“วิโรจน์” ซัด รัฐบาล จัดงบไม่ตรงวิกฤตการศึกษา ลดเป้าควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก แต่กลับของบเท่าเดิม ลั่น ไม่เห็นด้วยร่าง พ.ร.บ.งบ 67

เมื่อเวลา 13.35 น. วันที่ 5 ม.ค. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ต่อเนื่องเป็นวันสุดท้าย

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายงบของกระทรวงศึกษาธิการ วิกฤตการศึกษาไทยกับการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ว่า ที่ผ่านมาจนถึงปีงบประมาณ 2567 กระทรวงศึกษาธิการไม่เคยคิดที่จะแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กอย่างจริงจัง เหมือนการป่วยเป็นโรคร้ายแต่ให้กินแค่ยาพารา ปล่อยให้ลุกลามแล้วตายไปเองตามยถากรรม

การควบรวมโรงเรียนไม่เคยสำเร็จตามเป้าหมาย แถมมีแนวโน้มว่าจะควบรวมน้อยลงเรื่อยๆ ราวกับว่าจะไม่แก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กแล้ว จากปี 63 มีเป้าที่จะควบรวม 400 แห่ง แต่ทำได้แค่ 169 แห่ง ในปี 64-66 มีการปรับเป้าหมายลงมาอีกเหลือ 350 แห่ง แต่ควบรวมได้ไม่มาก

แต่มาปี 67 ปรับเป้าหมายเหลือเพียง 200 แห่ง หากพิจารณาจากงบแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่มีความสำคัญ ซึ่งเอาไว้จ่ายค่าพาหนะ จ่ายค่าบริหารจัดการรถโรงเรียนให้กับโรงเรียนที่ถูกควบรวม อยู่ที่ 270-286 ล้านบาท แต่ในปี 67 นั้นงามไส้ ปรับเป้าหมายลงแล้วแต่ยังกล้าของบเท่าเดิม แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าจะแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก งบบริหารจัดการจะต้องมากกว่าหลักร้อยล้านอยู่แล้ว

ดังนั้น เป็นไปไม่ได้ที่งบหลักร้อยล้านจะเอาไปแก้ปัญหาวิกฤตนี้ได้ และนี่จึงสะท้อนได้ว่า รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ไม่ได้มองปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กเป็นวิกฤต เรียกว่าไม่ได้ให้ความสำคัญเลย นอกจากจะควบรวมโรงเรียนไม่ได้ตามเป้าแล้ว ยังจะไปสร้างข้อพิพาทกับคนในชุมชนอีก

ต้องยอมรับว่าโรงเรียนมีความผูกพันกับวิถีของชุมชน เพราะโรงเรียนบางแห่งเกิดขึ้นจากบรรพบุรุษสร้างมากับมือ โรงเรียนไหนถูกควบรวมก็ถูกปล่อยทิ้งร้าง ไม่มีแผนการถ่ายโอนให้กับท้องถิ่น ไม่มีงบสนับสนุนเพื่อนำสถานที่ไปใช้ในการอื่น เพื่อให้เกิดประโยชน์กับชุมชน

นายวิโรจน์ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการรู้อยู่แก่ใจว่าทางออกเรื่องนี้ไม่ใช่การจ่ายค่าชดเชยยานพาหนะ แต่ต้องเป็นการจัดรถโรงเรียน เพื่อให้เด็กทุกคนที่อยู่ไหนจังหวัดนั้นสามารถเดินทางไปโรงเรียนที่ตอบโจทย์ของเขาได้ และทำควบคู่กันไป คือ การถ่ายโอนโรงเรียนที่ควบรวมให้กับท้องถิ่น พร้อมกับจัดงบอุดหนุน อาจจะเป็นแห่งละ 1 ล้านบาท เพื่อให้ท้องถิ่นนำงบนี้ไปปรับปรุงสถานที่

แต่ถ้ายังควบรวมตามยถากรรม ตนคำนวณว่าเราจะใช้เวลาในการแก้ปัญหานี้ถึง 91 ปี และต้องถูกผลการทดสอบ PISA ประจานประเทศไปในเวทีโลกอย่างน้อย 30 ครั้ง ถ้าเราไม่กล้าหาญและบอกปัญหาตรงๆ เพราะถ้าเราไม่ยอมแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กจริงๆ เราจะไม่มีวันยกระดับการศึกษาของไทยได้เลย ด้าน TDRI ก็ยืนยันว่า เหตุที่ PISA เราตกต่ำมาจากโรงเรียนขนาดเล็ก

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า มีการศึกษาและพบว่าโรงเรียนขนาดเล็กมีต้นทุนในการบริหารจัดการสูงกว่าโรงเรียนขนาดกลางที่ 13,600 บาทต่อคนต่อปี ถ้าเราแก้ปัญหานี้ได้ เราจะประหยัดงบได้ถึงปีละ 12,985 ล้านบาท และเมื่อเอามารวมกับการปรับลดงบแผนงานและงบรายจ่ายอื่น รัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน จะทวีสินแน่นอน เพราะจะมีเงินจัดสรรได้ใหม่ถึง 15,102 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารัฐบาลชุดนี้บอกกับประชนว่า ประเทศอยู่ในภาวะวิกฤตในมิติการศึกษา แต่ตนก็ยอมรับว่าวิกฤตจริงๆ แต่ทำไมจัดงบออกมาเช่นนี้ งบแบบนี้เหมือนกำลังบอกให้พ่อแม่ทุกคนยอมให้ลูกหลานของตัวเองเรียนหนังสือแบบเดิมๆ ในระบบการศึกษาที่สิ้นหวัง ยอมจำนนให้กับอำนาจนิยมกดขี่ ยอมให้ลูกหลานเรียนหลักสูตรที่ไม่ได้ปรับปรุงที่เป็นหลักสูตรล้างสมอง

“สุดท้ายเด็กๆ เติบโตมาเป็นคนที่ไม่กล้าคิดไม่กล้าฝัน ไม่กล้าตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจ เป็นเหมือนบ่าวไพร่ที่ทำงานตามนายสั่งในประเทศที่ต้องคำสาปแห่งนี้ และนี่คือเหตุผลที่ผม วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ตายกลายเป็นเถ้าถ่านอย่างไร ก็ยังเป็นวิโรจน์ที่ไม่สามารถเห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.งบฯปี 67 ฉบับนี้ได้” นายวิโรจน์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน