การเมืองในปี 2566 ที่ผ่านมา มีครบทุกสถานการณ์ทั้ง ดุ เด็ด เผ็ด มัน ตั้งแต่ต้นปี จวบจนสิ้นปี และบางเรื่องยังต้องจับตาไปไกลถึงปี 2567 เลยทีเดียว

เลือกตั้ง-แลนด์สไลด์พลิก

รายงาน

‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ประกาศยุบสภา 20 มี.ค. ก่อนครบวาระ 3 วัน

เปิดโอกาสให้มีการย้ายพรรคทันภายใน 30 วันก่อนเลือกตั้ง

‘บิ๊กตู่’ สวมบทนักการเมืองเต็มตัว เป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) หากได้คัมแบ๊ก จะเป็นได้อีก 2 ปี เพราะติดล็อกวาระนายกฯ 8 ปี

‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไม่น้อยหน้า เป็นแคนดิเดตนายกฯ หนึ่งเดียวของพรรค

พรรคเพื่อไทย (พท.) เสนอเต็มพิกัด 3 ชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน เจ้าพ่ออสังหาฯ ค่ายแสนสิริ ‘อุ๊งอิ๊ง’น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และนายชัยเกษม นิติสิริ

พรรคอื่นชูหัวหน้าพรรคชิงนายกฯ อาทิ นายอนุทิน ชาญวีรกูล พรรคภูมิใจไทย (ภท.) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล (ก.ก.)

ช่วงหาเสียงแสงสปอตไลต์ส่องไปที่เพื่อไทย ที่ปลุกแลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดินกระหึ่ม

เลือกตั้ง 14 พ.ค. เกิดปรากฏการณ์ด้อมส้มกาก้าวไกลได้สส.เข้าสภา 151 คน และถีบบ้านใหญ่ สอบตกเพียบ

ตามมาด้วยเพื่อไทย 141 คน ภูมิใจไทย 71 คน พลังประชารัฐ 40 คน รวมไทยสร้างชาติ 36 คน เป็นต้น

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

รับผิดชอบแพ้ยับเยิน ได้สส.แค่ 25 คน

ก้าวไกลเสียปธ.สภา

รายงาน

พรรคก้าวไกลได้สส.อันดับหนึ่ง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

18 พ.ค. แถลงมัด 8 พรรคร่วมตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชน

ประกอบด้วย ก้าวไกล เพื่อไทย ประชาชาติ ไทยสร้างไทย เพื่อไทรวมพลัง เสรีรวมไทย เป็นธรรม และพลังสังคมใหม่ รวม 312 เสียง หนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ คนที่ 30

วันถัดมา ก้าวไกล ดึงเพิ่มอีก 2 พรรค คือชาติพัฒนากล้า 2 เสียง แต่เกิดดราม่าจากด้อมส้ม #มีกรณ์ไม่มีกู จนก้าวไกลต้องชิงล้มดีลแค่ชั่วข้ามคืน

พรรคใหม่ 1 เสียง ก็โดนแฟนส้มถล่มปมคิดแก้มาตรา 112 ให้เป็นโทษที่รุนแรงขึ้นหรือโทษประหารชีวิต ซึ่งตรงข้ามกับนโยบายสำคัญของก้าวไกล จนต้องขอถอนตัวออกไป

22 พ.ค. เซ็นเอ็มโอยูรัฐบาล 23 ข้อ ไม่มีเรื่องแก้มาตรา 112 แต่ก้าวไกลจะไปผลักดันในนามพรรคเอง

ด่านแรกก่อนโหวตนายกฯ เป็นการเลือกประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ก็เกิดศึกแย่งเก้าอี้ระหว่างก้าวไกลกับเพื่อไทย

ในที่สุดต้องให้คนกลาง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา จากพรรคประชาชาติ นั่งเก้าอี้ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา สส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล เป็นรองคนที่ 1 นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย รองคนที่ 2

ก้าวไกลยอมเสียประธานสภา เพื่อไปต่อได้

‘พิธา’วืดนายกฯ-พักงานสส.

รายงาน

13 ก.ค. ที่ประชุมรัฐสภาโหวตนายกฯ รอบแรก นายพิธาไม่ผ่านการลงมติ เห็นชอบเพียง 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 คน งดออกเสียง 199 คน

ในจำนวนนี้ได้เสียงสว.ยกมือเห็นชอบแค่ 13 คน เพราะส่วนใหญ่ติดเงื่อนไขที่ก้าวไกลไม่ถอยแก้มาตรา 112

โหวตรอบสอง 19 ก.ค. พรรคร่วมเดิมเสนอชื่อนายพิธา อีกครั้ง แต่ก่อนถึงขั้นตอนโหวต ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์รับคำร้องกกต.ไว้พิจารณาว่าสมาชิกภาพสส.ของนายพิธา สิ้นสุดลงหรือไม่ จากเหตุมีชื่อถือหุ้นสื่อไอทีวี และสั่งพักหน้าที่สส.จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย นายพิธาจึงลุกขึ้นเดินชูกำปั้นอำลาสภาชั่วคราว

ส่วนการโหวตนายกฯ ก็ล่ม มติสภา 395 ต่อ 312 เห็นว่าการเสนอชื่อนายพิธา รอบสอง เป็นญัตติซ้ำ ขัดข้อบังคับการประชุมที่ 41

นายพิธาจึงชวดเป็นนายกฯ

15 ก.ย. นายพิธาลาออกจากหัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดทางเลือกแม่ทัพคนใหม่มาทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้าน

23 ก.ย. พรรคก้าวไกลเลือก นายธวัชชัย ตุลาธน เลขาฯ พรรค เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ และก้าวเป็น ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’

พร้อมขับนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ออกจากพรรค เพื่อไปฝากเลี้ยงไว้ที่พรรคเป็นธรรม

เป็นวิธีเดียวที่จะรักษาเก้าอี้รองประธานสภาไว้

พท.ตั้งรัฐบาลสลายขั้ว

รายงาน

พรรคก้าวไกลตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ จึงส่งไม้ต่อให้พรรคเพื่อไทย ที่มีคะแนนเสียงเป็นอันดับสอง

เพื่อไทยเชิญพรรคขั้วรัฐบาลเดิมมาหาทางออกแก้วิกฤตประเทศ ส่วนใหญ่ แสดงจุดยืนตรงกันไม่ทำงานร่วมกับก้าวไกล ไม่แตะมาตรา 112

จนถูกวิจารณ์ยืมมือพรรคอื่นบีบก้าวไกลให้ถอยไปเป็นฝ่ายค้าน

2 ส.ค. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นำทีมแถลงฉีกเอ็มโอยู กับก้าวไกล

7 ส.ค. พรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย แถลงร่วมกันตั้งรัฐบาล “ขั้วใหม่” 212 เสียงตั้งต้น

ตามมาด้วย ชาติไทยพัฒนา ประชาชาติ ชาติพัฒนากล้า เพื่อไทรวมพลัง พลังสังคมใหม่ เสรีรวมไทย ท้องที่ไทย รวมเป็น 238 เสียง

จากนั้นพรรคเพื่อไทย ดึง ‘พรรค 2 ลุง’ เข้าร่วม พลังประชารัฐ 40 เสียง รวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง ตั้ง “รัฐบาลพิเศษสลายขั้วการเมือง’ ปิดดีล 314 เสียง

22 ส.ค.โหวตนายกฯ รอบสาม นายเศรษฐา ทวีสิน ฉลุยเป็นนายกฯ คนที่ 30

ที่ฝุ่นตลบคือ ขั้วนายเดชอิศม์ ขาวทอง นำสส.ในกลุ่มอีก 15 คน โหวตสวนมติพรรคประชาธิปัตย์ยกมือให้นายเศรษฐา

หวังได้ร่วมรัฐบาลในวินาทีสุดท้าย แต่ก็วืด

ครม.เศรษฐา-แจก1หมื่น

รายงาน

นายเศรษฐารับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ ประกาศ “จะทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย”

รุ่งขึ้น 24 ส.ค.รุดพบ ‘บิ๊กตู่’ ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอคำแนะนำก่อนรับไม้ต่อสุดชื่นมื่น

ถัดไปเป็นการจัดโผครม. พลิกไปพลิกมาหลายตลบ ดีเดย์ 2 ก.ย. คลอดครม. ‘เศรษฐา 1’ โดยนายเศรษฐาควบรมว.คลังเอง

รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา 11-12 ก.ย.

13 ก.ย.ประชุมครม.นัดแรกอย่างเป็นทางการ ทำฮือฮาปรับจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 งวดต่อเดือน เริ่ม ม.ค.2567 แต่ถูกคัดค้านหนักเลยต้องให้เป็นแค่ทางเลือก

ที่ทำตามที่หาเสียงทันที เช่น ลดค่าน้ำ ค่าไฟ พักหนี้เกษตรกร 3 ปี แก้หนี้ทั้งในและนอกระบบ ตั้งนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ เป็นประธานจัดทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ

ส่วนนโยบายใหญ่ ‘แจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท’ ให้ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป

ไทม์ไลน์แจกในเดือน พ.ค.67

‘อุ๊งอิ๊ง’หัวหน้าพท.

รายงาน

รัฐบาลพรรคเพื่อไทยแต่งตั้ง อุ๊งอิ๊ง-น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นรองประธานคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และรองประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ที่มีนายกฯ เป็นประธานทั้งสองชุด

เมื่อเก้าอี้หัวหน้าพรรคเพื่อไทยว่างลงจากการที่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ลาออกที่ผิดสัจจะดึงพรรคลุงเข้าร่วมรัฐบาล

กระแสพุ่งมาที่อุ๊งอิ๊งเป็นเสียงเดียวกัน ในที่สุดเจ้าตัวประกาศพร้อมรับตำแหน่ง

27 ต.ค. พรรคเพื่อไทยจัดการประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่

ที่ประชุมมีมติเลือกอุ๊งอิ๊ง เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งเป็นผู้หญิงคนแรกที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว

มีนายสรวงศ์ เทียนทอง เป็นเลขาธิการพรรค ส่วนกรรมการบริหารพรรคเป็นคนรุ่นใหม่แทบทั้งสิ้น

น.ส.แพทองธาร ประกาศจุดยืน “ตายังคงดูดาว เท้ายังคงติดดิน”

ขณะที่นายเศรษฐา อวยพรน.ส.แพทองธารว่า

“เป็นนายกฯ ต่อได้สบายๆ”

‘ทักษิณ’กลับไทย

รายงาน

ครั้งแรกในรอบ 17 ปี ที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กลับสู่ประเทศไทย หลังหนีคดีไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ ตั้งแต่ หลังการรัฐประหาร 2549

นายทักษิณเคยประกาศกลับไทยถึง 20 ครั้ง แต่ไม่ได้กลับมาจริง

กระทั่ง 19 ส.ค.66 ‘อุ๊งอิ๊ง’ ลูกสาวคนเล็ก ยืนยันผ่านไอจีว่าพ่อจะกลับไทย

09.00 น. วันที่ 22 ส.ค. เครื่องบินส่วนตัวของทักษิณ ที่ออกจากสิงคโปร์ ลงจอดสนามบินดอนเมือง

09.30 น.นายทักษิณออกมาหน้าอาคารผู้โดยสาร อากาศยานส่วนบุคคล เข้าถวายบังคมที่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 10

เสร็จแล้วโบกมือทักทายคนเสื้อแดงที่มาต้อนรับ ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม โดยมีลูกทั้ง 3 คนมารับด้วย

จากนั้นนั่งรถไปรับหมายที่ศาลฎีกา ก่อนเข้าสู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

กลางคืนมีการย้ายตัวไปโรงพยาบาลตำรวจ เหตุป่วยกะทันหัน

พักรักษาตัวที่ชั้น 14 จนถึงวันนี้

ปชป.ในมือ‘เฉลิมชัย’

รายงาน

หลังนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่ช่วงค่ำ 14 พ.ค.ที่ผลเลือกตั้งพ่ายแพ้หลุดลุ่ย

ภายในพรรคแตกเป็น 2 ฝ่ายชัดเจน ขั้วหนึ่งยึดอุดมการณ์เหนียวแน่น อีกขั้วเป็นกลุ่มนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการหัวหน้าพรรค ที่ขับเคลื่อนโดยนายเดชอิศม์ ขาวทอง ที่พยายามนำพรรคเข้าร่วมรัฐบาลเพื่อไทย

การจัดประชุมเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ล่มไม่เป็นท่าถึง 2 ครั้ง

9 ธ.ค. เลือกรอบสาม มีมาดามเดียร์-น.ส.วทันยา บุนนาค ลงชิงหัวหน้าพรรค ส่วนขั้วนายเดชอิศม์ แก้เกมด้วยการนำ 21 สส.หนุนนายเฉลิมชัย มาเสียบแทนนายนราพัฒน์ แก้วทอง ที่ต้องล่าถอยออกไปโดยปริยาย

ส่วนนายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรคเสนอชื่อมาร์ค-นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค กลางวงประชุม

‘มาร์ค’จึงขอปิดห้องคุยกับนายเฉลิมชัย สองต่อสอง ก่อนออกมาขอถอนตัวบนเวทีพร้อมลาออกจากสมาชิกพรรค ส่วนมาดามเดียร์ ก็ไม่ผ่านด่านเข้าโหวตชิงเก้าอี้

นายเฉลิมชัย ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9

สมาชิกแห่ทยอยลาออกตาม ‘มาร์ค’ เป็นสายน้ำ รับไม่ได้ที่ผู้นำเสียสัจจะ เพราะประกาศเลิกเล่นการเมืองไปก่อนหน้านี้แล้ว

ต้องจับตาอนาคตปชป.ในกำมือ‘เฉลิมชัย’

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน