กัณวีร์ รับหนังสือ ชาวบ้านจะนะ ร้องตรวจสอบรัฐ ออกโฉนดที่ดินจาก สค.1 ล่าช้ามา 68 ปี ทำสูญเสียสิทธิ ขอยกเลิกเขตป่าไม้และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ ที่มาหลังชาวบ้านอยู่อาศัยมากว่า 200 ปี

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2566 ที่บ้านหว้าหลัง ม.10 ต.นาหว้า อ.จะนะ จ.สงขลา นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ลงพื้นที่เพื่อรับหนังสือจากชาวบ้าน โดยนายอภิวัฒน์ พรหมทอง รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาหว้า เป็นตัวแทนชาวบ้านยื่นหนังสือถึงนายกัณวีร์ เพื่อส่งต่อไปยัง คณะกรรมาธิการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน

นายกัณวีร์ กล่าวว่า ในเดือนธันวาคม ปี 2565 ตนเองได้ลงพื้นที่มารับฟังปัญหาจากชาวบ้านแล้ว หลังได้รับเลือกตั้งเป็น สส.ก็พบว่าผ่านมา 1 ปี ปัญหาของชาวบ้านยังไม่มีความคืบหน้า จึงมารับหนังสือประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพราะนอกจากเป็นปัญหาทางกฎหมายแล้ว ชาวบ้านยังสูญเสียสิทธิที่ควรจะได้รับหากมีเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่ถูกต้อง แต่กระบวนการของรัฐล่าช้ามากว่า 68 ปีแล้ว

กัณวีร์ รับหนังสือ ชาวบ้านจะนะ ร้องตรวจสอบรัฐ ออกโฉนดที่ดินจาก สค.1 ล่าช้ามา 68 ปี ทำสูญเสียสิทธิ

กัณวีร์ รับหนังสือ ชาวบ้านจะนะ ร้องตรวจสอบรัฐ ออกโฉนดที่ดินจาก สค.1 ล่าช้ามา 68 ปี ทำสูญเสียสิทธิ

นายกัณวีร์ กล่าวต่อว่า จะใช้กลไกของรัฐสภาที่มีทั้งการขอหารือต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบปัญหา และส่งต่อให้คณะกรรมธิการที่ดินฯ ตรวจสอบโดยตรง ส่วนที่มีปัญหาการละเมิดสิทธิของประชาชน และความไม่ยุติธรรม จะต้องเข้าสู่คณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ ด้วย จะตั้งใจทำเรื่องนี้ให้เห็นผลในสมัยสภาฯนี้ให้ได้

“ประชาชนรอมาเกือบ 7 ทศวรรษ เป็นไปได้อย่างไร ระบบราชการต้องปรับให้ทันสมัยขึ้น เพื่อทำงานได้มีประสิทธิภาพ เพราะความล่าช้าคือความไม่ยุติธรรม และจะประสาน สส.ในพื้นที่ พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ให้รับทราบด้วยว่าจะช่วยผลักดันเรื่องนี้ร่วมกันหรือไม่” นายกัณวีร์ กล่าว

ด้าน นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า ชาวบ้านมากกว่า 116 ครัวเรือน ได้รับความเดือดร้อน ความไม่เป็นธรรม ความไม่ยุติธรรม และการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงขอร้องเรียน ให้มีการตรวจสอบ สอบถาม ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการออกโฉนดที่ดินให้กับชาวบ้าน

นายอภิวัฒน์ กล่าวต่อว่า ไม่ว่าจะเป็น ที่ดินจังหวัดสงขลา (อ.จะนะ), กรมที่ดิน, นายอำเภอจะนะ, ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา, เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาเหรง, กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช, กรมป่าไม้ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายอภิวัฒน์ กล่าวอีกว่า เนื่องจากในกระบวนการที่ผ่านมา ชาวบ้านได้มีการยื่นขอสิทธิการออกโฉนดที่ดินไปแล้วตามที่มีการออกประกาศตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 ที่กระทรวงมหาดไทยมีประกาศให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบในการออกหนังสือแสดงสิทธิที่ดินเนื่องจาก ส.ค.1 โดยไม่ต้องส่งเรื่องให้กรมที่ดิน ซึ่งหลังจากนั้นก็ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ

นายอภิวัฒน์ กล่าวด้วยว่า จนกระทั่งในปี 2552 มีการออกประกาศให้เข้าสู่กระบวนการรังวัดที่ดิน ชาวบ้านได้จ่ายเงินเพื่อทำการรังวัดที่ดิน และมีการรังวัดที่ดิน เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการระดับจังหวัด จนปัจจุบันยังไม่สามารถออกโฉนดได้ เนื่องจากอ้างว่า ที่ดินอยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาเหรง ซึ่งทางชาวบ้านได้มีหลักฐานยืนยันเพื่อขอพิสูจน์สิทธิการอยู่อาศัยมาก่อน

นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า เช่น ต้นทุเรียนพื้นบ้านอายุกว่า 100 ปี การขอทุนกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ตั้งแต่ปี 2525 การร่วมปักหมุดหลวงพินิจภุวดล หมุดที่ 1 ที่มีการสลักชื่อ นายสาย ณ บ้านเมือง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2485 รวมถึงแท่นพ่อท่านงุ่น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชุมชนนับถือมาตั้งแต่บรรพบุรุษ กว่า 100 ปี ซึ่งปัจจุบันรูปปั้นหินพ่อท่านงุ่นถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์วัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง) จ.สงขลา เป็นต้น

นายอภิวัฒน์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ การที่หน่วยงานราชการมีความล่าช้าในการออกเอกสารสิทธิ์ให้กับประชาชน ยังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ควรจะได้รับ ทำให้สูญเสียโอกาสในการได้รับประโยชน์จากการใช้ที่ดิน รวมถึงการใช้พื้นที่สาธารณะ

นายอภิวัฒน์ กล่าวต่อว่า เช่น วัด ในขณะที่พื้นที่อื่นที่มี ส.ค.1 มีการออกโฉนดที่ดินเปลี่ยนมือไปแล้วจำนวนมาก บ้างพื้นที่ก็ให้ต่างชาติถือครองไปแล้ว ทั้งๆที่ชาวบ้านเป็นคนไทย เป็นประชาชนไทยที่ควรได้รับสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่กลับสูญเสียสิทธิเหล่านั้น จึงขอให้มีการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบ และเร่งรัดขั้นตอนเพื่อคืนความยุติธรรมให้กับชาวบ้านที่รอคอยมากว่า 68 ปี

ส่วน นายประเสริฐ เสนาจิตร์ ผู้ใหญ่บ้าน ม.10 เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านได้เข้าสู่กระบวนการขอออกโฉนดมาหลายขั้นตอนแล้ว แต่ปัญหาที่ล่าช้าส่วนหนึ่งเพราะมีการทำลายเอกสาร ส.ค.1 จากเหตุไฟไหม้ที่ที่ดินอำเภอจะนะ ทำให้ ส.ค.1 ของชาวบ้านบางส่วนหายไป

“ตอนนั้นทางราชการมาเอา ส.ค.1 ของชาวบ้านไป ชาวบ้านก็คิดว่าเอาไปเก็บที่อำเภอปลอดภัยที่สุด แต่ที่ไหนได้ มีการเผาสำนักงานที่ดิน เพราะมีการทุจริตกัน แต่ความเดือดร้อนมาตกที่ชาวบ้าน เพราะตอนนี้พอราชการต้องการหลักฐาน ก็ไม่มีมาพิสูจน์สิทธิ แล้วใครจะรับผิดชอบ” นายประเสริฐ กล่าว

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า ชาวบ้านที่นี่มี ส.ค.1 ที่ออกให้เหมือนคนทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ได้เอกสารสิทธิ์กันไปหมดแล้ว เช่น ที่หาดใหญ่ ภูเก็ต บางแห่งเป็นของต่างชาติไปแล้ว แม้กระทั่งที่ดิน สปก.4-01 ซึ่งเป็นที่ป่าเสื่อมโทรมให้ทำการเกษตรยังสามารถออกเป็นโฉนดเพื่อการเกษตรได้แล้ว ถือเป็นความเหลื่อมล้ำ ที่เห็นได้ชัดเจนมาก ๆ

“อยากให้ท่าน สส.ช่วยผลักดันให้มีการยกเลิกกฎหมายป่าไม้ และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาเหรง ในพื้นที่ที่ชาวบ้านทำกินมาก่อน เพื่อปลดล็อคการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินให้กับชาวบ้านที่นี่” นายประเสริฐ กล่าว

ขณะที่ นายจรูญ สังข์ทอง อายุ 70 ปี นำหลักฐาน ใบเสร็จภาษีที่ดินบำรุงท้องที่ หรือ ภ.บ.ท.6 ตั้งแต่ปี 2509-2512 ที่บิดาได้เสียภาษีตามปกติ รวมถึงหลักฐานการขอสงเคราะห์การทำสวนยาง เมื่อปี 2525 ในแปลงที่ดิน ส.ค.1 เช่นเดียวกับชาวบ้านทุกคน ซึ่งรอคอยการมีโฉนดที่ดินมาจากรุ่นสู่รุ่น จนคนที่มีชื่ออยู่ใน ส.ค.1 ก็เสียชีวิตไปจำนวนมากแล้ว ทำให้ในที่สุดอาจไม่มีพยานบุคคลมายื่นขอพิสูจน์สิทธิแล้ว ลูกหลานจะทำยังไง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน