เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2567 สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง จำนวนคนไทยในวิกฤตการเงิน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 1,146 ราย ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 7-10 ก.พ.ที่ผ่านมา

จากการประมาณการทางสถิติกลุ่มประชากรคนไทยอายุ 16–85 ปี มีจำนวนทั้งสิ้น 53,417,480 คน ที่ระบุ การเงินในกระเป๋าของตนเองอยู่ในขั้นวิกฤต พบว่า ประมาณครึ่งต่อครึ่ง หรือร้อยละ 50/50 ที่บอกว่าเงินในกระเป๋าของตนเองอยู่ในขั้นวิกฤต กล่าวคือ คนไทยเกือบ 27 ล้านคน คือ จำนวน 26,975,827 คน หรือ ร้อยละ 50.5 ระบุ การเงินในกระเป๋าของตนเองอยู่ในขั้นวิกฤต ในขณะที่อีกร้อยละ 49.5 ระบุไม่อยู่ในขั้นวิกฤต

เมื่อแบ่งออกจากภูมิภาค พบว่า คนในภาคอีสานส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.9 ระบุการเงินในกระเป๋าของตนเอง อยู่ในขั้นวิกฤต มากที่สุด รองลงมาคือ คนในภาคใต้ คือร้อยละ 66.3 คนในภาคกลาง ร้อยละ 47.2 คนในภาคเหนือร้อยละ 35.8 และคนในกรุงเทพฯ ร้อยละ 30.8 ระบุ การเงินในกระเป๋าของตนเอง อยู่ในขั้นวิกฤต

เมื่อถามถึงข้อกังวล ถ้ามีการแจกเงินดิจิทัล พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 32.7 กังวลต่อความไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์ พวกมิจฉาชีพออนไลน์ รองลงมาคือร้อยละ 32.7 เช่นกัน กังวลภาวะเงินเฟ้อ ข้าวของราคาแพง ร้อยละ 30.7 กังวลการทุจริตเชิงนโยบาย

ร้อยละ 24.2 กังวลการสวมสิทธิ ร้อยละ 22.6 กังวลความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้รับความเสียหาย ร้อยละ 21.7 กังวล ประชาชนเสียวินัยการเงิน ขาดความรับผิดชอบ ร้อยละ 19.2 กังวล ประชาชนผู้ห่างไกล เทคโนโลยี เข้าไม่ถึงการแจกเงินนี้ และร้อยละ 14.9 กังวลประเทศสูญเสียโอกาส พัฒนาที่ยั่งยืน ตามลำดับ

ที่น่าพิจารณาคือ ถ้าวันนี้เลือกตั้ง ประชาชนสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนเลือกพรรคในรัฐบาล เมื่อเปรียบเทียบระหว่างเดือนม.ค.ที่ผ่านมา กับ เดือนก.พ.นี้ พบว่า ประชาชนกลับไปจากฝ่ายสนับสนุนและไม่สนับสนุน ไปขออยู่ตรงกลาง ไม่ฝักใฝ่ กล่าวคือ กลุ่มสนับสนุนพรรคเพื่อไทย(พท.)และพรรคร่วมรัฐบาลลดลงจากร้อยละ 40.5 ในเดือนม.ค. ไปอยู่ที่ร้อยละ 31.2

ในขณะที่ กลุ่มไม่สนับสนุนลดลงเช่นกันคือจากร้อยละ 39.3 ลงมาอยู่ที่ ร้อยละ 15.4 น่าจะเป็นผลมาจากการที่คนไทยสองกลุ่มเริ่มหันหน้ามาเผชิญหน้ากันในหลายมิติทั้งจากนโยบายรัฐบาลและไม่เกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล แต่กลุ่มคนที่ขออยู่ตรงกลาง ไม่ฝักใฝ่ กลับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20.2 ในเดือนม.ค. มาอยู่ที่ร้อยละ 53.4 ในการสำรวจครั้งล่าสุด

เมื่อพิจารณาการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของประชาชนคนไทยแล้วยิ่งน่าเป็นห่วงถ้าหากปล่อยให้สถานการณ์บ้านเมือง ความแตกแยกรุนแรงบานปลายขึ้น วิกฤตเศรษฐกิจทั้งระดับฐานรากและภาพรวมของประเทศอาจจะกลายเป็นโจทย์ท้าทายใหญ่โตยิ่งขึ้นไปอีก








Advertisement

ทางออกคือการตัดไฟแต่ต้นลม และการผูกโยงทำไปพร้อมๆ กันระหว่างมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ความมั่นคงแห่งรัฐ และการลดทอนความเป็นตัวตนของกลุ่มสร้างความวุ่นวายต่างๆ ที่จะก่อเกิดความแตกแยกของคนในชาติ เป็นเรื่องที่น่าพิจารณาเร่งด่วนเวลานี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน