ลสอบ PISA ประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล เด็กไทยคะแนนร่วงทุกด้าน ทักษะคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การอ่าน เป็นรองทั้งสิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน คะแนนต่ำสุดในรอบ 20 ปี

ทำไงดี? ก็เลิกสอบเสียสิ ไปแข่งกับเขาทำไมให้อับอาย คุณภาพการศึกษาไทยรู้กันอยู่ รู้ด้วยว่าแก้ไม่ได้ มีแต่แย่ลง เอาไว้ไชโยได้หน้า ตอนเด็กไทยชนะโอลิมปิกวิชาการดีกว่า

เพราะผลที่ออกมาพบว่า เด็กไทยไม่ได้แย่ไปหมด เด็กโรงเรียนวิทย์คณิตคะแนนเท่า 5 อันดับแรก เด็กโรงเรียนสาธิตคะแนนสูงกว่าเฉลี่ย มีเพียงเด็กส่วนใหญ่จากโรงเรียนมัธยมทั่วไป ที่ได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์

งั้นเราก็ต้องส่งเสริมให้ทุกโรงเรียนจัดห้อง Gifted ห้อง EP ห้อง SMA SME ASC TEP EIS MSEP ฯลฯ กันให้มากๆ ไม่ต้องสนใจชื่อย่อ แค่มีตังค์จ่ายก็พอ ถ้ามีมากก็ส่งลูกเรียนนานาชาติ ประเทศเราไม่ได้ขาดแคลนอัจฉริยะ คนที่จะทำงานด้านเทคโนโลยี เป็น entrepreneur เป็นผู้บริหาร เป็นข้าราชการ Fast Tract

ส่วนลูกชาวบ้านที่เรียนมัธยมทั่วไป ยังไงก็ได้กู้ กยศ.เรียนปริญญาตรี จบไปสอบราชการ เป็นตำรวจทหารเป็นพยาบาลเป็นครู สอบไม่ได้ก็ดิ้นรนค้าขาย อาจรวยเพราะขายของออนไลน์ หรือเป็นดาว TikTok

พูดอย่างนี้เหมือนประชด ก็มันหมดหวังจริงๆ ไม่ใช่แค่มาตรฐานตกต่ำ แต่เห็นชัดว่าเหลื่อมล้ำสูง สสวท.อ้างว่าคะแนนต่ำทั่วโลกเพราะโควิด แล้วคิดถึงเด็กชนบทไทยเรียนออนไลน์ รู้กันว่าแย่แค่ไหน

ปัญหาการศึกษาไทยทับซ้อนหลายชั้น ยิ่งปฏิรูปยิ่งพัง ยิ่งใช้แบบประเมินครูยิ่งเพิ่มภาระกระทบการเรียนการสอน

อันดับแรกคือหลักสูตร วิธีคิดอนุรักษนิยม ผู้บริหารการศึกษาคิดแต่ยัดทะนาน ยัดทุกอย่างที่อยากให้เด็กเรียน ไม่ตระหนักว่าเป้าหมายการศึกษาคือทำให้เด็กคิดเป็น รักการอ่าน รักการค้นคว้า ถกเถียง สอนคณิตศาสตร์เพื่อให้ได้ตรรกะ ได้วิธีคิดเป็นเหตุผล สอนวิทยาศาสตร์เพื่อไม่ให้งมงาย สอนภาษาเพื่อให้ไปอ่านเองในห้องสมุดหรือโลกออนไลน์

การออกข้อสอบ O-Net หรือ GAT/PAT ก็ดันออกให้ยากเข้าไว้ บังคับให้ต้องเรียนเกินต้องกวดวิชา

ช่วงหลังเกิดความขัดแย้งทางการเมือง ก็ยัดวิชาประวัติศาสตร์หน้าที่พลเมืองศีลธรรม วิธีคิดจารีตหวังว่าการบังคับท่องจำจะทำให้เด็กรักชาติรักแผ่นดิน

อันดับถัดมาคือระบบบริหารการศึกษา เละตั้งแต่โครงสร้างลงไปถึงระดับล่าง อย่างที่เพจ “วันนั้นเมื่อฉันสอน” บรรยายไว้

เข้าใจตรงกันนะ ครูน่าเห็นใจ ครูตั้งใจดีมีมากมาย แต่ผู้บริหารเป็นปัญหาใหญ่ กระทรวงศึกษาฯไม่ต่างจากกลาโหม ที่มีนายพลเยอะ มีผู้บริหารและหน่วยธุรการซ้ำซ้อน แย่กว่าด้วยตรงที่ “หน่วยรบ” คือครูในโรงเรียนไม่พอ งบมหาศาลเป็นงบเงินเดือนงบธุรการเสีย ส่วนใหญ่ แต่เงินเดือนครูในสนาม อุปกรณ์การเรียนการสอน มีไม่พอ

ส่วนราชการกระทรวงศึกษาฯ มี 5 แท่ง เทียบเท่าปลัดกระทรวง 5 คน แต่ละจังหวัดมีเขตพื้นที่การศึกษา ประถม มัธยม ขึ้นกับ สพฐ. แล้ว คสช.ยังตั้งศึกษาธิการจังหวัด ศึกษาธิการภาค ขึ้นกับปลัด ศธ.

ตั้งแล้วยุบไม่ลง ใครจะยอม เพราะเท่ากับยุบอัตราผู้บริหารระดับสูง ทั้งที่ในกระทรวงมีระดับ 9 ระดับ 10 บานเบอะ ขณะที่โรงเรียน ตจว.ประกาศจ้างครู 3,500 เป็นดราม่า

ความลักลั่นของระบบเงินเดือน-ตำแหน่งครู ผู้บริหาร มีอีกเยอะ เช่น รู้ไหมว่า ผอ.โรงเรียนที่มีเด็ก 200 คน สามารถมีเงินเดือนสูงกว่า ผอ.โรงเรียนเด็ก 2,000 คน การขึ้นเงินเดือนครู คิดเปอร์เซ็นต์จากเงินเดือนรวมของโรงเรียนนั้น ครูบรรจุใหม่ที่ไปอยู่โรงเรียนเล็ก 2-3 ปีเงินเดือนตามเพื่อนโรงเรียนใหญ่ไม่ทัน

วัฒนธรรมองค์กร ก็ยังเหมือนเดิม เป็นเจ้าขุนมูลนายฝังรากเหมือน 50 ปีก่อน ผู้ใหญ่ไปตรวจไปประเมิน ผอ. ครูมีหน้าที่จัดโต๊ะเสิร์ฟน้ำ ยิ่งกระจายอำนาจยิ่งทำให้ ผอ.ระดับต่างๆ เป็นเจ้าขุนมูลนาย

จุดสิ้นหวังสุดท้ายคือ รัฐมนตรี ศธ. อว. มาจากภูมิใจไทย

ไม่ใช่ว่าไร้ฝีมือ หรือดูถูกนักการเมืองเชิดชูเทคโนแครต แต่พรรคภูมิใจไทยหาเสียงไม่มีนโยบายการศึกษา มีข้อเดียวแก้หนี้ กยศ. พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคอื่นๆ ยังมีไอเดียมาถกเถียงกัน พรรคภูมิใจไทยไม่เคยคาดคิดไม่มีผู้รู้ไม่มีไอเดียเลย จู่ๆ จับพลัดจับผลูมาดูแลการศึกษา

นี่ยังไม่พูดถึง อว. ซึ่งกำลังมีปัญหามาก มหาวิทยาลัยบ้าคลั่งการจัด Ranking ให้อาจารย์ทำงานวิจัยเสียเงินตีพิมพ์ในนิตยสาร ไม่งั้นไม่ได้ตำแหน่ง ไม่งั้นโดนเลิกจ้าง

ประเทศยังมีหวังไหม บางคนอาจบอกว่า เศรษฐกิจไทยไม่ได้ฝากไว้กับความเป็นเลิศทางวิชาการ เราควรมุ่งทางซอฟต์ พาวเวอร์ ธุรกิจบริการ ท่องเที่ยว วัฒนธรรม มุ่งสร้างเด็กไทยเป็นเชฟ เป็นนักออกแบบแฟชั่น คิดสร้างเกม เป็นไอดอล หรือเป็นนักมวย และควรดีใจที่ UNESCO ประกาศให้สงกรานต์เป็นมรดกโลกมากกว่า

ข้อนี้ก็ถูก แต่อย่าลืมว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์นั้น ต้องมีพื้นฐาน “คิดเป็น” และมีเสรีภาพที่จะคิดสร้างสรรค์

ซึ่งการศึกษาไทยปิดกั้น เด็กไทยฉลาดจากการเรียนรู้ในโลกออนไลน์มากกว่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน