ผมกลับมาแล้ว! “พิธา” ลุกอภิปรายในสภาครั้งแรก เสนอ 5 ข้อ ให้กมธ.วิสามัญฯ เป็นแนวทางแก้ปัญหาขยะ โว ใช้เวลาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ลงพื้นที่จริง

เมื่อเวลา 10.40 น. วันที่ 26 ม.ค.2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม พิจารณาญัตติเรื่องขอให้สภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท่องถิ่น ของน.ส.มัลลิกา จิระพันธ์วาณิช สส.ลพบุรี และนายสฤษฎ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย เป็นผู้เสนอ และญัตติทำนองเดียวกันอีก 4 ฉบับให้พิจารณาไปในคราวเดียวกัน

เวลา 11.50 น. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปราย ขณะที่นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม โดยก่อนที่จะอภิปรายเข้าเรื่องขยะ นายพิธา กล่าวว่า “ผมกลับมาแล้วครับท่านประธาน อาจจะเป็นเวลานานถึง 6 เดือนที่ผมไม่ได้มีโอกาสเข้ามาอภิปรายปัญหาของพี่น้องประชาชนในสภาแห่งนี้

แม้กระทั่งบัตรเสียบก็ยังไม่ได้ทำ แต่โชคดีที่ยังมีบัตรสำรองให้มีโอกาสได้มาพูดถึงปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ที่ผมได้ลงไปในช่วงที่หยุดการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะอย่างนี้เกี่ยวกับญัตติการบริหารจัดการขยะชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพื้นที่เมืองท่องเที่ยว”

นายพิธา กล่าวว่า สองสถานที่ที่มีโอกาสลงไประหว่างถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ เมื่อเดือนต.ค.66 คือ บ่อขยะ ต.แพรกษาใหม่ จ.สมุทรปราการ และบ่อขยะเทศบาลนครภูเก็ต สองสถานที่นี้ให้ความรู้กับตนมาก เพราะแตกต่างกันมาก ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการกำจัดขยะได้ไม่หมด ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน และอันตรายจากการเสี่ยงเกิดอัคคีภัย

แต่ในเรื่องงบประมาณที่อยู่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 49 แห่ง มี 1.6 พันล้านบาท ซึ่งจีดีพีเฉพาะสมุทรปราการ 6 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนแค่ 0.25 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหนึ่งจังหวัด

ส่วน จ.ภูเก็ต ถ้าเราไม่สามารถบริหารจัดการขยะได้ และต้องการให้นักท่องเที่ยวมาในภูเก็ตเยอะๆ หลังโควิด แต่ขยะที่เห็นอยู่สักวันหนึ่งก็จะลงไปในทะเล แล้วฝรั่งก็จะเรียกภูเก็ตว่า สรวงสวรรค์ที่เต็มไปด้วยขยะ

สถานการณ์ขยะที่ภูเก็ต 800 ตันต่อวัน ความสามารถในการเผาขยะอยู่ที่ 700 ตัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างชัดเจน จีดีพีภูเก็ตอยู่ที่ 2 แสนกว่าล้านบาท งบประมาณของ อปท. ทั้ง 10 กว่าแห่งรวมกัน 600 กว่าล้านบาท คิดเป็น 0.31 เปอร์เซ็นต์

“นี่คือภาพจุลภาคที่เห็นได้ในท้องถิ่น ที่ทำให้ผมกลับมาแล้วรู้สึกสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ ว่าถ้าเป็นในระดับชาติ ถ้ามีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เกิดขึ้น ควรจับประเด็นในระดับประเทศอย่างไร เพราะการจัดการขยะจะมองเป็นจุดๆ ไม่ได้

ต้องมองเป็นโซ่มูลค่าตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทางของการบริหารจัดการขยะ ถ้าต้นทางไม่สามารถจัดการขยะได้ ก็เลิกคิดกลางทาง ปลายทาง เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” นายพิธา กล่าว

นายพิธา กล่าวต่อว่า ตนขอเสนอ 5 ข้อในการวางกรอบการทำงานของกรรมาธิการวิสามัญฯ คือ 1.ลดขยะต้นทาง โดยการส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน 2.การออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการขยะและการหมุนเวียนทรัพยากร 3.การโอนอำนาจให้หน่วยงานส่วนท้องถิ่นบริหารจัดการ ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย หรือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว

4.เพิ่มเติมงบประมาณในการบริหารจัดการขยะ เพราะงบจัดการขยะปีนี้มีแค่ 1.8 พันล้านบาท ซึ่งต้องเพิ่มอีกอย่างน้อยอีก 20 เท่าถึงจะแก้ปัญหาขยะในประเทศไทยได้ และ 5.การออกมาตรการด้านกองทุนฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อน สำหรับผู้ที่ได้รับการบำบัดจากผลการกำจัดขยะ ดังนั้น ถ้าเราสามารถวางแผนได้แบบนี้ก็จะสามารถลดจำนวนขยะ ป้องกันก่อนปัญหาได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงแรกที่เดินเข้าห้องประชุม นายพิธาได้ทำนิ้วมือเป็นสัญญลักษณ์มินิฮาร์ท พร้อมโบกมือทักทายให้นักศึกษาที่มาดูงานในห้องประชุมสภาฯ บริเวณชั้น 2 ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน