สภาฯรับทราบรายงาน ปปง. ปี 65 รทสช. จี้สอบเงินทางการเงิน ‘หมู-ตีนไก่เถื่อน’ หวั่นอาละวาดช่วงตรุษจีน รองเลขาปปง. แจงหากหน่วยงานจับกุมไม่รายงาน ก็ได้แต่นั่งมองตาปริบๆ

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 7 ก.พ.2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม วาระรับทราบรายงานผลการดำเนินงานของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ประจำปีงบประมาณ 2565

โดยพล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการ ปปง. ชี้แจงว่า ปปง. มีคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สิน จำนวน 210 คำสั่ง 163 รายคดี มูลค่าทรัพย์สินประมาณ 3,658.79 ล้านบาท และได้คุ้มครองสิทธิ์ผู้เสียหายจำนวน 45 เรื่อง มูลค่าทรัพย์สินประมาณ 823.10 ล้านบาท

ดำเนินการบริหารจัดการเก็บรักษาทรัพย์สินจากการยึดและอายัดไว้มูลค่าประมาณ 38,438.54 ล้านบาท ขายทอดตลาดทรัพย์สินจำนวน 23 ครั้ง มูลค่าประมาณ 167.77 ล้านบาท มีรายได้จากการนำทรัพย์สินออกมาบริหารประมาณ 21.11 ล้านบาท นำทรัพย์สินส่งคืนเจ้าของประมาณ 4,880.33 ล้านบาท นำทรัพย์สินที่ศาลสั่งตกให้เป็นของแผ่นดินประมาณ 2,746.57 ล้านบาท

จากนั้นสมาชิกได้อภิปรายแสดงความคิดเห็น โดยนายสุภกร ตันติไพบูลย์ธนะ สส.กทม. พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ปปง.ดำเนินการได้ตามเป้าหมาย แต่ทำไมสถานการณ์การฉ้อโกงรุนแรงมากขึ้นหรือว่า ปปง.ตั้งเป้าหมายในการจัดการปัญหาที่ต่ำเกินไป หรือตั้งเป้าหมายไม่ตรงจุด ถึงเวลาแล้วที่ ปปง.ควรต้องเปลี่ยนตัวชี้วัด โดยเอาสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาการฉ้อโกงหรือมูลค่าความเสียหายทางการเงินมาเป็นตัวชี้วัดอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันการฟอกเงินอย่างเป็นระบบ

ส่วนเรื่องการร้องเรียนของประชาชน พบว่าช่องทางการร้องเรียนที่ง่ายที่สุดคือ สายด่วน ปปง.1710 มีเรื่องรับร้องเรียนเพียง 2 กรณีในปี 65 อยากทราบทำไมน้อยขนาดนี้ ระบบสายด่วนมีปัญหาหรืออุปสรรคต่อประชาชนหรือไม่ ขณะที่มูลค่าความเสียหายจากอาชญากรรมหรือการฉ้อโกงทางการเงินปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท ดังนั้น ปปง.ควรประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าถึงการร้องเรียน

ด้านนายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.) อภิปรายว่า เห็นกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ออกหมายจับทั้งหมูเถื่อนและตีนไก่ มีผู้ต้องหามามอบตัวหลายราย แต่ไม่ทราบว่าได้ส่งเรื่องให้ปปง.ตรวจสอบเส้นทางการเงินและอายัดเงินหรือยัง เพราะเห็นว่าเรื่องเงียบหายไป ไม่มีความคืบหน้าเลย ทำให้ผู้ประกอบการไม่ได้เกรงกลัว เพราะแค่ไปมอบตัวแล้วจบกันไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

แต่ถ้าปปง.ดำเนินการอายัดหรือยึดเงินที่เกี่ยวข้อง ก็จะเป็นประโยชน์กับการป้องกันการนำเข้าหมูเถื่อน แม้มีการเอาหมูและตีนไก่ไปฝังกลบ ทำลายแล้วก็ตาม แต่ปัจจุบันหมูเถื่อนก็ยังอยู่ในตลาดอีกเป็นจำนวนมาก ยังนำเอามาขายอยู่ในตลาด โดยยังไม่เห็นว่ามีหน่วยงานใดเข้าไปจับกุม ทำให้กลายเป็นเรื่องปกติ เพราะหน่วยงานรัฐทำงานไม่จริงจังและไม่เต็มที่ที่จะป้องกันและปราบปรามเรื่องเหล่านี้ และเชื่อว่าหมูเถื่อนจะออกมาอาละวาดช่วงตรุษจีน

ขณะที่พล.ต.ต.เอกรักษ์ ชี้แจงว่า ตอนนี้ปปง.ดำเนินการในเชิงรุกมากขึ้นตามที่นายกฯมอบหมาย โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ยืนยันว่าถ้าไม่มีการจับกุมความผิดมูลฐาน ปปง.ก็ได้แต่นั่งมองตาปริบๆ ทำอะไรไม่ได้ หรือบางครั้งหน่วยงานที่จับกุมยังไม่ได้รายงานมา ปปง.ก็ทำอะไรไม่ได้ ทำได้แค่ประสานข้อมูลให้เขารายงานมาโดยไว เพื่อเราจะได้ไปดำเนินการทางแพ่งก่อนที่ทรัพย์สินจะถูกเคลื่อนย้าย ซึ่งตรงนี้เรากำลังพยายามปรับเปลี่ยนแต่อาจต้องใช้เวลาบ้าง

ทั้งนี้ ปัญหาของ ปปง.คือ ข้อจำกัดด้านงบประมาณ เนื่องจากปปง.ตั้งอยู่ในกทม. มีพื้นที่รับผิดชอบทั่วราชอาณาจักร งบประมาณแต่ละปีได้ค่อนข้างน้อย เรามีข้าราชการ 500 คน เป็นส่วนปฏิบัติการจริงประมาณ 200 คน อีกส่วนเป็นส่วนสนับสนุนเนื่องจากงานปปง. มีหลายด้าน

“เราพยายามขอคนเพิ่ม ของบประมาณเพิ่มแต่ยังไม่ได้รับ โดยเฉพาะงบ 67 ที่ใช้ไปพลางก่อนทำให้การทำงานของ ปปง.ค่อนข้างจำกัด แต่สิ่งสำคัญคือกฎหมายปปง.ที่ใช้มา 20 กว่าปี ทำให้คนร้ายเริ่มมองแผนของปปง.ออก จึงไม่มีการยึดทรัพย์สินได้แบบมหาศาล เป็นพันๆล้านบาทเหมือนที่ผ่านมา” พล.ต.ต.เอกรักษ์ กล่าว

รองเลขาฯปปง.กล่าวว่า ขณะเดียวกันเราพยายามขอแก้กฎหมายให้เป็นปัจจุบันเพื่อให้ตามทันคนร้าย โดยเฉพาะเทคโนโลยีบล็อกเชน และคริปโต ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างรอสภาฯพิจารณา

พล.ต.ต.เอกรักษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่ถามว่าทำไมคดีหมูเถื่อนยึดทรัพย์ได้น้อย เพราะส่วนใหญ่ผู้ต้องหาเป็นนิติบุคคล กรรมการที่ตกเป็นผู้ต้องหาตรวจสอบทรัพย์แล้ว หลังจากเป็นข่าวครึกโครมมานาน ทรัพย์ที่เหลืออยู่ให้เรายึดเหลือประมาณไม่ถึง 100 ล้านบาท ตนก็มองว่าน้อย แต่มาตรการของปปง.เองคือผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์เราสามารถยึดได้

ตอนนี้ปปง.วิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินร่วมกับดีเอสไอ มีอีก 2,388 ตู้ที่มีการนำเข้ามาแล้ว แล้วขายของไปแล้วเหลือแต่กระดาษ วันนี้เรามีทีมพิเศษที่ร่วมกับดีเอสไอ วิเคราะห์ตรงนี้เพื่อดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่เหลือกับของที่ขายไปแล้ว ตนเชื่อว่าอีกไม่นานคดีนี้น่าจะมีข้อมูลที่นำเสนอต่อสาธารณะและสังคมว่ารัฐได้ดำเนินการเข้มงวดกับผู้กระทำความผิดเพียงได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน