‘ผบ.นรด.’ เช็กความพร้อม ค่ายเขาชนไก่ รับนศท. กว่า 7 หมื่นคน เน้นปลอดภัย สร้างความมั่นใจในการฝึกภาคสนาม ย้ำ ไม่ลงโทษเกินกว่าเหตุ

เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2567 ที่ค่ายฝึกนักศึกษาวิชาทหาร (นศท.) เขาชนไก่ จ.กาญจนบุรี พล.ท.ทวีพูล ริมสาคร ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (ผบ.นรด.) เป็นประธานการประกอบพิธีทางศาสนาและบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ภายในค่ายฝึกนักศึกษาวิชาทหารเขาชนไก่ และเปิดกองอำนวยการฝึกภาคสนามนักศึกษาวิชาทหาร

พร้อมกันนี้ได้นำเตรียมความพร้อม ใน 5 มาตรการความปลอดภัยในการฝึกนักศึกษาวิชาทหาร เพื่อสร้างความมั่นใจและคลายความกังวลให้แก่ผู้ปกครอง จากนโยบายการฝึกภาคสนามและข้อห่วงใยของผู้บังคับบัญชาที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัย ของ นศท. เป็นอันดับแรก

หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) จึงได้กำหนดมาตรการหลัก 5 ประการ ในการฝึกภาคสนาม นศท. ประจำปีการศึกษา 2566 นี้ ซึ่งจะมี นศท. ชั้นปีที่ 2-3 จากส่วนกลาง และ นศท. ชั้นปีที่ 4-5 จากทั่วประเทศ เข้ารับการฝึก ณ ค่ายฝึก นศท. เขาชนไก่ มากกว่า 72,000 คน

มาตรการด้านที่ 1 ความปลอดภัยในการเคลื่อนย้าย จัดรถโดยสารรับ-ส่ง นศท. จาก กทม. ไป-กลับค่ายฝึกเขาชนไก่ กว่า 1,900 เที่ยว โดยมีวันที่มากที่สุดถึง 63 คัน รถโดยสารทุกคันได้มาตรฐาน มีประสิทธิภาพ ผ่านการประมูลแบบ e-bidding ตามข้อสัญญาในหลักเกณฑ์ที่กำหนดตรวจสภาพความพร้อมของพนักงานขับรถและรถโดยสาร ให้พร้อมและปลอดภัยในการใช้งาน โดยจัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบก่อนออกเดินทางในช่วงเช้าของทุกวัน

จัดเจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนย้ายประจำอยู่บนรถโดยสารทุกคัน เพื่อกำกับดูแลในระหว่างการเคลื่อนย้ายให้เกิดความปลอดภัย จัดให้มีแผนเผชิญเหตุในกรณีต่างๆ และได้ทำการฝึกทบทวนการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้กับเจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนย้าย และขอรับการสนับสนุนชุดปฐมพยาบาลขบวนละ 1 ชุด กรณีเกิดเหตุเจ็บป่วยระหว่างการเดินทาง โดยมีแผนบรรทุก นศท. จำนวน 42 คน ต่อคัน

จัดรถนำขบวนจาก มทบ.11 และ มทบ.17 ร่วมกับตำรวจทางหลวง และตำรวจภูธรจังหวัด และตำรวจภูธรอำเภอ ในแต่ละพื้น เพื่ออำนวยความสะดวก ควบคุมระยะต่อและจำกัดความเร็วของขบวนรถ ตลอดเส้นทางทั้งไปและกลับ

มาตรการด้านที่ 2 การให้บริการทางการแพทย์ จัดทำบัตรข้อมูลประจำตัว นศท. ให้พกติดตัวไว้ที่กระเป๋าเสื้อด้านขวาตลอดเวลาที่เข้ารับการฝึก (ชื่อ-สกุล อายุ หมู่เลือด โรคประจำตัว ยาที่แพ้ หมายเลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ผู้ปกครอง และ เพื่อนสนิท) เพื่อสามารถช่วยเหลือ นศท. ที่เจ็บป่วยหรือบาดเจ็บได้อย่างรวดเร็ว

จัดเจ้าหน้าที่เสนารักษ์ประจำอยู่กับ นศท. ทุกกองร้อย และมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายการแพทย์ พร้อมยาและเวชภัณฑ์ประจำกองอำนวยการฝึกฯ พร้อม 24 ชั่วโมง รวมทั้งยังได้ดำเนินโครงการ “นักศึกษา วิชาทหารปลอดภัยจากการฝึก” ของกรมแพทย์ทหารบก โดยได้รับการสนับสนุนจากโรงพยาบาลค่ายสุรสีห์ และโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา ที่อยู่ในพื้นที่

ติดสัญลักษณ์ ผูกโบว์สีแดงแขนเสื้อด้านขวา เพื่อให้ครูฝึกได้สังเกตและเฝ้าระวัง นศท. ที่มีความเสี่ยง เช่น เป็นโรคอ้วน หรือมีโรคประจำตัว ความปลอดภัยจากโรคลมร้อน โดยได้อบรมครูฝึกทุกนาย ให้มีความรู้และทักษะพื้นฐานในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคลมร้อน

รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้ นศท. โดยการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ทางสื่อโซเชียลก่อนเข้ารับการฝึก และจัดการอบรม เพื่อให้ นศท. รู้ถึงวิธีการป้องกันตนเอง วิธีการสังเกตอาการ และวิธีการปฏิบัติเมื่อตนเองหรือเพื่อนๆ มีอาการของโรคลมร้อน

พร้อมกำหนดให้เจ้าหน้าที่ส่วนปกครองเน้นย้ำให้ นศท.ทุกนาย ให้ความสำคัญกับการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และสังเกตสีปัสสาวะของตนเองทุกวัน รวมทั้งกวดขันให้ นศท. เติมน้ำให้เต็มกระติกก่อนออกไปทำการฝึก และดื่มน้ำทุกๆ 1 ชั่วโมง เพื่อช่วยระบายความร้อนของร่างกาย

ติดตั้งเครื่องมือวัดอุณหภูมิ วัดค่าความชื้นสัมพัทธ์ และธงสัญญาณในพื้นที่ การฝึก เพื่อใช้ในการแจ้งเตือนและปรับระยะเวลาการฝึกให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ จัดเจ้าหน้าที่เสนารักษ์ประจำอยู่กับ นศท.ทุกกองร้อย และมีรถพยาบาลที่ติดตั้ง อุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ป่วยจากโรคลมร้อน ประจำอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง

พร้อมกำหนดให้ทำการซักซ้อมและประสานงานกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความพร้อมในการช่วยเหลือผู้ป่วยจากโรคลมร้อน และส่งกลับไปรับการบริการทางการแพทย์จากโรงพยาบาลในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว

ในปีนี้ทางกรมแพทย์ทหารบก ได้สนับสนุนนวัตกรรม Smart Cooling Bed มาประจำในที่สถานี ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคลมร้อน เพื่อเตรียมการและลดอันตรายจากโรคลมร้อน ฝึกอบรมครูฝึก เพื่อให้มีความสามารถทำ CPR ช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน และสามารถใช้เครื่อง AED กระตุกหัวใจอัตโนมัติ หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน

มาตรการด้านที่ 3 ด้านการฝึก จัดเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบ-ทดสอบความพร้อมของสิ่งอุปกรณ์ ก่อนการใช้งานทุกครั้ง โดยเฉพาะที่สถานีทดสอบกำลังใจ การไต่หน้าผา-ลงทางดิ่ง สถานีที่มีการใช้สิ่งอุปกรณ์ประเภทกระสุนและวัตถุระเบิด และการฝึกกระโดดร่มแบบพาราเซล รวมทั้งจัดให้มีรถพยาบาล ฝ่ายการแพทย์ พร้อมพลขับประจำในพื้นที่การฝึก

การแต่งตั้งนายทหารนิรภัยการฝึก คอยให้คำแนะนำ ตรวจตรา และกำกับดูแลการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ครูฝึก ให้เป็นไปตามมาตรการรักษาความปลอดภัยที่กำหนดอย่างเคร่งครัด

มาตรการด้านที่ 4 ด้านการเสริมสร้างสุขอนามัย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ศูนย์ฝึกฯได้รับฟังแนวความคิดและปัญหาต่างๆ จาก นศท. ที่เข้ามาฝึกในแต่ละปี และได้นำมาแก้ไขพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยยึดโยงกับนโยบายของผู้บังคับบัญชาในเรื่องความปลอดภัยและการฝึกเชิงสร้างสรรค์ นำไปสู่การพัฒนา อาทิ จัดหาห้องสุขาน็อกดาวน์เพิ่มเติมเป็น 65 ห้อง

ติดเครื่องกรองเพิ่มเติม ที่แทงก์น้ำขนาด 2,000 ลิตร รวมเป็น 12 จุด เพื่อให้มีจุดบริการ น้ำสะอาดที่เพียงพอกับ นศท. (เปลี่ยนทำความสะอาดไส้กรองในทุกๆ 3 เดือน) จัดหาเต็นท์นอนเพิ่มเติม รวมจำนวน 2,800 หลัง สำหรับ นศท. ชั้นปีที่ 2 และ3

พร้อมจัดหาเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง ช่วยทำความสะอาดได้ทั่วถึงและประหยัดเวลา และติดตั้งฝักบัวไว้ในทุกโรง เพื่อทำความสะอาดร่างกายหลังการฝึก ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่อาจติดมากับคนใดคนหนึ่ง

ทางศูนย์ฝึกฯ จะแจกจ่ายถาดใส่อาหาร (ถาดหลุม) สำหรับใช้ประจำตัว นศท. จนกว่าจะจบการฝึก ป้องกันการปะปนกัน มีการล้างน้ำยา น้ำสะอาด ลวกน้ำร้อนฆ่าเชื้อ ลดไขมันที่เกาะติดถาด และนำใส่ถุงเก็บเพื่อป้องกัน ฝุ่นละออง ดินทราย ที่ลมพัด ถังใส่เศษอาหาร และถังขยะต่างๆ ในพื้นที่ จะมีฝาปิดมิดชิด ไม่ทิ้งหมักเอาไว้ มีถุงดำใส่รวมไปทิ้งทำลาย ฝึกการคัดแยกขยะเพื่อลดโลกร้อน

มาตรการด้านที่ 5 ความปลอดภัยด้านการประกอบอาหาร ให้ความสำคัญกับสุขอนามัยของแม่ครัวที่มาประกอบอาหาร ใส่ใจความสะอาด สดใหม่ และคุณภาพของวัตถุดิบ รวมถึงความสะอาดของสถานที่ กระบวนการประกอบอาหาร ไปจนถึงภาชนะที่ใช้ และให้ความสำคัญกับเวลาและสถานที่ เพื่อให้ นศท. ได้ทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ในสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการรับประทานอาหาร

พล.ท.ทวีพูล กล่าวว่า จากการตรวจความพร้อมของเจ้าหน้าที่และครูฝึก นศท. วันนี้ ทั้งด้านการปฐมพยาบาลนักศึกษาวิชาทหาร ด้านการฝึก และด้านอื่นๆ ตามมาตรการทั้ง 5 ด้าน ในการรักษาความปลอดภัยให้กับ นศท. พบว่ามีการเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี รถรับส่งมีความปลอดภัย มีกำลังพลคุ้มกัน

ด้านการดูแลสุขภาพ นศท. มีการเตรียมยาและเวชภัณฑ์ไว้พร้อม รวมถึงดูแลพิเศษสำหรับรายที่มีโรคประจำตัว หรือรายที่มีความเสี่ยงว่าขณะฝึกอาจเกิดเหตุสุดวิสัยขึ้นได้ จะมีการผูกริบบิ้นสีแดงไว้ที่อินทรนูแขนขวาเพื่อแสดงให้เห็นชัดเจน ง่ายต่อการสังเกตและการเข้าช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุ ย้ำว่าการลงโทษ นศท. ที่ผิดวินัยจะไม่เกินกว่าเหตุอย่างแน่นอน โดยจะไปในลักษณะของท่ากายบริหาร และอาจมีการตัดแต้มบ้าง

“การฝึกอาจไม่ได้สบายเหมือนอยู่บ้าน เพราะเป็นการให้ นศท. ได้เผชิญชีวิต เป็นการสร้างวัคซีนชีวิต สร้างภูมิคุ้มกัน ให้ นศท. เติบโตอย่างเข้มแข็ง” พล.ท.ทวีพูล กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน