมเชื่อว่าเมื่อผลประชามติออกมาไม่ว่าจะเป็นอย่างไร จะทำให้เกิดการยอมรับ และการปฏิบัติตามมติของสมาชิกรัฐสภา เช่น กรณีที่ประชามติระบุว่าไม่แก้ไขปรับปรุงหมวด 1 และ หมวด 2 พรรคก้าวไกลพร้อมจะเดินตามมติของประชามติดังกล่าว” นายพริษฐ์ กล่าว

นายพริษฐ์ ยังกล่าวสนับสนุนการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ว่าด้วยเกณฑ์การผ่านประชามติ ที่กำหนดให้ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ และเสียงที่จะได้รับความเห็นชอบ เพราะกังวลว่าฝ่ายที่ไม่ต้องการให้ประชามติผ่านจะได้เปรียบ เพราะไม่ต้องออกมารณรงค์ใดๆ

ขณะที่ นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา กล่าวว่า ความยากของการประชามติ คือ ต้องได้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ และผู้มาออกเสียงเห็นชอบ ดังนั้น จึงไม่ง่าย และอาจจะไม่ผ่าน แต่หากมีคำถามพ่วง เช่น ไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 ต้องระวัง เพราะอาจจะมีคนที่ไม่เห็นด้วย ไม่ออกมาใช้สิทธิ หากไม่มีคำถามพ่วงประเด็นดังกล่าวก็จะเกิดการรณรงค์ให้คนไม่ออกไปใช้สิทธิเช่นกัน ดังนั้น สิ่งที่กำลังคิด คือ การคิดมากด้วยกันทั้งสิ้น คิดไปคิดมา คิดเชิงซับซ้อน ตนมองว่าอาจจะไม่ได้แก้ไข

“ต้องเอาเสี้ยนตรงนี้ออกไปก่อน หากจะคิดถึงชนวนปัญหาที่ทำให้คิดมาก อาจจะคิดแล้วก็ยังอยู่ที่เดิม ดังนั้น ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้ หากคิดในเชิงซับซ้อน ต้องทำประชามติอย่างไร ผมมองว่าหากไม่แก้มาตรา 256 ให้เป็นปกติ ประเทศนี้ไปไม่ได้ ชีวิตของประชาชนที่เกี่ยวข้องไปไม่ได้ ดังนั้นเสนอว่าควรแก้ มาตรา 256 ให้เป็นปกติ ที่เหลือทำอะไรก็ได้หมด” นายโภคิน กล่าาว

ขณะที่ นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกฯ กล่าวว่า กรรมการศึกษาแนวทางการจัดทำประชามติของรัฐบาล เตรียมจะสรุปและเสนอให้รัฐบาลพิจารณาในช่วงต้นปี 2567 อย่างแน่นอน ส่วนกรณีที่มีประเด็นการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ กรรมการเห็นว่าจำเป็นต้องแก้ไข แต่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณา

นายชนินทร์ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีข้อวิจารณ์ว่ารัฐบาลพยายามยื้อกลไกประชามติหรือไม่ ตนขอชี้แจงว่าในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาเกิดข้อถกเถียงในสังคมจำนวนมาก เช่น ก่อนหน้านี้มีข้อเสนอของพรรคก้าวไกล แต่ระยะหลังได้เปลี่ยนแปลงตามเสียงสะท้อน และแม้พรรคก้าวไกลจะไม่ตอบรับเข้าร่วมเป็นกรรมการที่ตั้งโดยรัฐบาล แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับจูน แสดงให้เห็นว่าเกิดการผสานปรับความร่วมมือเข้าหากัน

“ผมเชื่อว่าสุดท้ายจะสอดคล้องและการทำประชามติจะเห็นพ้องจากทั้งผู้สนับสนุนรัฐบาลและฝ่ายค้าน ขอให้มั่นใจการทำงานของรัฐบาล ไม่ได้เตะถ่วง ใช้เวลาเท่าที่จำเป็น และคำนึงถึงการใช้งบประมาณของรัฐที่ไม่เปล่าประโยชน์ ซึ่งหวังว่าจะเกิดกระบวนการขับเคลื่อนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” นายชนินทร์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน