ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย การถือหุ้นไอทีวีไม่ได้ทำให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ต้องพ้นสมาชิกภาพ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

คอการเมืองก็ตั้งคำถามถึงสถานการณ์การเมืองหลังนายพิธาคัมแบ๊กทันที

และมองไปถึงวันที่ 31 ม.ค.นี้ ที่ศาลนัดวินิจฉัยคดีที่พรรคก้าวไกลมีนโยบายหาเสียง เรื่องการแก้ไขมาตรา 112

นันทนา นันทวโรภาส

คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง

มหาวิทยาลัยเกริก

มติศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก เนื่องจากช่วงนี้การรวมตัวของพรรคฝ่ายรัฐบาลค่อนข้างเกาะเกี่ยวกันเหนียวแน่น เรื่องเสถียรภาพคงไม่น่ามีปัญหาอะไร

ขณะที่พรรคก้าวไกลเองก็ได้แสดงบทบาทในฐานะฝ่ายค้าน สส.บางคนก็ทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างเต็มที่ สถานการณ์การเมืองภาพรวมคงไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง

แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากนี้เป็นต้นไปคือ นายพิธาจะได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วไปสูงมาก และถูกจับตาว่าเป็นนายกฯ ของประชาชน ฉะนั้นเมื่อนายพิธาได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภา สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศก็จะให้ความสนใจและให้พื้นที่

การแสดงบทบาทของนายพิธาก็จะคู่ขนานกับบทบาทของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี หมายความว่าจากนี้ไปเวลานายเศรษฐา ในฐานะนายกฯ พูดหรือทำอะไรสื่อก็จะหันมามองว่านายพิธามีความเห็นอย่างไร จะแสดงบทบาทอย่างไร เหมือนนายพิธาเป็นนายกฯเงาสะท้อนว่านายกฯ เศรษฐาทำอะไร เหมาะสมหรือไม่ อะไรที่ควรทำอะไรไม่ควรทำ

เรื่องนี้จะเป็นความยากลำบากของพรรคเพื่อไทยและนายเศรษฐา ที่ต้องพยายามสื่อสารและประคับประคองภาพลักษณ์ให้มีภาวะผู้นำที่โดดเด่นและเหนือกว่าความเป็นผู้นำของนายพิธา

ในส่วนของพรรคก้าวไกลก็คงไม่ต้องทำอะไรแต่ในส่วนของทีมสื่อสารของ พรรคเพื่อไทยและทีมสื่อสารของตัวนายกฯ เศรษฐาคงจะต้องพยายามสื่อสารเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในฐานะที่เป็นผู้นำตัวจริง เพราะว่าบทบาทจะไปคู่ขนานกับนายพิธาผู้นำฝ่ายค้าน

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องหุ้นไอทีวีไม่มีผลต่อบทบาทของนายพิธา และพรรคก้าวไกลในสภา แต่ที่น่าจับตามองคือวันที่ 31 ม.ค. ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยนโยบายหาเสียงเรื่องการแก้มาตรา 112 เมื่อวินิจฉัยไปในทิศทางใดแล้วถึงจะบอกได้ว่าทิศทางจากนี้ไปของพรรคก้าวไกลในสภาจะเป็นอย่างไร

จะโดนยุบหรือไม่หรือจะถูกจำกัดขอบเขตการเสนอแก้กฎหมายใดๆ วันที่ 31 ม.ค.จะเป็นคำวินิจฉัยที่มีความสำคัญมากกว่ากรณีถือสื่อถ้าวินิจฉัยในเชิงกำหนดขอบเขตว่าการเสนอร่างกฎหมาย การแก้กฎหมายทำได้แค่ไหน หรือทำได้ ทำไม่ได้ตรงไหน จะเป็นตัวกำหนดบทบาทในสภาที่จะเกิดขึ้นหลังวันที่ 31 ม.ค.

ถ้าวินิจฉัยว่าไม่สามารถแก้กฎหมาย เช่น มาตรา 112 ได้ จะเป็นการขยายขอบเขตอำนาจของตุลาการให้ล้ำเขตอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งไม่ได้มีผลเฉพาะกับพรรคก้าวไกล แต่มีผลกับสส.ทุกคนในสภา

มองว่าการวินิจฉัยในวันที่ 31 ม.ค.นี้คงไม่ถึงขั้นยุบพรรค เพราะกฎหมายระบุไว้ชัดเจนผู้ที่พบเห็นการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองซึ่งกลุ่มคนที่ร้องเรียนในเรื่องนี้ก็พยายามที่จะตีความว่าการแก้กฎหมายมาตรา 112 เป็นการล้มล้างการปกครอง

ซึ่งถ้าเข้าข่ายว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง ตัวกฎหมายกำหนดไว้เพียงว่าผู้ไปร้องต่ออัยการสูงสุด หรือศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรทั้งสองจะมีหน้าที่แค่กำหนดให้ผู้ที่ถูกร้องยุติการกระทำนั้น

คือให้พรรคก้าวไกลหยุดการกระทำดังกล่าวเท่านั้น ไม่ถึงขั้นยุบพรรค

แต่ที่อยากให้จับตาคือต้องดูในรายละเอียดของคำวินิจฉัยว่าการให้ยุติการกระทำ หมายถึงการไม่ให้แก้กฎหมายหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นอำนาจตุลาการก็ล้ำเข้ามาในฝ่ายนิติบัญญัติ

สุขุม นวลสกุล

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง

การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้นายพิธายังคงมีสมาชิกภาพ สส. คำวินิจฉัยดังกล่าวคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรในด้านการเมืองมากนักโดยเฉพาะในแง่ของฝั่งรัฐบาลที่จะเกิดจากการที่นายพิธาพ้นคดี

แต่ต้องยอมรับว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง รวมทั้งพรรคเพื่อไทยจะมีคู่แข่งที่น่าหนักใจ เพราะนายพิธาจะดึงความสนใจจากประชาชนไปได้มาก การที่นายพิธาเป็นเบอร์หนึ่งที่ประชาชนคาดหวังอยากให้เป็นนายกฯ มากที่สุด ก็เท่ากับว่าตอนนี้จะมีคู่แข่งที่ชัดเจน

ที่นายพิธาระบุจะเดินหน้าทำงานให้ประชาชนอย่างเต็มที่ รัฐบาลไม่ได้ถูกกระทบในแง่การทำงานของนายพิธา เพราะนายพิธาไม่ได้มีเป้าหมายจะล้มรัฐบาล จะเป็นการทำงานของแต่ละฝ่าย

แต่สิ่งที่รัฐบาลจะได้รับผลกระทบต่อการทำงานน่าจะมาจากอำนาจเก่า อำนาจราชการ หรืออำนาจที่มีการแต่งตั้งกันไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว ทั้งหน่วยงานเศรษฐกิจ หน่วยงานความมั่นคงทั้งหลาย

ส่วนการกลับมาของนายพิธาต่อพรรคก้าวไกล แน่นอนความเข้มแข็งของพรรคจะมีมากขึ้น เพราะนายพิธาเป็นแม่เหล็กของพรรคก้าวไกล และได้รับความเห็นใจเป็นอย่างมากจากการที่พลาดเป็นนายกฯ หรือโดนคดีถือหุ้น จนต้องหยุดทำงานไปในระยะหนึ่งด้วย

เท่าที่ดูตอนนี้ คิดว่าพรรคก้าวไกลมุ่งเป้าไปยังผลการเลือกตั้งครั้งหน้ามากกว่า ตอนนี้พรรคก้าวไกลลงพื้นที่ตามจังหวัดต่างๆ และมีทุนเดิมจากการได้เป็นที่หนึ่งแต่ไม่ได้เป็นรัฐบาล ผู้คนย่อมเห็นใจ

ส่วนการทำงานในสภา เห็นกันอยู่ว่าพรรคก้าวไกลทำงานเป็นระบบ มีตัวตายตัวแทนการอภิปรายครั้งล่าสุดพรรคก้าวไกลนำเสนอคนรุ่นใหม่มาร่วมอภิปราย ก็ได้คุณภาพไม่แพ้คนรุ่นเก่า

ดังนั้น การเมืองในภาพรวมจะมีความเข้มข้นมากขึ้นอีกทั้งประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของฝั่งการเมืองได้มากขึ้น

ตอนนี้การเมืองไทยถือว่าก้าวหน้ามาเป็นลำดับ แต่จะให้ดีขึ้นแบบกลับหลังหันคงเป็นไปไม่ได้วันนี้ต้องยอมรับเสียงของประชาชนมีส่วนเป็นอย่างมาก เพราะนักการเมืองหลายคนเริ่มตระหนักขึ้นมีความรู้สึกว่าการกระทำของตัวเองต้องเข้าตาประชาชนด้วย

หากเทียบรัฐบาลชุดก่อน จะเห็นว่าการเมืองยุคนี้จะฟังเสียงประชาชนมากขึ้น อย่างนายกฯแม้ทำงานยังไม่เข้าตามากนัก แต่คนก็เห็นว่านายกฯ มีความพยายามที่จะทำ เหมือนที่เคยพูดว่าจะทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย พูดง่ายๆ คือ จะทำงานอะไรก็ต้องให้ประชาชนรับรู้

ส่วนนายพิธาก็มีเสน่ห์อย่างที่นักการเมืองควรมี คือ พูดจาให้ประชาชนรับรู้และเห็นด้วย แต่อีกฝั่งหนึ่งก็จะมองว่านายพิธาเป็นภัยต่อระบบที่มีอยู่ เพราะนายพิธาและพรรคก้าวไกลประกาศชัดเจนจะเข้ามาแก้ไขระบบที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น ฉะนั้นฝั่งที่จะเสียประโยชน์ก็คงจับตามองนายพิธามาก เช่นกัน

ส่วนวันที่ 31 ม.ค. ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองนั้น ส่วนตัวไม่เป็นห่วงเรื่องนี้ คิดว่าแนวทางน่าจะเป็นไปตามความคาดหมายของผู้คน ไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่

อีกทั้งเป็นเรื่องที่สส.พรรคก้าวไกลสมัยที่แล้วนำโดยพิธา ร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 เข้าสภา และนำไปเป็นนโยบายหาเสียงเท่านั้นดังนั้นไม่ใช่เรื่องที่ต้องเป็นห่วงอะไร

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ผอ.หลักสูตรการเมือง

และยุทธศาสตร์การพัฒนา นิด้า

หลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญภาพรวมของพรรคก้าวไกลจะมีความเข้มข้นขึ้น เพราะได้รับการเสริมพลังจากนายพิธา ทั้งในสภาและนอกสภา

การทำงานในสภาจะเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลมากขึ้น ขณะที่งานนอกสภายังสามารถออกไปแสดงความคิดเห็น หรือเข้าหาประชาชนเพื่อนำไปสู่การสร้างคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันเมื่อครั้งนายพิธาเป็นสส.ยังดำรงตำแหน่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีถือเป็นประเด็นสำคัญที่จะทำให้พรรคก้าวไกลยังมีโอกาสที่จะไปเป็นรัฐบาลได้หากเกิดการพลิกผันทางการเมือง ซึ่งต่างจากกรณีที่นายพิธา ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง หรือพ้นจากการเป็นสส.ถ้าเป็นกรณีแบบนั้นพรรคก้าวไกลจะไม่มีโอกาส

ในส่วนของรัฐบาลน่าจะมีความกังวลมากขึ้นจากการทำงานของพรรคก้าวไกล เพราะที่ผ่านมาการทำงานของพรรคก้าวไกลดึงคะแนนนิยมได้ต่อเนื่องหลังจากการเลือกตั้ง เห็นได้จากผลโพล เช่น นิด้าโพล สะท้อนเป็นข้อมูลให้เห็นชัดว่าพรรคก้าวไกลมีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น

โดยช่วงการเลือกตั้งได้คะแนนนิยม 39% แต่มาถึงช่วงเดือนธ.ค.ไปถึง 44% ถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเมื่อนายพิธาเข้ามาเป็นสส. โอกาสจะสร้างคะแนนนิยมเพิ่มมากขึ้นก็อาจเป็นไปในลักษณะขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมายังไม่สามารถทำคะแนนนิยมได้เพิ่มมากขึ้น เป็นผลมาจากนโยบายที่ยังไม่แน่นอนและไม่ชัดเจน และยังไม่เห็นผล คะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยจึงตกลง

ส่วนที่ห่วงกันว่านายพิธาและพรรคก้าวไกลยังมีคดีเรื่องนโยบายหาเสียง การแก้ไขมาตรา 112 ที่ศาลจะมีคำวินิจฉัยในวันที่ 31 มี.ค.นั้น ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ถ้าออกมาเป็นคุณ พรรคก้าวไกลก็ยังทำหน้าที่ในสภาต่อไปนายพิธาก็ยังทำหน้าที่ตรวจสอบคู่กับนายชัยธวัช ตุลาธน ผู้นำฝ่ายค้าน

ถ้าไม่ถูกยุบพรรคคะแนนนิยมจะเป็นไปลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยประชาชนจะดูจากผลงานประกอบด้วย แต่ถ้าถูกยุบแล้วไปตั้งพรรคใหม่สถานการณ์จะต่างกัน

คนจำนวนมากจะรู้สึกว่าพรรคก้าวไกลถูกรังแก คนที่เลือกและนิยมอยู่แล้วก็จะนิยมเพิ่มขึ้น ส่วนคนที่ยังลังเลอยู่อาจรู้สึกว่าถูกรังแกอีกแล้ว หรือมีคำถามว่าพรรคการเมืองหาเสียงไม่ได้หรือ

อาจทำให้คะแนนนิยมจากที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น กลายเป็นเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด

กรณีแบบนี้เคยมีตัวอย่างเกิดขึ้นมาแล้วตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

ถ้ากลุ่มชนชั้นนำที่มีอำนาจฉลาด พรรคก้าวไกลคงไม่ถูกยุบแต่ถ้าคิดแบบระยะสั้น คิดเพื่อความสะใจคิดจะใช้วิธียุบพรรคมาสกัดจะสร้างปัญหาให้สังคมไทย และความขัดแย้งอาจลุกลามนอกสภา

การเลือกตั้งครั้งต่อไปก็จะทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมและชนชั้นนำทั้งหลายได้รับบทเรียนจากประชาชนมากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน