ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.เพื่อไทย ย้อน พิธา มองแคบปมดิจิทัลวอลเล็ต เตือนป.ป.ช.ทำเกินหน้าที่ ติงอย่าล้ำเส้น ทำประชาชนสับสน

เมื่อวันที่ 11 ก.พ. น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อและรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อและประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล (กก.) ระบุเกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล ไม่ให้เอาไข่ไปใส่ในตะกร้าใบเดียว และต้องมีแผนสองเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจว่า

อยากชวนให้นายพิธามองภาพโครงการดิจิทัลวอลเล็ตให้กว้างขึ้น เพื่อที่จะเข้าใจเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่นำโดยพรรคพท.ซึ่งประกาศชัดเจนตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งจนถึงทุกวันนี้ ว่าเรามีภารกิจสำคัญในการพลิกฟื้นวิกฤตเศรษฐกิจและกระตุ้นขึ้นมาทั้งระบบตั้งแต่ฐานราก ดังที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลังแถลงถึงความสำคัญและจำเป็นของนโยบายเมื่อวันที่ 10 พ.ย.66 ว่า “สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเติบโตเฉลี่ยเพียง 1.9% รั้งท้ายประเทศในกลุ่มอาเซียน ขณะที่ความเหลื่อมล้ำที่เรื้อรังยาวนานมากว่า 10 ปี ส่งผลให้การฟื้นตัวจากช่วงวิกฤตโควิดเป็นแบบคนจนที่แย่อยู่แล้ว แย่ลงไปอีก ขณะที่คนรวยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นห่างจากคนฐานล่างไปเรื่อยๆ”

น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าวว่า การมองเห็นประโยชน์ของดิจิทัลวอลเล็ตเพียงตะกร้าใบเดียว จึงอาจจะคับแคบเกินไป และไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง พรรคพท.มองภาพใหญ่ อย่างที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลังให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 66 ยืนยันว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินใหม่ เป็นประโยชน์ของการพัฒนาประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ตามที่พรรคพท.ได้นำเสนอไว้เมื่อครั้งหาเสียงการเลือกตั้งว่าต้องการ “หยิบเงินในโลกยุคใหม่ใส่มือประชาชน”

น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงข่าวเรื่องข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตนั้น รัฐบาลโดยคณะกรรมการนโยบายฯ ยังอยู่ระหว่างศึกษาและดำเนินการอย่างรอบคอบ มีประสิทธิภาพในเชิงนโยบายที่สุด ซึ่งหมายความว่าเป็นการป้องกันไม่ให้มีช่องทางที่จะนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชั่นได้

แม้ ป.ป.ช. จะเป็นห่วงโดยการจัดทำความเห็นต่อดิจิทัลวอลเล็ต แต่การกระทำดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณามาตรา 234 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งบัญญัติหน้าที่และอำนาจของ ป.ป.ช.ไว้โดยจำกัด เพียงการไต่สวนและมีความเห็นกรณีมีการกล่าวหาว่าผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการของคณะกรรมการนโยบายฯ และรัฐบาลพท.ที่อยู่ระหว่างการศึกษาและดำเนินการอย่างรอบคอบ จะถือว่าเข้าข่ายเป็นเรื่องให้ ป.ป.ช.ต้องเข้ามาพิจารณาในขั้นตอนนี้หรือไม่

“เพราะหากไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.แล้ว ความเห็นขององค์กรอิสระที่ส่อไปในทางชี้นำการบริหารของรัฐบาลเช่นนี้ ย่อมถือเป็นการล้ำเส้น แทรกแซงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่สำคัญคือสร้างความสับสนให้กับประชาชน และทำลายความหวังของกลุ่มเป้าหมายที่รอคอยนโยบายนี้อยู่ ขอย้ำว่า ดิจิทัลวอลเล็ตเป็นความจำเป็นที่รัฐบาลพท.พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปพร้อมกัน ด้วยความกล้าไม่ใช่ความกลัว ด้วยแผนหลักดิจิทัลวอลเล็ต ไม่มีแผนสำรอง จะดำเนินการกระตุ้นฐานราก พร้อมกับการเปลี่ยนภูมิทัศน์เศรษฐกิจดิจิทัลประเทศไทยไปตลอดกาล เลิกใช้โวหาร สร้างความความเข้าใจผิดให้ประชาชน“ น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน