ศิริกัญญา อัดรัฐบาล ‘เศรษฐา’ ไม่เห็นวิกฤตปัญหารอบด้าน แซะไม่คุ้นชินบริหารราชการแผ่นดิน เพราะบริหารแต่เอกชน ชี้จัดงบฯ เอาใจ ขรก.ประจำ มากกว่าทำตามนโยบาย ผิดหวังเพิ่มงบกองทัพ ทั้งที่บอกจะลด

เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2566 ที่พรรคก้าวไกล น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงความพร้อมในการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ว่า พรรคก้าวไกลได้ศึกษาวิเคราะห์งบประมาณ โดยตั้งธีมอภิปรายไว้ว่า “วิกฤตแบบใด? ทำไมถึงจัดงบแบบนี้”

ก่อนจะเข้าสู่อำนาจ พรรคเพื่อไทยได้อ้างถึง 3 วิกฤต ได้แก่ วิกฤตเศรษฐกิจปากท้อง วิกฤตรัฐธรรมนูญ วิกฤตความขัดแย้ง รวมถึงวิกฤตอื่นๆ ที่สังคมเห็นตรงกัน เช่น วิกฤตการศึกษา วิกฤตทรัพยากรมนุษย์ วิกฤตสิ่งแวดล้อม PM2.5 เมื่อศึกษาและวิเคราะห์งบประมาณ กลับไม่เห็นการจัดงบที่ตอบสนองกับวิกฤตที่เกิดขึ้น และยังมีงบที่ไม่เหมาะไม่ควรอยู่ ทั้งยังมีงบบางอย่างที่หายไป

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เราต้องการเห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เราไม่เห็นโครงการที่กระตุ้นเศรษฐกิจเลย โดยเฉพาะโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ไม่อยู่ในงบปี 67 แต่ต้องไปรอลุ้น พ.ร.บ.กู้เงิน ด้านวิกฤตรัฐธรรมนูญ ตั้งงบประชามติไว้แค่ครึ่งประชามติ ไม่เพียงพอ

รัฐบาล จึงจำเป็นต้องรับมรดกหนี้จากรัฐบาลที่แล้ว ทั้งหนี้สาธารณะ ต้องใช้เงินคงคลัง เนื่องจากรัฐบาลที่แล้วตั้งงบไว้ไม่เพียงพอ เช่น งบบุคลากรเงินเดือนข้าราชการในปี 65 และ 66 ซึ่งตั้งไว้ไม่พอ ตอนนี้ต้องใช้หนี้เงินคงคลัง 120,000 ล้านบาท รัฐบาลชุดนี้ จึงต้องใช้หนี้รัฐบาลชุดก่อนที่ผ่อนดาวน์ไว้ 400,000 ล้านบาท เราก็เห็นใจ แต่งบที่สามารถจัดสรรได้เอง กลับไม่เห็นความพยายามขับเคลื่อนนโยบายที่ได้หาเสียงไว้เลย

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า น่าผิดหวังที่ในปี 67 มีโครงการใหม่แค่ 200 โครงการ จากทั้งหมด 2,000 โครงการ ซึ่งมีมูลค่าเพียง 13,000 ล้านบาท งบฉบับนี้เป็นการใช้หนี้มรดกของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ไม่สะท้อนถึงความพยายามจัดสรรงบเพื่อขับเคลื่อนงบของตนเอง งบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากรัฐบาลเดิม จึงขอตั้งข้อสังเกตไว้ว่าระยะเวลา เป็นหนึ่งปัจจัยที่ไม่สามารถใส่โครงการใหม่ได้ แต่งบฉบับนี้มีการแก้ไขปรับปรุงตลอดเวลา

ดังนั้น หากเตรียมการล่วงหน้าหรือเขียนโครงการเอาไว้แล้ว ถึงเวลาจัดสรรงบก็ใส่ไปได้เลย แม้งบปี 67 จะมีการปรับปรุงไปแล้ว 1 ครั้ง แต่เป็นการลดหนี้ลดเงินที่ต้องชำระหนี้ ธ.ก.ส. 20,000 ล้านบาท ไปเพิ่มในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 15,000 ล้านบาท และเพิ่มกองทุน SMEs อีก 5,000 ล้านบาท ดังนั้นจะบอกว่าเวลาน้อยปรับปรุงไม่ทันก็ฟังไม่ค่อยขึ้น

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่ารัฐบาลชุดนี้ยังไม่คุ้นชินกับการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะคุ้นชินกับการบริหารบริษัทเอกชน จึงยังไม่สามารถขับเคลื่อนข้าราชการให้ทำตามที่มอบหมายไว้ได้ นอกจากนี้การเข้าสู่อำนาจของรัฐบาล จึงเป็นผลให้ต้องประนีประนอมกับพรรคร่วมรัฐบาลและหลายฝ่าย โดยโครงการเรือธง เช่น ขึ้นค่าแรง และการแจกแท็บเล็ต ก็ไปอยู่ในมือของพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนได้

ทั้งนี้ งบประมาณของกระทรวงกลาโหม ถือเป็นสิ่งที่น่าผิดหวัง ก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ว่าจะตัดลบงบประมาณลง 10เปอร์เซนต์ แต่ปี 67 งบเพิ่มขึ้น 2 เปอร์เซนต์ ขณะที่กระทรวงมหาดไทย สัดส่วนงบประมาณเยอะเนื่องจากต้องจัดงบเพื่อกระจายอำนาจสู่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงศึกษาธิการ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการปรับปรุงเงินอุดหนุนต่าง ๆ

“เราคาดหวังมาก เพราะนี่เป็นในรอบ 9 ปี ที่ได้เปลี่ยนผู้นำรัฐบาล คาดหวังว่ารัฐบาลจะได้จัดสรรงบแบบใหม่เพื่อให้เราขับเคลื่อนนโยบายที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน ปีนี้ขึ้นปีที่ 10 เราก็ยังเจองบประมาณแบบเดิมอยู่”

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า สำหรับโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต เป็นห่วงว่าจะไม่ได้ทำ ต้นปีหน้า คณะกรรมการกฤษฎีกาน่าจะให้ความกระจ่างว่าจะทำได้หรือไม่ การเอาไข่ไปไว้ในตะกร้าเดียว ฝากความหวังการกระตุ้นเศรษฐกิจไว้ที่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเพียงโครงการเดียว และเอาออกไปอยู่นอกงบประมาณรายจ่ายประจำปี หากทำไม่ได้ งบสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจ จะมีเพียงงบกลางเท่านั้น ซึ่งในงบกลางมีการจัดสรรไว้ไม่เพียงพอ มีหลายรายการที่ตั้งไว้ไม่เพียงพอ ก็ต้องมาใช้งบกลางอีก เช่น งบอุดหนุนรถยนต์ EV ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องวางแผนล่วงหน้าให้ดีกว่านี้

กรอบเวลาการอภิปรายงบ จะตกลงเวลากับพรรคร่วมฝ่ายค้านอีกครั้ง ตอนนี้รอให้พรรคประชาธิปัตย์ทำการบ้านเสร็จ ก็จะจัดคิวการอภิปราย เราอยากให้คนที่พูดเรื่องเดียวกัน อภิปรายใกล้ๆ กัน รัฐมนตรีจะได้ฟังและตอบทีเดียว เพราะไม่อยากให้รัฐมนตรีมาตอบทีละคำถาม โดยขุนพลของพรรคก้าวไกล 33 คน ไม่มีใครอภิปรายเรื่องซ้ำกัน แต่ละคนอภิปรายเชิงประเด็น ไม่ใช่อภิปรายเป็นรายกระทรวง เรื่องหนึ่งที่ สส.คนหนึ่งพูดต้องมีรัฐมนตรีหลายคนเข้ามานั่งฟัง ไม่ใช่นั่งฟังเฉพาะกระทรวงตนเอง

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า การอภิปรายงบประมาณจะเปิดด้วยภาพรวมเศรษฐกิจ ตามมาด้วยวิกฤตเศรษฐกิจเพราะประชาชนเฝ้ารอว่า รัฐบาลที่ขึ้นชื่อว่าเก่งในด้านบริหารเศรษฐกิจ จะทำให้เศรษฐกิจประเทศนี้โตได้อย่างไร จากนั้นจะอภิปรายเรื่องวิกฤตความขัดแย้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ วิกฤตกองทัพ วิกฤตการศึกษา วิกฤตทรัพยากรมนุษย์ และงบประมาณ ซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งต้องดูรายละเอียดประกอบกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อจัดเวลาอภิปรายอีกครั้ง

สำหรับการศึกษางบประมาณปี 67 ที่มีเวลาน้อยเพียง 7 วันและคาบเกี่ยวช่วงปีใหม่ ตามปกติสส.ต้องไปพบประชาชนในพื้นที่ จำเป็นจะต้องยกเลิกนัดหมายไป เป็นความฉุกละหุกที่เกิดขึ้น ทำให้เรามีเวลาน้อยและต้องทำงานให้หนักขึ้น รับรองว่าพรรคก้าวไกลจะไม่ทำให้ผิดหวัง วิเคราะห์งบอย่างแหลมคม ตรงไปตรงมา และมีประสิทธิภาพ

ส่วนที่มีหลายฝ่ายวิจารณ์ว่าไม่จำเป็นต้องแปลงเป็นไฟล์ Excel สำนักงบประมาณของรัฐสภาทำแดชบอร์ดอยู่แล้ว แต่มีข้อมูลลึกถึงเพียงระดับหน่วยงานเท่านั้น ไม่มีรายละเอียดรายโครงการ เพราะปีศาจจะอยู่ในรายละเอียด

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เวทีงบประมาณก็คือเวทีงบประมาณ ไม่ใช่เวทีซักฟอก เวทีงบประมาณถือเป็นเวทีแถลงนโยบาย 1 ปีของรัฐบาล ตอนเริ่มต้นรัฐบาลได้มาแถลงนโยบายภาพรวม 4 ปี แต่การแถลงงบ ถือเป็นการแถลงนโยบายในวาระ 1 ปี ดังนั้น เราจะเจาะ จะคุ้ย และวิพากษ์ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายและการบริหารเท่านั้น จะซักฟอกเฉพาะโครงการที่มีโอกาสเกิดคอร์รัปชั่น แต่ไม่ใช่หลักใหญ่ใจความในการอภิปราย

ขอฝากถึงรัฐบาลให้ใส่ใจรายละเอียดในงบประมาณอย่าเพียงแค่อนุมัติ เพราะหลายเรื่องมีความสำคัญจำเป็นกับประชาชน หากตัดสินใจพลาดไปผลกระทบจะเกิดขึ้นตามมา รัฐบาลอาจให้ความไว้ใจกับข้าราชการประจำ จึงมีการจัดสรรงบประมาณแปลก ๆ ตามใจข้าราชการมากกว่าขับเคลื่อนนโยบายที่ได้สัญญาไว้กับประชาชน

ทั้งนี้ ในชั้นกรรมาธิการ คงมีงบบางเรื่องที่ต้องจัดสรรใหม่ ให้โครงการที่มีความจำเป็น ยกตัวอย่างโครงการส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใสในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของกรมบัญชีกลาง ซึ่งถูกตัดงบเหลือ 0 บาท เราก็จะหยิบยกโครงการที่ถูกปัดตกโดยสำนักงบประมาณขึ้นมาพิจารณาใหม่ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน