“โรม” ชี้ นิรโทษกรรม ต้องไม่จำกัดมาตรา เสนอโมเดล ตั้งกรรมการกลั่นกรองชี้ขาด โวย อย่าให้มีแค่คณะรัฐประหาร ที่ได้นิรโทษ ชง 4 หลักการให้กมธ.พิจารณา

เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาญัตติด่วนขอให้สภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาการออกกฎหมายนิรโทษกรรม โดยนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายว่า แนวความคิดในการนิรโทษกรรมต้องไม่เริ่มต้นด้วยการจำกัดว่า ถ้าทำความผิดมาตรานี้ ข้อหานี้ จะไม่ได้รับการนิรโทษกรรม

หากเริ่มขีดเส้นแบบนั้นก็จะมีคนจำนวนมากที่ไม่ได้รับความยุติธรรม ดังนั้น เราต้องดีไซน์ให้ประตูนี้เปิดกว้างที่สุด อย่ากำหนดอย่างเช่นข้อหามาตรา 112 จะไม่ได้นิรโทษกรรม เราทำแบบนี้ไม่ได้

ดูจากเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมาได้เห็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยพรรคก้าวไกลพยายามแก้วิกฤตทางการเมือง แต่เราต้องยอมรับว่าผลคำวินิจของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้การหาทางออกทางการเมืองยากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ตนก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า อย่างน้อยสภาฯ แห่งนี้ จะเป็นส่วนสำคัญที่อย่างน้อยเราได้ถอนฟืนออกจากกองไฟเสียบ้าง อาจจะยังไม่ได้แก้ปัญหาทั้งหมด แต่อย่างน้อยสภาฯ กำลังคืนคนที่ออกไปเรียกร้องประชาธิปไตย ที่การเรียกร้องเหล่านี้ไม่ควรเป็นความผิดทางอาญาให้กลับคืนสู่สังคม

พรรคก้าวไกลเคยนำเสนอร่างนิรโทษกรรม ซึ่งมี 4 หลักการที่กมธ.ควรนำไปพิจารณา คือ 1.อย่ากำหนดมาตราที่นิรโทษกรรมไม่ได้ 2.หากจะจำกัดว่าอะไรที่ห้ามนิรโทษกรรม ควรมีลักษณะที่ร้ายแรง คือเป็นผู้กระทำผิดตามมาตรา 113 เป็นผู้กระทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. หรือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่สั่งให้ตีหัวผู้ชุมนุม หรือเป็นการกระทำที่พรากชีวิตผู้อื่น แบบนี้ไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม

3.ผู้ที่ออกไปชุมนุมล้วนปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมือง แม้จะนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งทั้งหมดได้ ดังนั้น ต้องกลั่นกรองโดยไม่ดูแค่มิติทางกฎหมาย แต่ต้องดูมิติทางการเมืองและองค์ประกอบอื่น เราเสนอว่าควรมีคณะกรรมการโดยให้เวลา 2 ปีเพื่อพิจารณา แล้วชี้ขาดว่าใคร กรณีไหนที่สมควรได้รับการนิรโทษกรรม

และ 4.ใครที่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ไม่อยากได้รับการนิรโทษกรรม สามารถสละสิทธิได้ ทั้งนี้ อย่าให้ใครว่าได้ว่ามีแต่ทหารหรือคณะรัฐประหาร ที่ได้รับการนิรโทษกรรม วันนี้สภาฯ ที่มาจากประชาชน ควรทำหน้าที่เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน