ก้าวไกล แถลงเสนอ 6 นโยบายการศึกษา แนะยกเครื่องหลักสูตรใหม่ ชี้เด็กไทยเรียนเยอะ แต่ไม่มีประสิทธิภาพ ชงเน้นทักษะสมรรถนะปรับวิธีการสอน

วันที่ 13 ม.ค. 2567 ที่พรรคก้าวไกล นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ น.ส.ภัสริน รามวงศ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล แถลงข่าวเรื่องนโยบายการศึกษา

พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล

นายพริษฐ์ กล่าวว่า นโยบายปฏิรูปการศึกษา พรรคก้าวไกลต้องการเห็นระบบการศึกษาที่ตอบสนองต่อ 3 เป้าหมายหลัก ประกอบด้วย 1) การพัฒนาทักษะ-สมรรถนะ 2) ความเสมอภาค และ 3) ความสุขหรือสุขภาวะทางร่างกายและทางสภาพจิตใจที่ดีของผู้เรียน โดยที่ทั้งสามเป้าหมายต่างสัมพันธ์กัน จะบรรลุแค่เป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่งไม่ได้

ทั้งนี้ พรรคก้าวไกล มี 6 ข้อเสนอต่อการปฏิรูปการศึกษาของไทย ประกอบด้วย

1) ควรจัดทำหลักสูตรใหม่ ที่เน้นทักษะสมรรถนะ ทำให้เด็กได้ใช้เวลาในการเรียนอย่างคุ้มค่า แปรเวลาเรียนให้เป็นทักษะที่ตอบโจทย์ในปัจจุบันมากขึ้น เนื่องจากระบบการศึกษาไทยอยู่ในสภาวะที่เรียนมากได้น้อย โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับแต่ละประเทศ ประเทศไทยมีจำนวนชั่วโมงเรียนอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง

แต่ปัจจุบันระบบการเรียนการสอนของไทยไม่มีประสิทธิภาพมากพอในการแปรเวลาเรียนเหล่านั้นให้ออกมาเป็นทักษะที่ตอบโจทย์ สาเหตุหนึ่งก็คือปัญหาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยที่ไม่ได้เน้นหรือวางเป้าหมายในการพัฒนาทักษะสมรรถนะอย่างเพียงพอ

โดยยังไม่มีคำยืนยันว่ารัฐบาลชุดใหม่จะผลักดันหลักสูตรการศึกษาฉบับใหม่ให้สำเร็จภายในวาระ 4 ปี ทั้งจากคำแถลงนโยบายของรัฐบาล คำแถลงนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และในการตอบคำถามในสภาฯเมื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณในปี 2567

ซึ่งหากไม่จัดทำหลักสูตรใหม่นี้ให้สำเร็จภายในวาระ 4 ปี เท่ากับว่าประเทศไทยจะอยู่กับหลักสูตรการศึกษาเดิมเป็นเวลาถึง 20 ปี จากครั้งล่าสุดที่มีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาครั้งใหญ่

สำหรับ พรรคก้าวไกล หลักสูตรฉบับใหม่ที่เน้นทักษะสมรรถนะควรประกอบด้วย

การปรับเป้าหมายและวิธีการสอน (เช่น วิชาประวัติศาสตร์ที่เน้นทักษะการวิเคราะห์ วิชาภาษาอังกฤษที่เน้นทักษะสื่อสาร)

การลดชั่วโมงเรียน การบ้าน หรือ การสอบแข่งขันที่หนักจนเกินไป การเพิ่มเสรีภาพในการเรียนรู้ (เช่น ลดวิชาบังคับ เพิ่มวิชาทางเลือก)

การเพิ่มการตรวจสอบโดยประชาชน (เช่น การสร้างแพลตฟอร์มให้นักเรียนสามารถประเมินคุณภาพหนังสือเรียน รวมถึงการเปิดเผยข้อสอบย้อน TCAS หลังพร้อมเกณฑ์การให้คะแนนเพื่อให้มีความโปร่งใสมากขึ้น)

2) ลดภาระงานครูที่ไม่เกี่ยวกับการสอน เพื่อคืนครูให้ห้องเรียน และให้นักเรียนมีเวลาอยู่กับครูมากขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะสมรรถนะที่สำคัญ มีการวิเคราะห์ออกมาว่าประมาณ 40% ของเวลาครูถูกใช้ไปกับงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน เช่น งานธุรการ การนอนเวร รวมถึงการต้องเขียนรายงานผลดำเนินงานตามนโยบายหรือโครงการต่างๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการตั้งขึ้นมา

3) ป้องกันการตกหล่นออกจากระบบการศึกษา ปัจจุบันการศึกษายังไม่ได้ฟรีจริง มีค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองทั่วประเทศต้องแบกรับอยู่ในการส่งลูกหลานเข้าสู่การศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เคยวิเคราะห์ไว้ว่ากลุ่มนักเรียนที่มาจากครอบครัวยากจน ที่มีความเสี่ยงมากที่สุดที่จะตกหล่นจากระบบการศึกษา ปัจจุบันต้องแบกรับค่าใช้จ่ายแอบแฝงในการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าอุปกรณ์ ค่าชุดต่างๆ ถึงประมาณ 2,000-6,000 บาทต่อปี

ปัจจุบันมีสองโครงการที่พยายามเพิ่มเงินอุดหนุนให้กับนักเรียนที่มาจากครอบครัวยากจน คือ (1) ทุนเสมอภาค ซึ่งเป็นโครงการที่ กสศ. คัดกรองและจัดสรรโดยตรง และ (2) โครงการทุนปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจน ที่ กสศ. มาช่วยคัดกรอง โดย สพฐ. เป็นคนจัดสรรงบประมาณให้

ในส่วนของทุนเสมอภาค แม้งบประมาณปี 2567 มีการปรับอัตราต่อหัวขึ้นให้ก็จริง แต่เป็นการปรับขึ้นแบบขั้นบันได จาก 3,000 บาทต่อหัวเป็น 4,200 บาทต่อหัว แต่ไม่ได้ขึ้นทั้งหมดทันทีในปี 2567 แต่ใช้เวลา 3 ปีขึ้นเป็นขั้นบันได

พรรคก้าวไกลจึงเสนอว่าแทนที่จะขึ้นแบบขั้นบันไดควรเป็นการขึ้นทันทีให้เป็น 4,200 บาท ในส่วนทุนปัจจัยขั้นพื้นฐานฯ พรรคก้าวไกลเสนอว่าควรมีการขยายสองด้าน

คือ ขยายให้เด็กยากจนที่ตกสำรวจ 1 ล้านคน และ ขยายจากปัจจุบันที่ได้แค่เพียงชั้นประถมกับมัธยมต้น ให้เด็กในระดับก่อนประถมและมัธยมปลายได้รับด้วย ซึ่งข้อเสนอสำหรับทั้งหมดนี้จะใช้งบประมาณรวมกันไม่เกิน 3 – 5 พันล้านบาทต่อปี

4) การลดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียน เนื่องจากปัจจุบันโรงเรียนเกินครึ่งหนึ่งของประเทศเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ที่หลายครั้งขาดแคลนอุปกรณ์และขาดแคลนครู ปัญหาที่เจออยู่ในปัจจุบันเป็นปัญหาครูกระจุกโรงเรียนกระจัดกระจาย

แม้สัดส่วนนักเรียนต่อครูในระบบทั้งหมด (16.9 : 1) ดูเหมือนว่าครูในภาพรวมจะเพียงพอที่ แต่ปัญหาคือการกระจายตัวของครูมีปัญหาจนทำให้มีครูไม่ครบทุกระดับชั้น

ดังนั้น ควรต้องเพิ่มการกระจายตัวของครู เช่น การใช้แรงจูงใจและค่าตอบแทนพิเศษให้ครูในการไปทำงานในพื้นที่ที่อาจจะขาดแคลนครูมากขึ้น รวมถึงการลดความกระจัดกระจายของโรงเรียน โดยการหาทางออกร่วมกันในการบริหารกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็ก ปรับการจัดสรรงบประมาณให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น แก้ระเบียบให้โรงเรียนแบ่งปันทรัพยากรได้ง่ายขึ้น และ รับประกันค่าเดินทางและบริการรับ-ส่งที่เพียงพอ เป็นต้น

5) คุ้มครองสุขภาพกาย-สุขภาพใจ-ความปลอดภัยของนักเรียน ปัจจุบันยังคงมีข่าวเรื่องความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นในสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง เช่น ในกรณีโรงเรียนที่แม่ฮ่องสอน ที่มีกลุ่มนักเรียนประท้วงการปฏิบัติหน้าที่ของ ผอ. จากกรณีอาหารกลางวันในโรงเรียนมีปริมาณและคุณภาพให้สอดคล้องกับงบประมาณ โดยมีการตั้งคำถามว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นหรือไม่ รวมถึงท่าทีของ ผอ. ที่ตอนแรกมีเจตนาจะฟ้องนักเรียนด้วย พ.ร.บ.คอมฯ อีก

ดังนั้น ในส่วนของปัญหาสุขภาพกาย พรรคก้าวไกลเสนอให้-ขยายเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันให้นักเรียนมัธยม โดยอาจเริ่มต้นจากการขยายให้นักเรียน ม.ต้น ใน โรงเรียนขยายโอกาส สังกัด สพฐ. ทุกแห่ง ซึ่งจะใช้งบประมาณ ~2,000 ล้านบาท/ปี

ส่วนในด้านปัญหาสุขภาพจิต สิ่งที่ทำได้คือการเสริมทักษะให้คุณครูสามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้ว่านักเรียนที่มีอาการแบบใดมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาสุขภาพจิต เพื่อช่วยคัดกรองให้นำไปสู่การรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญ

หรือการเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงการรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญ เช่น การมีคลินิกเยาวชนให้สามารถขอคำปรึกษาเรื่องปัญหาสุขภาพจิตได้โดยไม่ต้องรายงานต่อผู้ปกครองหรือครู เป็นต้น

และในส่วนของความปลอดภัย ควรยกระดับกลไกเอาผิดทางวินัยกับครูที่ใช้ความรุนแรงกับนักเรียน ปรับเกณฑ์ประเมินผลงานของผู้บริหารในระดับเขตพื้นที่ให้สอดคล้องกับมาตรการดังกล่า และเพิ่มการรับรู้และประสิทธิภาพของ MoE Safety Center ในการรับมือกับเรื่องร้องเรียน

6) เพิ่มการมีส่วนร่วมของนักเรียน ทั้งในและนอกสถานศึกษา โดยมาตรการในสถานศึกษาอาจรวมถึงการที่คณะกรรมการสถานศึกษามีตัวแทนนักเรียนให้มาจากการเลือกตั้ง รวมถึงเปิดให้นักเรียนสามารถร่วมประเมินครูหรือโรงเรียนในฐานะผู้ได้รับบริการทางการศึกษาได้

สำหรับมาตรการเพิ่มการมีส่วนร่วมนอกโรงเรียน ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ กำลังศึกษาอยู่ รวมถึงการปฏิรูปสภาเด็กและเยาวชนให้ตอบโจทย์เยาวชนมากขึ้น โดยมีที่มาจากการเลือกตั้งจากเด็กและเยาวชนโดยตรง มีความเป็นอิสระจากรัฐ เพิ่มอำนาจในการผลักดันนโยบาย-เสนอร่างกฎหมายไปที่สภาฯ-ตั้งกระทู้ถามไปที่ฝ่ายบริหาร เป็นต้น

นายพริษฐ์กล่าวว่า สำหรับพรรคก้าวไกล ในช่วงต้นปีต่อจากนี้ มีอยู่ 3 เรื่องที่เราจะทำในฐานะฝ่ายค้านเชิงรุกเพื่อผลักดันนโยบายการศึกษา นั่นคือการยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ขึ้นมา เพื่อวางหลักประกันในการแก้ปัญหาที่พูดมาข้างต้น รวมถึงการใช้กลไกกรรมาธิการ ไม่ว่าจะเป็นกรรมาธิการงบประมาณหรือกรรมาธิการการศึกษา และการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายอื่นที่อาจเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของเด็ก เช่น การนำเสนอ พ.ร.บ.ห้ามตีเด็ก เป็นต้น

“คำขวัญนายกที่มีข้อความว่า ‘มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย’ เป็นเป้าหมายที่ดี แต่จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมีการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ เด็กจะ ‘มองโลกกว้าง’ ได้ หากเด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษา ได้เรียนหลักสูตรใหม่ที่เท่าทันโลก และมีเวลาพักผ่อนหรือค้นพบตนเองเพียงพอ

เด็กจะ ‘คิดสร้างสรรค์’ ได้ หากเด็กได้เรียนหลักสูตรใหม่ที่เน้นทักษะ-สมรรถนะ ครูมีเวลาแลกเปลี่ยนความเห็นกับนักเรียน และเด็กรู้สึกปลอดภัยในโรงเรียน เด็กจะ ‘เคารพความแตกต่าง’ ได้ หากเด็กมีเสรีภาพในการเรียนรู้ในวิชาที่แตกต่างกัน

รวมถึงเรียนกับครูและภายใต้กฎโรงเรียนที่โอบรับและเคารพความแตกต่างของนักเรียน เด็กจะ ‘ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย’ ได้ หากเด็กมีส่วนร่วมในการออกแบบกติกาในโรงเรียน และมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของประเทศ” นายพริษฐ์กล่าว

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน