เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2567 นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน สว. คณะกรรมาธิการ(กมธ.)การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ในฐานะผู้ร่วมยื่นญัตติเพื่อขอให้เปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาลผู้ร่วมยื่นญัตติเพื่อขอให้เปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา ให้คณะรัฐมนตรีชี้แจง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 แบบไม่ลงมติ ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 22 ม.ค. ได้นัดหมายยื่นญัตติดังกล่าวต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เวลา 09.30 น. หลังจากที่มี สว.ร่วมลงชื่อสนับสนุนญัตติดังกล่าว จำนวน 98 คน ซึ่งครบตามเกณฑ์ที่มาตรา 153 กำหนด

หลังจากยื่นญัตติแล้วผู้เสนอญัตติจะตั้งคณะทำงาน 6-7 คนเพื่อสอบถามไปยัง สว.ที่ร่วมลงชื่อญัตติว่าต้องการอภิปรายในประเด็นใดบ้าง ตาม 7 ประเด็นที่ระบุไว้ อาทิ ด้านเศรษฐกิจ กระบวนการยุติธรรม พลังงาน การศึกษา การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปประเทศ

คาดว่าสว.ที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนญัตติจะขอร่วมอภิปรายด้วย 30-40 คน นอกจากนี้จะเปิดโอกาสให้ สว.ที่ไม่ได้ร่วมลงชื่อกับญัตติให้อภิปรายด้วย ส่วนเวลาที่จะขอรัฐบาลเพื่อพิจารณาตามญัตติ จะขอเวลา 2 วัน ซึ่งอาจเป็นวันจันทร์ และวันศุกร์ เนื่องจากวันอื่นๆ ทราบว่ารัฐบาลและรัฐมนตรีมีภารกิจ เช่น การประชุมครม. การประชุมสภา

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการล็อบบี้เพื่อไม่ให้อภิปรายเรื่องใดในญัตติหรือไม่ นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ไม่รู้ ส่วนตนนั้นเตรียมประเด็นอภิปราย 2-3 ประเด็น ซึ่งเข้าใจว่าหากรัฐบาล หรือนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้ร่วมประชุมและชี้แจงจะเป็นประโยชน์กับรัฐบาล แต่ไม่ติดใจหากนายเศรษฐา อาจไม่ได้ตอบในทุกประเด็นซักถาม และมอบหมายให้รัฐมนตรีชี้แจงหรือตอบคำถามแทน

ต่อข้อถามว่าคาดหวังผลลัพท์ในการพิจารณาญัตติอย่างไรบ้าง นายเฉลิมชัยกล่าวว่า เพื่อให้รัฐบาลได้ชี้แจงรายละเอียดของการดำเนินงานตามที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ซึ่งที่ผ่านมาบางเรื่องยังไม่พบการทำงานที่เป็นรูปธรรม นอกจากนั้น สว.จะมีข้อแนะนำ ส่วนรัฐบาลจะรับฟังหรือรับไปดำเนินการหรือไม่ขึ้นอยู่กับรัฐบาล เช่น กรณีการต่อยอดในการปฏิรูปการศึกษา ผ่านร่างกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ เป็นต้น

เมื่อถามว่าเป็นการทวงสัญญาจากรัฐบาลได้หรือไม่ นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ก็ว่าไปได้ เพราะตั้งแต่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้วยังไม่ได้ทำ ดังนั้นการอภิปรายจะได้ให้รัฐบาลชี้แจงว่าจะดำเนินการเมื่อใด ด้วยวิธีใด เช่น นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน