ทุกสิ้นปี สื่อ โพล สำนักต่างๆ จะจัดอันดับเหตุการณ์แห่งปี เซอร์ไพรส์แห่งปี บุคคลแห่งปี วาทะแห่งปี ฯลฯ แต่ปี 2566 นี้ยังสงสัยจะจัดอย่างไร

เพราะเป็นปีที่มีเซอร์ไพรส์ซ้ำซ้อน พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งอันดับ 1 เฮ้ย! มันเป็นไปได้อย่างไร แม้แต่ด้อมก้าวไกลยังอ้าปากค้าง

แต่ไม่ถึง 3 เดือน ก็พลิกผันถึงขั้น “ไปอยู่เกาะ” พรรคเพื่อไทยข้ามขั้วจับมือพรรค 2 ป. โดยเฉพาะพรรคประยุทธ์ แถม 152 สว.พร้อมใจโหวตเศรษฐาเป็นนายกฯ วันเดียวกับที่ทักษิณกลับบ้าน

กาก้าวไกล ประเทศไทยไม่เหมือนเดิมจริงๆ ด้อมส้มเอาไปล้อ “กาก้าวไกล เพื่อไทยไม่เหมือนเดิม”

บุคคลแห่งปีมีตั้งแต่พิธา เศรษฐา ทักษิณ ประยุทธ์ อุ๊งอิ๊ง แล้วแต่จะนิยามว่าเป็นบุคคลด้านไหน

ภาพรวม 2566 จึงเป็นปีแห่งความไม่คาดคิด ไม่มีสื่อ นักวิเคราะห์ หรือหมอดูคนใด ทำนายได้ก่อนเลือกตั้ง เป็นปีที่การเมืองพลิกผันอย่างเซอร์ไพรส์สุดๆ ไม่เคยพบเคยเห็นกันมาก่อน

แต่ขณะเดียวกัน ก็บอกไม่ได้ว่านี่ Peak สุดหรือยัง เพราะตั้งแต่ปี 62-63 อะไรที่ไม่เคยคิดว่าจะเห็น ก็ได้เห็น

เลือกตั้ง 62 เซอร์ไพรส์พรรคอนาคตใหม่ ปี 63 ถูกยุบพรรค ม็อบผุดทุกมหาวิทยาลัย ถัดมาเกิดม็อบคนรุ่นใหม่ ชูสามนิ้ว “แผ่นดินไหวทางวัฒนธรรม” ต่อเนื่องถึงปี 64-65 ชุมนุม-จับ-ปราบ กระทั่งคิดกันว่ากระแสซาไปแล้ว

ที่ไหนได้ พรรคก้าวไกลกวาด สส.อันดับหนึ่ง แม้อีกด้านเป็นเพราะเพื่อไทยพลาดแพ้พรรคอื่นในอีสานร่วม 40 เก้าอี้

“ประเทศไทยเปลี่ยนไปแล้ว” เปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง 14.4 ล้านเสียงต้องการสิ่งใหม่ คนหน้าใหม่ การเมืองใหม่ โดยไม่ได้กังวลว่านี่คือพรรคที่เสนอแก้ไข 112

บางคนอาจมองว่าเป็นแค่การปั่นฟีเวอร์โค้งสุดท้าย พิธาฟีเวอร์ กรีธาทัพเข้ากรุง “แตกแล้ว” ทีละจังหวัด ปฏิบัติการจิตวิทยากดกระแสพรรคอื่น แต่มันไม่ใช่แค่นั้น มันมาจากทั้งผลงานในสภา ความกล้าตรวจสอบทุจริต เวทีดีเบตประชันความคิด ผู้สมัครหนุ่มสาวจากคนธรรมดา

ภูมิทัศน์การเมืองไทยเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่แค่ชั่วคราว ไม่ใช่แค่เบื่อรัฐบาลเก่า ไม่ใช่แค่เอารัฐประหารสืบทอดอำนาจ หากยังเบื่อนักการเมืองเก่า แม้ส่วนใหญ่คนเลือก สส.เขต แต่เทปาร์ตี้ลิสต์ให้ก้าวไกล

ความเปลี่ยนแปลงนี้ แม้กระทั่งผู้ปฏิบัติงานพรรคก้าวไกลยังงง บางจังหวัดไม่ได้ สส.สักคน แต่ได้ปาร์ตี้ลิสต์แสนกว่า ไม่รู้มาจากไหน จะว่าเสื้อเหลืองกลับใจ เสื้อแดงกลายเป็นส้ม หรือม็อบคนรุ่นใหม่ ที่เคยๆ เคลื่อนไหวนับรวมกันได้ไม่ถึงพัน

ยุบพรรคก้าวไกลอีก 3 ครั้ง รุมถล่มโจมตีอย่างไร ก็ยับยั้งไม่ได้ ประชาชนต้องการเปลี่ยนแปลง ต้องการเห็นการเมืองใหม่ คนใหม่ ความคิดใหม่ ไม่ถอยหลังสู่วังวนเดิมๆ

ในอีกด้าน การที่พรรคเพื่อไทยข้ามขั้ว เปลี่ยนจุดยืน จากผู้ถูกกระทำและต่อต้านรัฐประหารสืบทอดอำนาจมายาวนาน 17 ปี ไปทำ Subcontract บริหารประเทศให้ระเบียบอำนาจอนุรักษนิยม ก็เป็นการสิ้นสุดยุคสมัยหนึ่งไปสู่อีกยุคสมัยหนึ่งของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

ระเบียบอำนาจอนุรักษนิยมที่สถาปนาขึ้นหลังรัฐประหาร 2557 หลังรัฐธรรมนูญ 2560 กดเพดานเสรีภาพประชาธิปไตยให้ต่ำกว่าเดิม จนเกิดแรงต้านทะลุเพดาน ขณะที่รัฐบาลประยุทธ์ไร้ประสิทธิภาพบริหาร ทั้งจัดการโควิดและเศรษฐกิจ

เมื่อผลเลือกตั้งออกมา พรรครัฐบาลเดิมย่อยยับ พรรคก้าวไกลถล่มทลาย คะแนนฝ่ายค้าน 26 ล้านเสียง เครือข่ายอำนาจจึงหันมาทำ deal ให้เพื่อไทยเข้าไปเป็นรัฐบาล รับภารกิจทำให้ระเบียบอำนาจที่กดเสรีภาพประชาธิปไตยนี้ “กินได้” เพื่อจะดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงยั่งยืน

โดยอีกด้าน เพื่อไทยบอกประชาชนว่า จะเข้าไปต่อรองให้มีเสรีภาพประชาธิปไตยมากขึ้น แบบที่บางคนเปรียบ “ลงเหวเพื่อสร้างสะพาน”

ทั้งสองภารกิจมีความขัดแย้งในตัวว่า เพื่อไทยจะทำสำเร็จหรือไม่ สำเร็จแง่ไหน ในแง่ที่สามารถต่อรองให้ Compromise หรือในแง่ที่ช่วยให้ระเบียบอำนาจอนุรักษนิยมนี้อยู่ยงยั่งยืน เศรษฐกิจดี คนเลิกสนใจปัญหาเสรีภาพประชาธิปไตย เลิกคิดปฏิรูปโครงสร้าง ทำมาหากินกันไป

อย่างหลังถือว่าสำเร็จหรือไม่ ถ้าทำให้ระเบียบอำนาจอนุรักษนิยม “กินได้” มั่นคงยั่งยืน

ในทางตรงข้ามถ้าเพื่อไทยล้มเหลวในการบริหารประเทศ จะเกิดอะไร ก็เท่ากับล้มเหลวทั้งเพื่อไทยและระเบียบอำนาจ

นี่จึงเป็น Dilemma สำหรับคนที่ต่อสู้ เพราะด้านหนึ่งยังหวังให้เพื่อไทยต่อรองเปลี่ยนแปลงได้บ้าง แต่อีกด้านถ้ารัฐบาลเพื่อไทยพัง ก็แปลว่าระเบียบอำนาจอนุรักษ์เข้าทางตัน

ในสถานการณ์ที่ดูเหมือนนิ่ง จึงมีคลื่นกระเพื่อมอยู่ตลอด แม้ดูเหมือนไม่รุนแรง เพราะรัฐบาลเพิ่งเริ่มบริหารงาน ก็เหมือนมีลูกไฟซ่อนอยู่ข้างล่าง โดยที่พรรคเพื่อไทย “เสียต้นทุนทางการเมืองสูง” ตามคำกล่าวของภูมิธรรม

มองไปข้างหน้า ปี 67 จะเกิดอะไร คำตอบคือตอบไม่ได้ แต่ต้นปี 66 คุณเคยคิดว่าจะเกิดแบบนี้ไหม ต้นปี 62 คุณเคยคิดว่าจะเกิดม็อบปี 63 ไหม

อะไรที่ไม่เคยคิดว่าจะเห็น ยังมีให้เห็นได้อีก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน