พริษฐ์ ชวนผ่าตัดหัวใจงบการศึกษา ฉะ จัดงบไม่แก้วิกฤต ชงผ่าตัดใหญ่-ปฏิรูปกระทรวง แนะ เพิ่มงบอุดหนุนเด็กยากจน ที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา

เมื่อวลา 12.55 น. วันที่ 5 ม.ค. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ต่อเนื่องเป็นวันสุดท้าย

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายว่า ตนเชื่อว่าสส.ทุกคนในที่นี้ และประชาชนทุกเฉดสีเห็นตรงกันว่า เป็นวิกฤตจริงและเป็นวิกฤตลำดับต้นๆ คือ วิกฤตด้านการศึกษา ซึ่งผลการประเมินระบบการศึกษาหรือ PISA ได้ตอกย้ำ 3 วิกฤตการศึกษาไทยที่เรื้อรัง ได้แก่ 1.วิกฤตสมรรถนะ คือ เด็กไทยมีทักษะสู้ต่างชาติไม่ได้ และลดลงมาเป็นอันดับที่ 60 จาก 70 กว่าประเทศ

2.วิกฤตความเหลื่อมล้ำที่เด็กไทยมีโอกาสทางการศึกษาไม่เท่ากัน และ 3.ความเป็นอยู่ คือ นักเรียนไม่มีความสุขในโรงเรียน ซึ่งไทยอยู่ในลำดับต้นๆ เรื่องความทุกข์ของนักเรียนไทย และมีความรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยในโรงเรียนเป็นอันดับ 4 ของโลก

“ที่พูดเช่นนี้ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษา แต่หากเราไม่เร่งจัดการการจัดสรรทรัพยากร วิธีการใช้เงิน เราจะเพิ่มงบประมาณอีกกี่ล้านบาท เราจะทอดผ้าป่าด้านการศึกษาอีกกี่ครั้ง ก็แก้ปัญหาด้านการศึกษาในประเทศนี้ไม่ได้ เหมือนคนไข้ที่มีปัญหาด้านหัวใจ จะเพิ่มเลือดให้เขาเท่าไหร่ก็ไม่สามารถช่วยชีวิตเขาได้ หากเราไม่ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจเขา” นายพริษฐ์ กล่าว

นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า วันนี้ตนจึงชวนทุกคนมาร่วมผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจที่มีชื่อว่างบประมาณด้านการศึกษา ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 4 ห้องตามประเภทการใช้จ่าย หัวใจห้องที่ 1 มีชื่อว่า งบบุคลากร เป็นห้องที่ใหญ่ที่สุด มีขนาด 64% ห้องที่ 2 ชื่อ เงินอุดหนุนนักเรียน มีขนาด 26% โดยครอบคลุมถึงการเรียนฟรี 15 ปีหรือโครงการ กศศ.

ห้องที่ 3 ห้องงบลงทุน ที่ครอบคลุมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ห้องเรียนต่างๆ มีขนาด 4% และห้องที่ 4 งบนโยบาย มีขนาด 6% แม้ปีนี้จะมีงบประมาณเพิ่มมา 1,000 กว่าล้านบาท แต่จะเห็นความพยายามที่รัฐบาลลดงบลงทุนลง เพื่อไปเติมให้ห้องอื่น โดยเฉพาะห้องงบอุดหนุนนักเรียน ซึ่งหากจะดูแค่นี้ไม่เพียงพอ เพราะปีศาจอยู่ในรายละเอียดเสมอ

นายพริษฐ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับห้องงบนโยบายนั้น เป็นห้องที่รัฐบาลมีอำนาจในการปรับเปลี่ยนการจัดสรรหรือออกแบบงบประมาณใหม่ได้ทันที โดยงบในส่วนนี้ถูกกระจายไปให้โครงการต่างๆ ในลักษณะเป็นเบี้ยหัวแตก ตนเห็นด้วยที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาการศึกษา

แต่วันนี้ที่ท่านมาของบจากสภาฯ ตนต้องขอให้รับประกัน 2 อย่าง คือ การพัฒนาแพลตฟอร์มจะไม่ทำซ้ำซ้อนกันในแต่ละหน่วยงาน และกระบวนการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับจัดทำแพลตฟอร์มจะดำเนินการโปร่งใส บริษัทที่จะเข้ามาพัฒนาแพลตฟอร์มต้องถูกคัดเลือกจากผลงานและความคุ้มค่าจากสิ่งที่เสนอ ไม่ใช่ความสัมพันธ์ใกล้ชิดของผู้บริหาร

ส่วนปัญหาที่เจอในงบส่วนนี้ คือ โครงการที่ไม่ควรมีแต่ยังมีต่อ เช่น โครงการรวมมิตรความดี ที่ทำให้เด็กจบออกมาเป็นคนดี เกี่ยวข้องกับจริยธรรม คุณธรรม ซึ่งปีนี้เพิ่มขึ้นมา 160 ล้านบาท ทั้งนี้ ไม่ใช่ตนต่อต้านการสร้างศีลธรรม สุจริต แต่ต้องทบทวนในประเด็นที่เป็นปัญหาเกี่ยวข้อง เช่น แป๊ะเจี๊ยะ ไม่ลงโทษครูที่ทำผิดจริยธรรมหรือกฎหมาย เป็นต้น

นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า ส่วนห้องงบลงทุนที่ตนกังวล คือ ใช้เกณฑ์อะไรที่จะปรับงบลงทุนส่วนไหน และใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสินว่า จังหวัดไหนจะได้งบมากกว่าหรือน้อยกว่า แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าจังหวัดไหนที่มี สส.เขต มาจากพรรคเดียวกับรัฐมนตรีจึงได้งบสูงถึง 24%

แต่จังหวัดที่ไม่มี สส.เขต ที่มาจากพรรคเดียวกับรัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวงศึกษาจึงได้งบน้อยกว่า ตนหวังว่าการพิจารณาให้งบแต่ละจังหวัดจะอยู่บนพื้นฐานความเดือดร้อนของนักเรียน โดยไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลตอบแทนกันทางการเมือง

สำหรับห้องเงินอุดหนุนนักเรียนนั้น เป็นเรื่องน่ายินดีที่รัฐบาลจัดสรรงบในส่วนนี้มากขึ้นถึง 5.2% แต่ก็ยังห่างไกลจากการศึกษาที่ฟรีจริง เพราะใน 100 บาทที่รัฐบาลให้นั้นเป็นเงินของรัฐบาล 70 บาท และผู้ปกครองยังต้องจ่ายเพิ่มอีก 30 บาท จึงมีข้อเสนอ 3 อย่าง คือ 1.เพิ่มเงินอุดหนุนให้นักเรียนที่มีความเสี่ยงสูงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา

2.การตัดค่าใช้จ่ายด้านศึกษาที่ไม่จำเป็นออกไป เพื่อลดภาระผู้ปกครอง เช่น การลดการบังคับใส่ชุดลูกเสือเนตรนารี และ 3.ปรับวิธีการใช้งบอุดหนุนไปที่โรงเรียน ส่วนห้องงบบุคลากรนั้น ควรแก้ปัญหาเรื่องครูกระจุก และแก้ปัญหาอำนาจกระจุก โดยการปฏิรูปกระทรวง เพื่อให้การทำงานที่ซ้ำซ้อนลดน้อยลงมา และกระจายอำนาจสู่สถานศึกษาอย่างเต็มที่

“ย้ำว่าการแก้วิกฤตการศึกษาต้องผ่าตัดโครงสร้างใหญ่ คือ เรื่องบุคลากร คืนครูให้ห้องเรียน รวมถึงปฏิรูปโครงสร้างกระทรวงลดความซ้ำซ้อนและกระจายอำนาจ จัดทำหลักสูตรการศึกษาใหม่ กระจายงบลงทุนด้านการศึกษาให้กับจังหวัด

ขณะที่เงินอุดหนุนนั้นต้องเพิ่มให้กับเด็กยากจนที่มีแนวโน้มหลุดจากการศึกษา วิกฤตการศึกษาที่เผชิญแก้ไม่ได้จากการจัดงบประมาณแบบเดิมๆ แต่ต้องผ่าตัดใหญ่ รื้อโครงสร้าง โดยไม่ต้องรอให้พรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลเพื่อสร้างอนาคตที่ดีให้ลูกหลาน” นายพริษฐ์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน