ธรรมนัส คิกออฟ มอบโฉนดเพื่อการเกษตร พร้อมกันทั่วประเทศ 25,000 ฉบับ ของขวัญปีใหม่ให้เกษตรกร หวังเข้าถึงแหล่งทุน มีรายได้เพิ่ม ตั้งเป้าปีนี้ 5 แสนแปลง

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 15 ม.ค. 2567 ที่ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเสริมนอกภาคเกษตร ต.ช้างใหญ่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน Kick off พิธีมอบโฉนดเพื่อการเกษตรเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2567

โดยมีนายไชยา พรหมา รมช.เกษตรฯ นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ และผู้ว่าราชการจังหวัด 11 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ชัยนาท ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ลพบุรี สระบุรี นครนายก สุพรรณบุรี ปราจีนบุรี อุทัยธานี และเพชรบุรี รวมถึงเกษตรกรเข้าร่วมพิธี

ทั้งนี้ ยังเป็นการคิกออฟพร้อมกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีนายอนุชา นาคาศัย รมช.กษตรฯ เป็นประธาน Kick off มอบโฉนดเพื่อการเกษตร จ.ชุมพร มีเกษตรกรได้รับมอบโฉนดในวันนี้จำนวน 129 ราย 149 แปลง เนื้อที่ประมาณ 1,340 ไร่ 2 งาน 7 ตารางวา

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า จากนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อ 11 ก.ย.2566 ต้องการพัฒนาเอกสารสิทธิ์การใช้ประโยชน์ให้เป็นโฉนด กระทรวงเกษตรฯ โดย ส.ป.ก.จึงขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว โดยมีคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 30 เห็นชอบพิจารณาปรับปรุงเอกสารสิทธิ์การใช้ประโยชน์ ส.ป.ก.4-01 ให้เป็นโฉนดเพื่อการเกษตรตามนโยบายรัฐบาล

มีเกษตรกรเข้าคุณสมบัติการเปลี่ยนเป็นโฉนดเพื่อการเกษตร จำนวน 2.27 ล้านแปลง เนื้อที่ประมาณ 22 ล้านไร่ เกษตรกร 1.6 ล้านคน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้เกษตรกร หวังเข้าถึงแหล่งทุน สร้างอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืน พร้อมเน้นย้ำรัฐบาลมุ่งมั่นสร้างโอกาสให้ประชาชนอยู่ดี กินดี มีรายได้เพิ่มเป็น 3 เท่าใน 4 ปี

การแปลงส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร ส.ป.ก.มอบโฉนดให้แก่เกษตรกรพร้อมกันทั่วประเทศ 25,000 ฉบับ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ ตามที่รัฐบาลให้สัญญาไว้ เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรทุกคนได้ใช้ประโยชน์ นำเอกสารนี้ไปสร้างมูลค่าเพิ่มในการประกอบกิจการภาคการเกษตร ซึ่ง ส.ป.ก.จะมอบโฉนดเพื่อการเกษตรให้แล้วเสร็จทั่วประเทศโดยเร็ว และพร้อมเป็นกองทัพที่จะอุดหนุนทุกท่านให้อยู่ได้ อยู่ดี มีความสุขในเขตปฏิรูปที่ดินตลอดไป

ทั้งนี้ การขึ้นทะเบียนขอออกโฉนดเพื่อการเกษตรทั้งจากระบบออนไลน์ และออฟไลน์ ปัจจุบันมีเกษตรกรยื่นความประสงค์ขอออกโฉนดรวมทั้งสิ้น 227,152 แปลง หลังจากนี้ได้มอบให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสร้างการรับรู้ และความเข้าใจนโยบายของรัฐบาล กระทรวงเกษตรฯ และ ส.ป.ก. ในการดำเนินงานเพิ่มศักยภาพมูลค่าโฉนดเพื่อการเกษตร ทั้ง ส.ป.ก. และหน้าที่ของผู้ที่ได้รับที่ดินไป ตลอดจนเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรต่อไป

สำหรับการยื่นความประสงค์ขอออกโฉนดเพื่อการเกษตร ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย.2566 เปิดรับแจ้งความประสงค์พร้อมกันทั่วประเทศ 3 ช่องทาง ได้แก่ ส.ป.ก.ทุกจังหวัด ศูนย์บริการประชาชน (Mobile Unit ) และระบบออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ ส.ป.ก. ข้อมูล ณ วันที่ 13 ม.ค. 2567 มีผู้ยื่นความประสงค์ 227,152 แปลง ออกโฉนดไปแล้ว 33,663 แปลง คิดเป็น 275,100 ไร่ เกษตรกร 29,006 ราย

สำหรับสิทธิประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับจากโฉนดเพื่อการเกษตร ประกอบด้วย

1.เปลี่ยนมือได้ (โอนสิทธิ์) สามารถโอนคืน ส.ป.ก.ได้ โดยโอนคืนให้ ส.ป.ก.ทั้งแปลงหรือบางส่วนได้ โดยได้รับค่าชดเชย หากเกษตรกรไม่ประสงค์ประกอบอาชีพเกษตรกรรม สามารถสละสิทธิ์ให้เกษตรกรอื่นที่มีคุณสมบัติตามกำหนด โดยสามารถเปลี่ยนมือให้แก่เกษตรกรอื่นที่มีคุณสมบัติตาม ส.ป.ก.กำหนด

2.เพิ่มวงเงินสินเชื่อ การเข้าถึงแหล่งทุนใหม่ สามารถเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ โดยขยายวงเงินสินเชื่อให้กับเกษตรกรที่ขอกู้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หรือใช้ไม้มีค่าที่ปลูกบนที่ดิน ค้ำประกันสินเชื่อให้เต็มวงเงิน 100% และสามารถขอสินเชื่อนโยบายจากกองทุน ส.ป.ก.เต็มวงเงินตามราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ นอกจากนั้นยังเพิ่มแหล่งสินเชื่อใหม่ โดยการเจรจากับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ชุมนุมสหกรณ์ สถาบันการเงินของรัฐ และสถาบันการเงินอื่น

3.สามารถใช้ค้ำประกันตัวบุคคล โดยเป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งที่สามารถค้ำประกันตัวบุคคลทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาล โดยความร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

4.สร้างรายได้ให้เกษตรกร เพิ่มทรัพย์สินโดยส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า 10 ต้นต่อไร่ ซึ่งใช้ต้นไม้ค้ำประกันสินเชื่อ หรือโฉนดต้นไม้ และขาย Carbon Credit โดยความร่วมมือกับ กรมป่าไม้, ธ.ก.ส. และ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.)

5.ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจากรัฐในด้านโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค ซึ่งมีการทำ MOU 16 หน่วยงาน ด้านการพัฒนาอาชีพ และรับเงินชดเชยหรือเยียวยาภัยพิบัติ

“ที่ดินส.ป.ก.มีกว่า 22 ล้านไร่ พร้อมปรับเป็นโฉนดทั้งหมด แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมาย โดยเฉพาะการถือครองที่ดินอย่างน้อย 5 ปี ซึ่งทยอยขึ้นทะเบียน จากนั้นเจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจสอบ ทำต่อเนื่อง เชื่อว่าในช่วง 10 ปีนี้ที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 จะกลายเป็นโฉนดเพื่อการเกษตรทั้งหมด โดยการขึ้นทะเบียนกำหนดการถือครองไม่เกิน 50 ไร่ และกำหนดเพื่อกิจกรรมเพื่อการเกษตรเท่านั้นจะเป็นควบคุมไม่ให้เกิดการถือครองโดยนอมินี”

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า หลังจากนี้เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.ต้องออกสำรวจผู้ถือครองที่ดินที่ตกหล่นเพื่อให้ได้รับสิทธิ์ที่มากกว่า รวมทั้งกระทรวงเกษตรฯ ยังมีแผนจะออกโฉนดเพื่อการเกษตรให้กับกิจกรรมการเกษตรอื่นๆ ด้วย เช่น กระชังเลี้ยงปลา โฉนดยางที่ปลูกในที่ดินของตนเองที่รัฐอนุญาตให้ก็มีมูลค่า

เบื้องต้นกระทรวงเกษตรฯ ต้องจำแนกเกษตรกรให้เสร็จก่อน แยกเป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง คือเพื่อสนับสนุนการผลิตเพื่อส่งออก กลุ่มปานกลาง เพื่อหนุนการแปรรูป และกลุ่มอ่อนแอ เป็นกลุ่มที่รัฐบาลต้อง subsidize เพิ่มรายได้ 3 เท่าใน 4 ปี

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาฯส.ป.ก. กล่าวว่า กรณีการค้ำประกันเงินกู้กับธ.ก.ส. ปัจจุบันกำหนดไว้ 50 % ของมูลค่าที่ดิน ซึ่งอยู่ระหว่างหารือให้ค้ำประกัน 80-100% เทียบเท่ากับโฉนดทั่วไป คาดว่าไม่มีปัญหา เพราะโฉนดนี้นอกจากเกษตรกรจะถือครองแล้ว ส.ป.ก.ยังเป็นหน่วยงานที่รับรองอีกลำดับทำให้ ธ.ก.ส. มั่นใจได้

นอกจากนี้จะหารือกับสถาบันการเงินทั่วไป สหกรณ์ต่างๆ เพื่อยอมรับโฉนดดังกล่าวกรณีค้ำประกันเงินกู้ได้ด้วย เพิ่มช่องทางให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงิน เป็นจุดเริ่มต้นสร้างอาชีพและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศต่อไป ทั้งนี้ การแปลงโฉนดเพื่อการเกษตรในปี 2567 คาดว่าจะทำได้ 5 แสนฉบับ ซึ่งได้มอบอำนาจให้ ส.ป.ก.จังหวัด รับดำเนินการแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน