นายกฯ เผยเยือนเยอรมนีอย่างเป็นทางการมี.ค.นี้ ย้ำ 4 เดือนเดินสายประกาศไทยเปิดแล้วสำหรับการทำธุรกิจ ปธน.เยอรมนี หยอดประเทศไทยน่าลงทุน มีข้อได้เปรียบเอื้อประโยชน์ต่อการลงทุน

เมื่อเวลา 11.45 น. วันที่ 25 ม.ค.2567 ที่ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง และ ดร.ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ (H.E. Dr.Frank-Walter Steinmeier) ประธานาธิบดีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ร่วมกันแถลงข่าวร่วมหารือข้อราชการ และหารือร่วมกับภาคเอกชน ถึงนโยบายด้านเศรษฐกิจ และแนวทางส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

นายกฯ กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสให้การต้อนรับ ดร.ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีเยอรมนีและภริยา ระหว่างการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยการเยือนครั้งนี้ เป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี (เยือนครั้งล่าสุดเมื่อปี 2545)

ทั้งนี้ ประเทศไทยและเยอรมนีมีความสัมพันธ์ระหว่างกันที่ยาวนานถึง 162 ปี โดยเยอรมนีเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยในสหภาพยุโรปและไทยเป็นคู่ค้า อันดับที่ 3 ของเยอรมนีในอาเซียน ทั้งสองประเทศจึงเป็นพันธมิตรที่เกื้อกูลกันและกันมาตลอด วันนี้ไทยและเยอรมนีต่างเห็นพ้องต่อการกำหนดเป้าหมายในการยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership)

นายกฯ กล่าวว่า ได้หารือในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการส่งเสริมความร่วมมือไทย-เยอรมนี ในด้านความยั่งยืน การรับมือกับภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนผ่านพลังงาน เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065

นายกฯหารือประธานาธิบดีเยอรมนีและภาคเอกชนเยอรมนี

นายกฯหารือประธานาธิบดีเยอรมนีและภาคเอกชนเยอรมนี

โดยเยอรมนี พร้อมสนับสนุนไทยด้านเทคโนโลยีการผลิตพลังงานทดแทนเพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าเป็นร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ. 2040 รวมถึงขยายการลงทุน ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของเยอรมนีในไทย เพื่อให้ไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในระดับภูมิภาค นอกจากนี้ เยอรมนีจะส่งเสริมการทำการเกษตรแบบยั่งยืนที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในไทยอย่างต่อเนื่องและให้ความร่วมมือแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5

“ผมยินดีอย่างยิ่งที่ประธานาธิบดีเยอรมนี นำคณะภาคเอกชนเยอรมนีร่วมเดินทางมาในครั้งนี้ ซึ่งผมได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับศักยภาพด้านเศรษฐกิจของไทยและโอกาสใหม่ๆ สำหรับภาคเอกชนเยอรมนีหลังจากที่ไทยกับสหภาพยุโรปสามารถบรรลุการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีได้สำเร็จ ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายไว้ภายในปี 2568 ”








Advertisement

นอกจากนี้ ยังแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งโครงการแลนด์บริดจ์ และโครงการยกระดับการขนส่งระบบรางและโลจิสติกส์ของไทย การส่งเสริม Ease of Doing Business รวมทั้งการสร้างทรัพยากรมนุษย์โดยการเพิ่มพูนความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาระหว่างกัน
โดยภาคเอกชนเยอรมนี แสดงความสนใจที่จะเข้ามาประกอบการในไทยในด้านงานสินค้านานาชาติ และการรีไซเคิลและการผลิตเม็ดพลาสติกจากขยะ

นอกจากนี้ ภาคเอกชนได้ให้ข้อมูลความต้องการในการเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งรัฐบาลจะนำไปพิจารณาเพื่อดึงดูดการลงทุนจากเยอรมนีต่อไป

นายกฯ กล่าวว่า อีกประเด็นสำคัญที่หารือ คือ การส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและเยอรมันเดินทางไปมาหาสู่กันได้ง่ายขึ้น ซึ่งประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวชาวเยอรมัน โดยปีที่แล้ว มีนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันเดินทางมาไทยประมาณ 7 แสนคน

ทั้งนี้ ชาวเยอรมันได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา 30 วันอยู่แล้ว จึงขอให้ฝ่ายเยอรมนีสนับสนุนไทยให้บรรลุการเจรจากับสหภาพยุโรป เพื่อขอยกเว้นตรวจลงตราสำหรับการเดินทางเข้าเขตเชงเกนให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาไทยด้วย

นายกฯ กล่าวว่า เย็นวันนี้ ประธานาธิบดีเยอรมนี และภริยา มีกำหนดเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และในวันพรุ่งนี้ (26 ม.ค.) ประธานาธิบดีเยอรมนี จะเดินทางไปจ.อุบลราชธานี เพื่อเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำไฮบริดที่เขื่อนสิรินธร ซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังน้ำใหญ่เป็นอันดับต้นของโลก และโครงการเกษตรยั่งยืนที่เป็นความร่วมมือระหว่างเยอรมนีกับไทย รวมทั้งเยี่ยมชมอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่เป็นที่นิยมของทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีเยอรมนีในครั้งนี้จะเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างไทยกับเยอรมนี ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือที่ใกล้ชิดและเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะในด้านยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด เศรษฐกิจหมุนเวียน และความร่วมมือในด้านอื่น ๆ อีกมากมาย ทำให้ประเทศไทยกับเยอรมนีมีความร่วมมือในทุกมิติที่แน่นแฟ้นมากขึ้น

“ในเดือนมี.ค.นี้ ผมมีกำหนดเดินทางเยือนเยอรมนีอย่างเป็นทางการ เพื่อสานต่อและผลักดันความร่วมมือระหว่างกัน นำไปสู่การสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันต่อไป” นายกฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวต่างประเทศถามถึงการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลไทยที่กลับมาเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างไรโดยเฉพาะกับเยอรมนี นายกฯ กล่าวว่า เป็นที่ประจักษ์ดีว่าการที่ตนเป็นนายกฯมา 4 เดือน ได้เดินทางไปต่างประเทศเยอะและอาทิตย์ที่ผ่านมาก็ไปดาวอส สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งได้เจอกับนักธุรกิจชั้นนำทั่วโลก รวมถึงนายกฯ เบลเยียมและสวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงสหภาพอียูด้วย

เราประกาศชัดเจนว่าประเทศเราเปิดแล้วสำหรับการทำธุรกิจ และเดือนมี.ค.จะเดินทางไปเยือนเยอรมนีเพื่อทวิภาคีกับรัฐบาลอีกครั้ง

นายกฯ กล่าวยืนยันว่ารัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งตลอดเวลา 4 เดือน ทุกท่านเห็นอยู่แล้วเรื่องความสงบ และการให้สิทธิเสรีภาพที่เหมาะสมภายใต้กรอบกฎหมาย ซึ่งมีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ส่วนการค้าระหว่างประเทศ ชัดเจนว่า 4 เดือนที่ผ่านมาเราได้เดินทางไปทั่วโลก และจุดยืนด้านการเมืองเราเป็นประเทศที่ยึดมั่นอยู่กับความเป็นกลาง ไม่ได้อยู่บนส่วนไหนของความขัดแย้ง เพราะเราเชื่อในเรื่องความบริสุทธิ์และคนไทยที่อยู่ในต่างแดนต้องถูกดูแลอย่างดี

ผู้สื่อข่าวต่างประเทศถามว่าในกรณีบริษัทต้องการกระจายซัพพลายจากประเทศจีน มายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเวียดนามจะได้ผลประโยชน์จากตรงนี้มากที่สุด ไทยมีแนวทางอย่างไร ที่จะดึงดูดนักลงทุนให้มาลงทุนในประเทศไทย และอยากถามประธานาธิบดีว่า เห็นศักยภาพในการลงทุนประเทศไทย ในฐานะที่เป็นตัวเลือกจากประเทศจีนอย่างไรบ้างในมุมมองของเยอรมัน

นายเศรษฐา กล่าวว่า ไม่แน่ใจในเรื่องของตัวเลข แต่ไทยได้ประโยชน์จากการย้ายฐานนี้เช่นกัน ซึ่งมี โรงงานจำนวนหนึ่งในเวียดนาม ที่จะเคลื่อนย้ายมาสู่ไทย นอกจากนี้ยังมีบริษัทเทคโนโลยีต่างๆจากอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น Google หรือบริษัทรายใหญ่ที่ย้ายมาอยู่ในประเทศไทยอีกด้วย

นอกจากนี้ ในการหารือกับประธานาธิบดีเยอรมันนี ได้พูดคุยถึงพลังงานสะอาด ที่เป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะดึงดูดให้บริษัทใหญ่ๆมาลงทุนในประเทศไทย ขณะที่ภูมิภาคอาเซียนไทยก็ให้ความสำคัญกับพื้นที่การลงทุน และมีแผนที่ชัดเจนในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน

นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นบีโอไอ ดูแลเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆให้กับนักลงทุนต่างชาติ และแรงงานที่มีฝีมือ เป็นอีกหนึ่งข้อได้เปรียบของไทยในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งไทยมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้ ชีวิตอยู่ในประเทศไทย ทั้งระบบดูแลสุขภาพของเราอยู่ในระดับโลก จึงเป็นจุดน่าดึงดูดให้นักธุรกิจย้ายมาอยู่นำครอบครัวมาด้วย

ด้านประธานาธิบดีเยอรมนี กล่าวถึงโอกาสการลงทุนในไทยว่า เวียดนามและไทย เป็นประเทศที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน จากการหารือกับไทยมีข้อได้เปรียบ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ และไทยยังมีความสนใจ ให้การสนับสนุนความร่วมมือทางการค้า บริษัทต่างๆ ที่มาจากสหภาพยุโรปและเยอรมัน โดยจะเห็นได้จากนโยบายและข้อบังคับต่างๆ ที่เอื้อประโยชน์ในการทำการค้าที่จะทำให้ร่วมมือกันได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน