สภาฯ ถกญัตติด่วน จี้รัฐบาล เร่งแก้ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน ป้องเกิดเหตุซ้ำ สร้างโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย ย้ำไม่โทษครู แต่ฝ่ายบริหารต้องใส่ใจ

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 31 ม.ค. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม พิจารณาญัตติด่วนด้วยวาจาให้สภาฯ ได้ร่วมกันให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐบาล

เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด ของนายสุภกร ตันติไพบูลย์ธนะ สส.กทม. พรรคก้าวไกล และรวมญัตติลักษณะเดียวกันอีก 2 ญัตติ ของน.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส.กทม. พรรคเพื่อไทย และนพ.ทศพร เสรีรักษ์ สส.แพร่ พรรคเพื่อไทย เพื่อพิจารณาไปในคราวเดียวกัน

โดยนายสุภกร กล่าวว่า ความรุนแรงในปัจุจบันเป็นความรุนแรงที่น่าเป็นห่วงมาก เป็นความรุนแรงที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บ ไปจนถึงขั้นเสียชีวิต อย่างกรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียนมัธยมย่านพัฒนาการ กรณีตะลุมบอนกลางโรงอาหารของเด็กนักเรียนที่จ.ชลบุรี และกรณีครูลงโทษเด็กนักเรียนอย่างพิศดารที่ จ.สมุทรปราการ

ทั้ง 3 กรณีนี้ทำให้เห็นว่ามีความรุนแรงแฝงตัวอยู่ในโรงเรียน ซึ่งมาจกระบอบอำนาจนิยมที่กดทับเด็ก สะสม บีบคั้นเด็กทุกวัน ตลอดจนถึงการบูลลี่กันในโรงเรียนจนสั่งสมเป็นความเครียด และนำมาสู่การระเบิดอารมณ์แก้แค้นกัน

ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่มากที่พวกเราควรหันมาใส่ใจให้มากขึ้น เพื่อหาทางออกและทำให้โรงเรียนกลับมาเป็นพื้นที่ปลอดภัยของนักเรียน และเป็นสถานที่ที่พ่อแม่ไว้วางใจได้อีกครั้ง

ยิ่งไปกว่านั้นปัญหาการใช้ความรุนแรงในโรงเรียนไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะช่วงเวลาที่เกิดเหตุ แต่การศึกษาและวิจัยจำนวนมากพบว่า การใช้ความรุนแรงในโรงเรียนจะสร้างบาดแผลในระยะยาวทั้งต่อร่างกายและจิตใจ ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้ถูกกระทำ

ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นตนไม่โทษครู แต่โทษฝ่ายบริหารที่ไม่ให้ความสำคัญไม่สนใจในเรื่องนี้เลย มีการอบรมซักซ้อมเพื่อรับมือเหตุการณ์ ไม่มีนโยบายที่ชัดเจน ที่มุ่งทำให้โรงเรียนปลอดภัย

ด้านน.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจกับการสูญเสียของเด็กนักเรียนที่ถูกทำร้ายช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความสะเทือนใจอย่างมาก ดังนั้น เราต้องมาหาแนวทางป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำแล้วซ้ำเล่า อย่าโยนหน้าที่นี้ให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ความรุนแรงในโรงเรียนเกิดบ่อยและเกิดขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ จากผลรายงานการวิจัยของโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด ที่ทำการสำรวจเด็ก 1.5 แสนคนทั่วประเทศ พบว่าเด็กนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา อาชีวะศึกษา ปวช. ปวส. โดย 1 ใน 10 ประมาณ 7 หมื่นคนตกอยู่ในวังวนของการใช้กำลังความรุนแรง ใช้กำลังระหว่างเพื่อนด้วยกันเองหรือไซเบอร์บูลลี่ หลายครั้งนำไปสู่การทำร้ายตัวเองบ่อยครั้งมาก

นอกจากเหตุการณ์ที่นักเรียนเป็นผู้กระทำแล้ว ยังมีกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจล่วงละเมิดทางเพศกับนักเรียนหญิงขณะเดินทางไปโรงเรียน เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย ทำไมจึงมีเหตุการณ์ที่เราพยายามป้องกันแต่เกิดถี่ขึ้น

ดังนั้น พวกเราและรัฐบาลต้องร่วมมือกันหาแนวทางป้องกันเหตุร้าย ไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้อีก ถึงเวลาแล้วที่พวกเราทุกคนต้องหยุดความรุนแรงในโรงเรียน สร้างพื้นที่ในโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเปิดให้สมาชิกอภิปรายแสดงความคิดเห็น สส.ทั้งหมด เห็นไปในแนวทางเดียวกันว่าสภาฯ สมควรส่งข้อเสนอและและแนวทางให้รัฐบาลเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน เด็กและเยาวชนต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน