“พิธา” ยก 5 กรอบคิด วิเคราะห์ 100 วันแรก “รัฐบาลเศรษฐา” แผนงานไม่ชัดเจน แนะ ไม่ควรเปลี่ยนตัวนายกฯ ตอนนี้ ชี้โจทย์หินปีหน้า แก้เศรษฐกิจ

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 15 ธ.ค. 2566 ที่พรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคก้าวไกล แถลงวิเคราะห์การดำเนินงาน 100 วันแรกของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ว่า ยังประเมินเป็นเกรดไม่ได้ ทำได้อย่างมากแค่การวิเคราะห์ เพราะไม่มีโรดแมปออกมาว่ารัฐบาลจะทำอะไรที่ชัดเจน

นายพิธา กล่าวต่อว่า แต่มีหลายเรื่องที่เห็นว่าทำได้ดีเช่นกัน เช่น การช่วยเหลือแรงงานไทยและตัวประกันในอิสราเอล การดูแลเอสเอ็มอี จึงถือว่าการทำงานของรัฐบาลผ่านบ้าง ไม่ผ่านบ้าง บางเรื่องทำได้ดีแล้วก็ขอให้ทำต่อ บางเรื่องที่ทำแล้วยังมีข้อที่จะต้องพัฒนาและปรับปรุงก็หวังว่ารัฐบาลจะรับฟังในการทำงานของฝ่ายค้านอย่างสร้างสรรค์ และฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน

นายพิธา กล่าวว่า ในเชิงของรัฐศาสตร์นั้น 100 วันแรกเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก การเมืองไม่มีเวลาฮันนีมูน การวิเคราะห์แบ่งเป็น 3 ประการ ประการที่ 1 การแสดงถึงความมุ่งมั่นในการรักษาสัญญาที่ให้กับประชาชนก่อนมาเป็นรัฐบาล

ประการที่ 2 โรดแมป 100 วันแรกในการตามงานหรือสั่งงาน และประการที่ 3 การบริหารความคาดหวังความเชื่อมั่นนักลงทุนจากต่างประเทศ แต่ก็เข้าใจว่ามีข้อจำกัดเรื่องเวลาและงบประมาณแผ่นดิน

นายพิธา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ผลงานรัฐบาลเศรษฐา ประกอบด้วย 5 กรอบ คือ 1.คิดดีทำได้ การช่วยเหลือตัวประกันชาวไทยในอิสราเอล การจัดหาวัคซีน HPV ถือว่ารัฐบาลทำได้ดี รวมถึงการแก้ปัญหาหนี้ในระบบและนอกระบบ

2.คิดไปทำไป มีการปรับเปลี่ยนไปมา ไม่ว่าจะเป็นที่มาของเงิน เทคโนโลยีที่ใช้ และผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต การจ่ายเงินเดือนข้าราชการ รวมถึงเรื่องโครงการแลนด์บริดจ์

“การที่รัฐบาลไม่คิดอย่างรอบคอบและเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ทำให้เกิดความสับสนในสังคมและในกลุ่มของตลาดทุนด้วย สิ่งที่คาดหวังจากรัฐบาล คือ ต้องมีแผน 2 หากจะเอาดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ควรปรับเปลี่ยนอีกแล้ว แต่หากจะไม่เอาดิจิทัลวอลเล็ต ก็จะต้อง มีความชัดเจนในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะกลางและระยะยาว” นายพิธา กล่าว

3.คิดสั้นไม่คิดยาว เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าไฟ ค่าพลังงาน ค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย มีแต่มาตรการระยะสั้น และยังไม่เห็นมาตรการการแก้ปัญหาที่ต้นตอ

4.คิดใหญ่ทำเล็ก การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์พาวเดอร์ หรือการบริหารการท่องเที่ยวผ่านวีซ่าฟรี และการลดความเหลื่อมล้ำให้กับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นที่ดินสปก. และค่าแรง

นายพิธา กล่าวต่อว่า เราเห็นนายกฯ มีการสั่งการ เมื่อไม่ได้ตัวเลขที่ควรจะเป็นหรือไม่ใช่ตัวเลขที่ได้สัญญาไว้กับพี่น้องประชาชน สิ่งที่รัฐบาลทำเป็นเรื่องที่ดี และมีความคล้ายคลึงกับนโยบายที่ก้าวไกลเคยเสนอไว้ เช่น คณะกรรมการซอฟต์พาวเดอร์ การเคาะงบประมาณ 5 พันล้านบาท สนับสนุน 11 อุตสาหกรรม หรือการทำเฟสติวัล Winter festival และสงกรานต์ตลอดเดือน เม.ย.

แต่อยากเห็นการเสนอแก้กฎหมาย เช่น พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เพิ่มเสรีภาพในการสร้างสรรค์ผลงาน หรือการแก้กฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ เพื่อลดขั้นตอนขออนุญาตกองถ่ายหรือจัดเฟสติวัล หรือการสนับสนุนการรวมตัวของแรงงานฟรีแลนซ์ รวมถึงการแก้กฎกระทรวงสุราก้าวหน้า

5.คิดอย่างทำอย่าง เช่น ร่างรัฐธรรมนูญ การทำประชามติ ซึ่งไม่ชัดเจนว่าที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่ การปฏิรูปกองทัพ ทั้งนี้ ค่อนข้างชัดเจนตั้งแต่สภาฯ สมัยที่แล้ว ในการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยมีความคิดที่เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับพรรคก้าวไกล แต่การกระทำตอนนี้ค่อนข้างตรงข้ามกับสิ่งที่เคยคิดไว้

นายพิธา กล่าวว่า สำหรับความคาดหวังเรื่องการทำงานของรัฐบาลในปีหน้า รัฐบาลควรมี Strategic Roadmap ที่ชัดเจน ต้องการเห็นแผนการทำงานของรัฐบาล 1 ปี ต้องทำงานอย่างเป็นมืออาชีพมากว่านี้ และในฐานะรัฐบาลผสมก็ต้องทำงานให้มีเอกภาพมากกว่านี้ ควรศึกษารายละเอียดของโครงการที่จะทำให้ดีก่อนที่จะประกาศออกไป ต้องเป็นแผนที่ประชาชนและสื่อมวลชนสามารถติดตามกับการทำงานของรัฐบาลได้ และมี KPI ที่ชัดเจน

เมื่อถามถึงสถานการณ์การเมืองในปีหน้า มีการวิเคราะห์ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีจากนายเศรษฐา เป็นน.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะไม่เกิดขึ้นนั้น นายพิธา กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนทิศทางน่าจะเหมาะสมมากกว่าการหาทางลง เพราะประเทศไม่ได้ต้องการอะไรมากกว่านี้

นายพิธา กล่าวต่อว่า แต่ขอให้ปรับเปลี่ยนทิศทาง มีเป้าหมายและมีความเป็นมืออาชีพ ก็จะทำให้สถานการณ์ต่างๆ ที่ดูเหมือนร้อนในปีหน้า จะเบาบางลงได้ การเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่สิ่งที่ควรทำในตอนนี้ ควรให้โอกาสนายกฯ ได้ทำงานก่อน

“อยากเสนอแนะนายกฯ ว่า ไม่สามารถสั่งการลงไปแล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทันที เพราะการบริหารราชการแผ่นดินไม่เหมือนกับเอกชน ที่จะต้องมีกระบวนการในการบริหารงาน และให้คนไปติดตามว่าสิ่งที่สั่งการนั้นเป็นไปได้ทางกฎหมายหรือไม่ ถ้าเป็นไปไม่ได้ก็จะต้องมีการปรับแก้อย่างไร” นายพิธา กล่าว

นายพิธา กล่าวว่า โจทย์หินของรัฐบาล คือ เรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในปีหน้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ GDP ที่ไม่แน่ใจว่าจะถึง 2% หรือไม่ เรื่องของดิจิทัลวอลเล็ตที่อยู่ในกฤษฎีกา เรื่องการท่องเที่ยวที่รายได้ไม่ถึง 4 แสนล้านบาทตามเป้าหมาย แม้จะมีคนมาท่องเที่ยว 27 ล้านคนก็ตาม

นายพิธา กล่าวต่อว่า การกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนที่คาดไว้ในระดับ 60% ดังนั้น ฟรีวีซ่าตรงนี้ก็ไม่เพียงพอ คำตอบนี้ขึ้นอยู่กับการทำงานของรัฐบาล หากฟังประชาชนบ้าง เพื่อนนักการเมืองบ้างว่ามีความจำเป็นที่จะต้องทำงานแบบมีโรดแมป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน