รักษาการอธิบดีดีเอสไอ ไม่หนักใจ ถูก‘สุชาติ’ อดีตรมว.แรงงานฟ้อง หลังกล่าวหา คดีหักหัวคิวแรงงาน ลั่นทำตามกฎหมาย ไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้ง

จากกรณีนายสุชาติ ชมกลิ่น อดีตรมว.แรงงาน พร้อมกลุ่ม สส.พรรคพลังประชารัฐ 14 ราย ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) 3 ราย ประกอบด้วย อดีตอธิบดีดีเอสไอ รักษาการอธิบดีดีเอสไอ (คนปัจจุบัน) และผอ.กองคดีค้ามนุษย์ ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง

ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 200 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐกลั่นแกล้งให้ได้รับโทษทางคดีอาญา รวมถึงข้อหาอีก 7-8 มาตราที่เกี่ยวข้อง

เนื่องด้วยเห็นว่าการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 10 ม.ค.67 ของดีเอสไอ ส่งผลให้นายสุชาติและครอบครัวได้รับความเสียหาย แม้จะไม่มีการเอ่ยชื่อ แต่ได้กล่าวถึงรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งในช่วงปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่นายสุชาติ ดำรงตำแหน่ง ทำให้ประชาชนและหลายคนเข้าใจว่าเป็นนายสุชาติ การยื่นฟ้องถือเป็นการรักษาสิทธิ เพราะเชื่อว่าการที่ดีเอสไอออกมาแถลง เป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 25 ม.ค.2567 พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการอธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า ตามที่คณะพนักงานสอบสวนมีมติแจ้งข้อกล่าวหา ขอยืนยันว่าทำตามกรอบอำนาจหน้าที่ของกฎหมาย เพราะจุดเริ่มต้นไม่ได้เริ่มจากดีเอสไอ แต่เป็นการขอความร่วมมือจากทางประเทศฟินแลนด์

ถ้าดีเอสไอไม่ดำเนินการตามพ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 ก็จะมีความผิดฐานละเว้นเช่นกัน ดีเอสไอไม่มีเจตนากลั่นแกล้งหรือประสงค์ให้ใครได้รับความเสียหาย เพราะเราไม่ได้ประกาศชื่อ หรือเปิดเผยชื่อ ไม่หนักใจที่ถูกผู้ร้องรายดังกล่าวฟ้องร้องดำเนินคดี

พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวว่า ส่วนที่ฝ่ายผู้ร้องระบุถึงการแถลงข่าวของดีเอสไอเมื่อวันที่ 10 ม.ค. โดยระบุว่า ดีเอสไอเคยส่งสำนวนให้ป.ป.ช.ไปแล้วเมื่อเดือนต.ค. 2566 นั้น ขอชี้แจงว่าเป็นการนำส่งความผิดคนละมาตรา เพื่อให้ความปรากฏแก่ ป.ป.ช. ขณะเดียวกันเราก็ได้แยกเรื่องไว้สอบสวนเพิ่มเติมคือ เรื่องการค้ามนุษย์

จากนั้นเราได้ข้อมูลจากประเทศฟินแลนด์ ซึ่งเป็นความผิดนอกราชอาณาจักร อัยการสูงสุดจึงมอบให้พนักงานอัยการเข้ามาร่วมดำเนินการ และเมื่อเราพบพยานหลักฐานจึงต้องมีมติแจ้งข้อกล่าวหาแ ละนำส่งให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติของกฎหมาย ส่วนเรื่องพยานหลักฐานต่างๆ ที่ดีเอสไอและอัยการรวบรวมได้ หรือหลักฐานที่ประเทศฟินแลนด์ส่งให้ ตนไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด เพราะยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบของ ป.ป.ช.

พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวต่อว่า การที่ดีเอสไออยู่ระหว่างตรวจสอบพฤติการณ์เพิ่มเติมในฐานการค้ามนุษย์ ก็เพราะเป็นคนละฐานความผิดจากความผิดเดิมที่ได้แจ้งไป (หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ) ซึ่งการค้ามนุษย์ หากพบพฤติการณ์จริงก็ต้องนำส่งให้ ป.ป.ช.ไต่สวนเช่นกัน โดยดีเอสไอมีกรอบเวลาดำเนินการในเรื่องนี้ 30 วัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน