เศรษฐา แถลงความคืบหน้า ลั่นจะแก้หนี้ทั้งระบบให้จบภายในรัฐบาลนี้ให้ได้ กำชับ ‘คลัง-ออมสิน-ธ.ก.ส.’ ดูแลลูกหนี้ที้ผ่านการไกล่เกลี่ยแล้วอย่างใกล้ชิด

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 12 ก.พ.2567 ที่ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธานการแถลงความคืบหน้าผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบว่า ตามที่ได้มอบนโยบายเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2566 และวันที่ 12 ธ.ค.2566 กำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับประชาชน ทั้งหนี้นอกระบบและหนี้ในระบบ เป็นวาระแห่งชาติ ตนได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องบูรณาการและประสานงานร่วมกัน ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้ให้กับประชาชนอย่างครบวงจร และแก้ปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ ให้จบภายในรัฐบาลนี้

เผยยอดลงทะเบียน1.4แสนราย
นายกฯ กล่าวว่า ถึงวันนี้ ผ่านมา 2 เดือนแล้ว หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการคืบหน้าไปมาก ขอเล่าถึงดัชนีชี้วัดความสำเร็จ หรือ KPI ของการแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชน ประกอบด้วย 3 ข้อคือ 1.หนี้สินที่ได้รับการแก้ไข จะต้องครอบคลุมทั้งหนี้นอกระบบ และหนี้ในระบบไปพร้อมกัน

2.เจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ลงทะเบียนครบถ้วน จะต้องเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 100% 3.ลูกหนี้ที่ผ่านการไกล่เกลี่ยแล้วทุกราย จะต้องได้รับการพิจารณาสินเชื่อ หรือปรับโครงสร้างหนี้ รวมทั้งได้รับการช่วยเหลือพื้นฟูศักยภาพในการหารายได้

นายเศรษฐา กล่าวว่า ผลการแก้หนี้นอกระบบ ตั้งแต่เปิดรับลงทะเบียนเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2566 มียอดผู้ลงทะเบียนที่เป็นลูกหนี้มากกว่า 1.4 แสนราย ยอดมูลหนี้รวมทั้งสิ้นประมาณ 9.8 พันล้านบาท

ไกล่เกลี่ยลดมูลค่าหนี้ลงกว่า670ล้านบาท
ยอดของรายการที่มีข้อมูลครบและเข้ากระบวนการไกล่เกลี่ยได้ 2.1 หมื่นราย และไกล่เกลี่ยสำเร็จแล้ว 1.2 หมื่นราย คิดเป็น 57% ของจำนวนที่เข้าสู่กระบวนการ และผลการไกล่เกลี่ย ทำให้มูลหนี้ลดลงกว่า 670 ล้านบาท จากยอดผู้ลงทะเบียนที่เป็นลูกหนี้มากกว่า 1.4 แสนราย และไกล่เกลี่ยสำเร็จแล้วประมาณ 1.2 หมื่นราย ยังถือว่าหนทางข้างหน้ายังท้าทายมากสำหรับทุกหน่วยงาน

“เรื่องที่มีความท้าทายมาก หนึ่งในปัญหาหลักเลย คือการที่เจ้าหน้าที่ได้รับข้อมูลการลงทะเบียนข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน หรือเจ้าหนี้ไม่มาเข้าร่วมกระบวนการไกล่เกลี่ย จึงขอให้เจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบ ติดตาม และช่วยเหลือ และขอให้ประชาชนเข้ามาให้ข้อมูลเพื่อประโยชน์ของตัวท่านเองด้วยเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงและกระบวนการไกล่เกลี่ยให้เร็วที่สุด” นายเศรษฐา กล่าว

ทุกจว.เปิดตลาดนัดแก้หนี้เดือนละ4ครั้ง
นายกฯ กล่าวว่า ขอให้กำลังใจกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง และทั่วถึง ครอบคลุมประชาชนทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ในฐานะบันไดขั้นแรกของการช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ ยังต้องเร่งปฏิบัติงานแบบเชิงรุก เร่งหาตัวเจ้าหนี้ และดำเนินการไกล่เกลี่ยให้บรรลุผลให้มากที่สุด

นอกจากนี้ เพื่อให้ประชาชน ติดต่อขอเข้าร่วมการแก้หนี้ได้สะดวกมากขึ้น จึงสั่งการให้กระทรวงมหาดไทย จัดกิจกรรม ตลาดนัดแก้หนี้ ซึ่งทราบว่าได้ดำเนินการในทุกจังหวัดเรียบร้อยแล้ว อย่างน้อยเดือนละ 4 ครั้ง

สั่งตร.กวาดล้างรับจำนำรถผิดกม.
นายเศรษฐา กล่าวว่า บันไดขั้นที่สอง ได้มอบให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระดมกวาดล้างผู้กระทำความผิด เกี่ยวกับหนี้นอกระบบ โดยเฉพาะกลุ่มเจ้าหนี้ที่มีพฤติการณ์ใช้ความรุนแรงทวงหนี้ และรับจำนำรถยนต์-รถจักรยานยนต์โดยผิดกฎหมาย

สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการแล้ว 2 ครั้ง จับกุมผู้กระทำความผิดมากกว่า 1.3 พันราย คิดเป็นมูลหนี้กว่า 40 ล้านบาท ทั้งนี้ ตร.ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จริงจัง ครอบคลุมทุกพื้นที่ การกวาดล้างเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย จะช่วยปลดปล่อยลูกหนี้ให้หลุดพ้นจากวงจรอันโหดร้ายนี้

กำชังคลัง-ออมสิน-ธ.ก.ส.ดูแลลูกหนี้
นายเศรษฐา กล่าวว่า บันไดขั้นที่สาม ได้มอบให้กระทรวงการคลัง โดยธนาคารออมสิน หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)ให้ความช่วยเหลือจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ แก่ลูกหนี้ที่ผ่านการไกล่เกลี่ยมาแล้ว เพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้เพิ่ม และไม่ต้องกลับมาเป็นหนี้นอกระบบซ้ำอีกในอนาคต

ปัจจุบันธนาคารออมสินและธ.ก.ส. มีมาตรการสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้นอกระบบหลายมาตรการ แต่ก็มีปัญหาการเข้าถึงสินเชื่ออยู่บ้าง ไม่ว่าจากกระบวนการ การเตรียมเอกสารรายรับ รายจ่ายย้อนหลัง ที่ลูกหนี้ต้องยื่นและเป็นอุปสรรคต่อการได้รับสินเชื่อ ซึ่งได้กำชับกับธนาคารทั้ง 2 แล้ว ให้ดูแลลูกหนี้กลุ่มนี้อย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ

“อยากให้ธนาคารของรัฐ นำเงินกลับไปช่วยเหลือพี่น้องที่ยากลำบากมากกว่ากอดผลกำไรไว้ ขณะที่อีกหลายครอบครัวทนทุกข์กับหนี้นอกระบบ ที่ดอกเบี้ยสูงกว่ากฎหมายกำหนด ปัญหาอีกส่วนหนึ่งคือ การที่เจ้าหนี้ไม่เข้ามาในกระบวนการเพื่อยืนยันว่ามีหนี้จริง ก่อนให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ร่วมกันทำสัญญาให้ดอกเบี้ยเป็นไปตามกฏหมาย” นายกฯกล่าว

เร่งสร้างรายได้-ไม่เป็นหนี้ซ้ำอีก
นายเศรษฐา กล่าวว่า สำหรับบันไดขั้นสุดท้าย ที่จะช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ ไม่ให้กลับมาเป็นหนี้ซ้ำอีกคือ การสร้างรายได้เพิ่ม ให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต้องร่วมกันเสริมทัพเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน หาอาชีพ และสร้างรายได้เพิ่มให้กับประชาชน

แบ่ง4กลุ่มลูกหนี้ในระบบ
นายกฯ กล่าวว่า ผลการแก้หนี้ในระบบ ในส่วนของหนี้ในระบบ แบ่งกลุ่มลูกหนี้เป็น 4 กลุ่ม บางกลุ่มได้รับความช่วยเหลือไปแล้ว แต่บางกลุ่มยังอยู่ระหว่างดำเนินการ ขอให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการดำเนินงานให้เสร็จโดยเร็ว

โดยกลุ่มที่ 1 ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือ ลูกหนี้รหัส 21 ลูกหนี้กลุ่มนี้ได้รับการช่วยเหลือโดยปิดบัญชีหนี้เสียแล้ว มากกว่า 6.3 แสนบัญชี มูลหนี้กว่า 4 พันล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ลูกหนี้กลับมามีสถานะปกติในระบบเครดิตบูโร และกลับเข้าสู่ระบบการเงินได้ อีกทั้งยังมีการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ SMEs แล้วมากกว่า 1 หมื่นราย มูลหนี้กว่า 5 พัน ล้านบาท

กลุ่มที่ 2 ลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมากจนเกินศักยภาพในการชำระคืนหนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีหนังสือขอความร่วมมือให้สหกรณ์ออมทรัพย์ทุกแห่ง คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่สูงจนเกินไป ไม่ควรเกินร้อยละ 4.75 ซึ่งมีสหกรณ์ออมทรัพย์กว่า 80 แห่ง ทยอยลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงมาแล้ว คาดว่าการลดดอกเบี้ยดังกล่าวจะช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ได้กว่า 3 ล้านราย นอกจากนี้ ลูกหนี้บัตรเครดิต ได้เข้าร่วมปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ในโครงการคลินิกแก้หนี้แล้วมากกว่า 1.5 แสน 5 หมื่นบัญชี

เร่งตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์
กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง โดยเกษตรกรได้รับการพักชำระหนี้แล้วมากกว่า 1.8 ล้านราย มูลหนี้รวมกว่า 2.5 แสนล้านบาท ลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)ได้เข้ามาติดต่อขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วมากกว่า 6 แสนราย ซึ่ง กยศ. สามารถลดหรือปลดหนี้ให้กับลูกหนี้กลุ่มนี้ได้

กลุ่มที่ 4 กลุ่มที่มีหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินมาเป็นเวลานาน ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีหลักเกณฑ์การร่วมทุน ระหว่างสถาบันการเงินกับบริษัทบริหารสินทรัพย์แล้ว และจะขยายหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งธนาคารออมสินอยู่ระหว่างเจรจาผู้ร่วมทุน เพื่อเตรียมจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ คาดว่าจะเสร็จในไตรมาสแรกของปี 2567 เมื่อจัดตั้งแล้ว ลูกหนี้กลุ่มนี้จะโอนขายไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ตั้งขึ้นใหม่เพื่อให้การช่วยเหลือแบบผ่อนปรนต่อไป

ลั่นแก้หนี้ทั้งระบบจบในรัฐบาลนี้
นายกฯกล่าวว่า จากผลดำเนินการใน 2 เดือนที่ผ่านมา แสดงถึงความตั้งใจจริงในการทำงานของทุกหน่วยงาน และความตั้งใจจริงของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนหลุดพ้นจากการเป็นหนี้ ซึ่งการดำเนินการต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ เพื่อให้ปัญหาถูกแก้ไขได้อย่างตรงจุด ตรงประเด็น และทันท่วงที

“ขอขอบคุณทุกหน่วยงาน ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนร่วมกันช่วยปฏิบัติหน้าที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนต่อไป ผมขอให้ความเชื่อมั่นว่า การแก้ไขปัญหาหนี้ของรัฐบาล จะช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทั่วถึง และเราจะแก้หนี้ทั้งระบบให้จบภายในรัฐบาลนี้ให้ได้” นายกฯ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน