4 สถาบันเครือข่ายแพทย์ ออกจดหมายด่วนที่สุดถึง ‘ชลน่าน’ จี้แก้ปัญหา สปสช.จ่ายเงินรักษาผู้ป่วยแค่ 57% ของค่าพยาบาลจริง แนะเลิกใช้โมเดล 5 ในพื้นที่ กทม.

จากกรณีวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา เครือข่ายคลินิกชุมชนอบอุ่นในกรุงเทพมหานคร (กทม.) กว่า 100 แห่ง ขึ้นป้ายดำประท้วง กรณีการเบิกจ่ายงบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ส่งผลให้ขาดสภาพคล่องในเครือข่ายแพทย์ 4 สถาบัน ประกอบด้วย เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย, ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป, ชมรมโรงพยาบาลสถาบันกรมการแพทย์ และสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น

วันที่ 8 ก.พ.2567 ทาง 4 สถาบันได้ส่งจดหมายเปิดผนึกด่วนที่สุด ถึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง ข้อเท็จจริงและข้อเสนอประกอบการแก้ปัญหาเรื้อรังจากการบริหารจัดการของ สปสช. ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

โดยระบุว่า ในระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิใน กทม. สปสช.เขต 13 และคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ (อปสข.) เขต 13 มีการปรับระบบบริการที่ผิดพลาดจากโมเดล 2 เป็นโมเดล 5 ในปีงบประมาณ 2564 ส่งผลกระทบให้มูลค่าการบริการเกินกว่าการบริการเกือบ 300 ล้านบาท โดย สปสช.จ่ายบริการชดเชยค่าบริการผู้ป่วยนอกแก่คลินิกชุมชนอบอุ่น เพียงร้อยละ 57 ของค่าบริการจริง

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2567 ปรากฎว่ามีการจ่ายค่าบริการในไตรมาสแรกเกินกว่า ร้อยละ 50 ของงบประมาณ มีแนวโน้มจะมีปัญหาเช่นเดียวกับปี 2566

จึงเรียกร้องให้หยุดใช้โมเดล 5 ในกทม.โดยเร็ว และกลับไปใช้โมเดล 2 และแนะนำให้จัดสรรงบประมาณค่าบริการผู้ป่วยนอกเพิ่มเติมให้เพียงพอสำหรับการบริการใน 3 ไตรมาส ที่เหลือของปีงบประมาณ 2567 และจ่ายเงินค่าบริการทางการแพทย์ในอัตราปกติ และไม่ควรขยายบริการโมเดล 5 ออกไปนอกกทม.

ส่วนระบบบริการสุขภาพในภูมิภาค ซึ่งดำเนินการโดยสถานบริการของกระทรวงสาธารณสุข เกือบร้อยละ 100 นั้น พบปัญหา ได้แก่ ค่าบริการเหมาจ่ายรายหัว สปสช. จ่ายให้ต่ำกว่าต้นทุนอย่างมาก เมื่อปี 2567 ต้นทุนในหน่วยบริการโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไปของกระทรวงสาธารณสุข ในส่วนของผู้ป่วยในอยู่ที่ 13,142 บาท ต่อ 1 AdjRW แต่สปสช. กลับจ่ายในอัตรา 8,350 บาท ต่อ 1 AdjRW หรือ ร้อยละ 63 ของต้นทุนบริการมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมาก ไม่มีการปรับเพิ่มอัตราจ่ายให้หน่วยบริการ

ในปี 2566 สปสช. คาดว่าบริการผู้ป่วยในต่ำกว่าความเป็นจริงมาก เพราะสถาการณ์โควิด-19 ผู้ป่วยถูกเลื่อนบริการ ทำให้มีผู้ป่วยตกค้างจำนวนมาก เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ยอดบริการผู้ป่วยจึงปรับเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ สปสช.ไม่เคยประสานกับหน่วยบริการในการประเมินฉากทัศน์ และใช้วิธีแก้ปัญหาเดิม ๆ ดึงเงินค่าบริการผู้ป่วยในกลับจากโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข 710 แห่ง รวมเป็นเงิน 2,200 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการจ่ายค่าบริการเพียง 7,678 บาท ต่อ 1 AdjRW หรือ คิดเป็น ร้อยละ 58 ของต้นทุน

การจ่ายค่าบริการต่ำกว่าทุนทำให้ทำให้หน่วยบริการประสบปัญหาวิกฤตการเงิน รพ.เอกชน ออกจากระบบหลักประกันสุขภาพ หากปล่อยเป็นเช่นนี้ อนาคตจะกระทบต่อบริการประชาชน

ที่ผ่านมา สปสช.ประกาศปรับอัตราการเบิกจ่าย ไม่เคยมีการตกลงร่วมกับหน่อยบริการ ทั้งที่ต้นทุนโรงพยาบาลแต่ละระดับที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ ทางเครือข่ายสถานพยาบาลฯ ยังมีข้อเสนอแนะ ใช้เงินกองทุนรายได้ (ต่ำ) กว่ารายจ่ายสะสม เนื่องจากเป็นการให้บริการเกินเป้าหมายจริง, ค่ารักษาส่วนที่เกินจากการประมาณการ สปสช. ควรแสดงความรับผิดชอบ ไม่ใช่ผลักภาระให้หน่วยบริการ

สปสช.ต้องลงบัญชีเป็นลูกหนี้ ของโรงพยาบาลที่เคยเรียกคืน ไม่ใช่ลงบัญชีว่า โรงพยาบาลเป็นลูกหนี้สปสช. และต้องลดขั้นตอนและลดการกำหนดข้อมูลที่มากเกินจำเป็น พร้อมสนับสนุนให้เร่งรัดจัดตั้งเครือข่ายสถานพยาบาล Provider Board เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม ใช้ข้อมูลการบริการจริงในการคำนวณวงเงิน

โดยวันที่ 14 ก.พ. เวลา 10.00 น. ทาง 4 สถาบัน นัดรวมพลัง ยื่นหนังสือเปิดผนึกต่อ นพ.ชลน่าน ในฐานะประธานบอร์ด สปสช พร้อมข้อเสนอ ปรับปรุงการดำเนินการของ สปสช และเร่งรัดจัดตั้งองค์กรสถานพยาบาล (provider board)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน