“สสร.มาจากเลือกตั้ง 100%” ประชาชนที่เข้าชื่อผ่าน iLaw ไม่ต้องการ สสร.จากแต่งตั้ง เพราะกลัวได้เนติบริกร อดีต สว. นักร่างรัฐธรรมนูญรัฐประหาร

ที่ไหนได้ ตอนนี้กลายเป็นพรรคร่วมรัฐบาลขวาง สสร.เลือกตั้ง สาเหตุหรือ? กลัวก้าวไกลกินรวบ ไม่เหลือที่นั่งให้พรรคอื่น

พรรครัฐบาลกลัวประชาชนเลือก สสร. เหมือน สส.ปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งแยกรายจังหวัด ก้าวไกลชนะเกินครึ่งประเทศ รองลงมาคือเพื่อไทย รวมไทยสร้างชาติ ประชาชาติ พรรคอื่นไม่มี แม้แต่อุทัยธานี บุรีรัมย์

นักการเมืองบ้านใหญ่จึงร้อง “ฉิบหายแน่” กลัวพวกก้าวไกลเข้าไปร่างรัฐธรรมนูญทำลายการเมืองบ้านใหญ่ เช่น อาจจะเพิ่มสัดส่วน สส.ปาร์ตี้ลิสต์ 300-200 หรือ 350-150

ไม่รู้กลัวทำไม ไหนว่ามาจากเลือกตั้งเหมือนกัน ไหงกลัวอำนาจเลือกตั้งของประชาชน

“ทุกพรรคมาจากเลือกตั้ง จึงเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย”เพื่อไทยพยายามตอกย้ำ หลังตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว

ด้านหนึ่งเพื่ออ้างความชอบธรรม ในการจับมือพรรค 2 ป. ทั้งที่หากอ้างเช่นนั้น รัฐบาลประยุทธ์ก็มาจากเลือกตั้งเหมือนกัน พึ่ง สว.แต่งตั้งเหมือนกัน

อีกด้านหนึ่งก็หวังตอบโต้ “การเมืองดี” ไม่ซื้อเสียงไม่หว่านเงิน แบบก้าวไกล ซึ่งสร้างความหวั่นหวาดให้บรรดา “บ้านใหญ่”

รวมทั้งนายแบกนางแบกเพื่อไทย ที่พยายามปกป้องการเลือกตั้งในชนบท ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ ว่าเป็นการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยเช่นกัน เลือกตั้งๆๆ ไปเถอะ เดี๋ยวดีขึ้นเอง

ความหวั่นหวาดนี้เข้าใจได้ถ้าย้อนมองประวัติศาสตร์ “สองนคราประชาธิปไตย” คนชั้นกลางในเมืองเหยียดการเลือกตั้งในชนบท ชาวบ้านโง่ จน เครียด ถูกซื้อ ไม่เหมือนคนกรุงคนใต้เลือกพรรค “ประชาธิปไตยสุจริต” ซึ่งเป็นฐานคิดให้เกิดม็อบพันธมิตรนกหวีด ออกบัตรเชิญรัฐประหาร 49,57

ผู้รักประชาธิปไตยต่อสู้โต้แย้งมาตลอดว่า การเลือกตั้งในชนบทมีวิวัฒนาการ ไม่ได้เป็นอย่างความเชื่อ 40-50 ปีก่อน ที่ว่าหิ้วกระเป๋าไปอีสานแล้วได้เป็น สส. มันพัฒนาเป็นระบบอุปถัมภ์ ชนชั้นนำท้องถิ่น ผู้รับเหมา หรือแม้แต่ผู้มีอิทธิพล ต้องใส่ใจประชาชนตลอด 4 ปี น้ำท่วม ฝนแล้ง ต้องเข้าถึงทันที เมื่อเข้าไปมีอำนาจก็ต้องหาโครงการถนน สะพาน อ่างเก็บน้ำ ฯลฯ ลงพื้นที่ มีเงินบริจาควัด ชุมชน

เลือกตั้ง 44 พัฒนาเป็นการหาเสียงด้วยนโยบาย “ประชาธิปไตยกินได้” ประชาชนตระหนักว่าเลือกพรรคไปเป็นรัฐบาลทำให้ปากท้องดีขึ้น แม้มี “ติดปลายนวม” บางจุด แต่ก็เหมือนสินน้ำใจค่าเดินทาง ค่าขาดรายได้ โดยเห็นชัดว่าผู้สมัครที่ทุ่มเงินแพ้ ผู้สมัครพรรคนโยบาย ทั้งที่จ่ายน้อยกว่า

นั่นคือสิ่งที่เราต่อสู้ถกเถียงมาตลอด หลังรัฐประหาร 49,57

รัฐประหารตุลาการภิวัตน์อ้างตนเป็นคนดีย์ โทษประชาธิปไตยอุปถัมภ์ทำให้ได้นักการเมืองเลว แต่สิ่งที่ประชาชนเห็นตำตา คือการกวาดต้อนนักการเมืองไปรับใช้ พรรคที่คนชั้นกลางในเมืองเคยร้องยี้ ก็กลายเป็นขุนพลคู่ใจ พรรคอนาคตใหม่ที่ได้รับเลือกมาขาวสะอาดถูกยุบ

รัฐประหารสืบทอดอำนาจเสื่อม นักการเมืองก็เสื่อมเช่นกัน ไม่ได้เสื่อมเพราะมาจากเลือกตั้ง แต่เพราะห้อยโหนรับใช้อำนาจ ร่วมกันขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยืนตรงข้ามการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของคนรุ่นใหม่ ไม่ต่างอะไรกับ 250 สว.

การเมืองบ้านใหญ่ทำลายตัวเองจากการรับใช้รัฐประหาร แทนที่จะอยู่ข้างหลักการประชาธิปไตยซึ่งปกป้องการเมืองบ้านใหญ่

ผลเลือกตั้ง 14 พ.ค. ประเทศไทยเปลี่ยนไปแล้ว ประชาชนไม่ได้โง่ ประชาชนรู้จักเลือก ในเขตเศรษฐกิจใหม่ ก้าวไกลกวาดเกือบเรียบ ในเขตที่ยังต้องพึ่งตัวบุคคล บ้านใหญ่ชนะ แต่คะแนนปาร์ตี้ลิสต์เทให้ก้าวไกล

เห็นชัดว่าประชาชนเบื่อหน่ายนักการเมืองเก่า แม้แต่คนชนบทก็ต้องการ “การเมืองใหม่” “การเมืองดี” ไม่ได้มีแค่คนชั้นกลางในเมือง

ความกลัว สสร.ก้าวไกลนั้นน่าขำ เป็นความกลัวย้อนยุคว่าจะได้ สสร.คนชั้นกลางในเมืองมาเขียนรัฐธรรมนูญทำลายอำนาจเลือกตั้งคนชนบท

ทั้งที่ประเด็นซึ่งก้าวไกลอยากแก้ คือประเด็นที่ใช้ทำลายไทยรักไทย เพื่อไทย เช่น อำนาจองค์กรอิสระ ยุบพรรคตัดสิทธิล้มเลือกตั้ง ประเด็นอย่างกระจายอำนาจ ก็เข้าปากนักการเมืองบ้านใหญ่ เลือกตั้งท้องถิ่นทีไร ก้าวหน้าก้าวไกลแพ้ทุกที

อันที่จริงก้าวไกลก็ไม่ได้อยากกินรวบ พยายามคิดวิธีให้ได้ สสร.เลือกตั้งหลากหลาย แต่พวกประชาธิปไตยบ้านใหญ่ร้อนท้องไปเอง

การเมืองระบบอุปถัมภ์คือความเป็นจริงในระยะเปลี่ยนผ่าน คนชนบทอาศัยพึ่งพิงนักการเมืองต่อสู้ช่วงชิงทรัพยากรจากส่วนกลาง โดยนักการเมืองได้ส่วนต่าง มันไม่ได้เลวร้ายถึงขั้นใช้รัฐประหารทำลายอำนาจเลือกตั้ง

แต่ก็ไม่ควรโรแมนติไซส์ กระทั่งปกป้อง กลัว “การเมืองดี” = เหยียดคนชนบท พยายามทำลาย “การเมืองใหม่” ว่าดัดจริต มีแต่วาทกรรม

คนรักประชาธิปไตยไม่ได้เกลียดนักการเมืองบ้านใหญ่เพราะที่มา แต่เกลียดเพราะคนพวกนี้ยอมจำนน ห่วงผลประโยชน์ รับใช้อำนาจ ไม่กล้าต่อสู้ ให้ประชาชนเสี่ยงออกหน้า แล้วตัวเองชูคอภายหลัง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน