สภาฯ ถกญัตติด่วนถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จ ซัดรัฐบาลทำงานล่าช้า เอกนัฏ รู้สึกรังเกียจพฤติกรรมไม่อยากให้เกิดแฟชั่นบั่นทอนสถาบัน ‘จุรินทร์’ เสนอ 4 ข้อ ให้รัฐบาลพิจารณา ย้ำนิรโทษกรรมต้องไม่มีคดี 112

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 14 ก.พ.2567 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เสนอญัตติด่วนด้วยวาจาจำนวน 2 ญัตติ

เรื่องขอให้รัฐบาลเร่งรัดดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมาย ทบทวนระเบียบ แผนและมาตรการถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จให้เหมาะสม ทันสมัย มีการฝึกซ้อม และประชาสัมพันธ์สื่อสารกับประชาชน เพื่อเป็นการถวายความปลอดภัยให้สมพระเกียรติ และรักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ

นายเอกนัฏ กล่าวว่า เนื่องจากเหตุการณ์รบกวนก่อกวนขบวนเสด็จ วันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา หากไม่มีการจัดการเร่งด่วนจะทำให้เหตุการณ์บานปลาย กระทบศีลธรรมและความมั่นคงประเทศ คลิปที่เผยแพร่ทำให้ตกใจ เพราะชัดเจนว่าขบวนเสด็จเป็นขบวนสั้นมาก ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง ไม่มีการปิดถนนให้กระทบการสัญจร แค่ไปเป็นจังหวะ เป็นช่วงตอน แต่มีรถของผู้ก่อเหตุวิ่งไล่ขบวนเสด็จหลังขบวนเสด็จผ่านไปแล้ว

เชื่อว่าความรู้สึกของตนเหมือนกับประชาชนหลายคนในประเทศ รู้สึกโกรธมาก รังเกียจพฤติกรรมที่เกิดขึ้น สิ่งที่คาดหวังคือ เหตุการณ์วันที่ 4ก.พ. เจ้าหน้าที่จะดำเนินการอย่างไรบ้าง แต่ไม่มีท่าทีชัดเจนจากเจ้าหน้าที่ ซ้ำผู้ก่อเหตุยังเหิมเกริมไปทำโพลที่สยาม จนเกิดเหตุปะทะกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย

ดังนั้น จึงต้องเร่งรัดการปฏิบัติหน้าที่ไม่ให้สถานการณ์บานปลายดังนี้ 1.ให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายทันที การเรียกร้องไม่ใช่การล่าแม่มด ใช้ศาลเตี้ยวินิจฉัย แต่เพื่อความสงบเรียบร้อย เจ้าหน้าที่ต้องเร่งบังคับใช้กฎหมาย การใช้สิทธิเสรีภาพมีกรอบต้องไม่ละเมิดหรือทำผิดกฎหมาย

2.การใช้พื้นที่ในสภาฯ ให้มีข้อสรุปการทบทวนระเบียบมาตรการต่างๆ และแผนการอารักขาถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จ แม้ปัจจุบันพ.ร.บ.การถวายความปลอดภัยจะมีความชัดเจน แต่เนื่องจากเป็นภารกิจที่มีความสำคัญ ทำให้กังวลถ้าไม่ทบทวนมาตรการให้เข้มงวดจะเกิดแฟชั่น ค่านิยมใหม่ ถ้าสถานการณ์บานปลายมากกว่านี้ อาจเกิดอุบัติเหตุเหมือนที่เกิดขึ้นกับเจ้าหญิงไดอาน่าได้

นายเอกนัฏกล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นเข้าใจว่า อาจมีความเชื่อมโยงไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง ทำให้เจ้าหน้าที่กังวลใจ ถ้าปฏิบัติเข้มงวดไปจะมีกระแสวิจารณ์หรือไม่ แต่อยากให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเข้มงวด ไม่ต้องรอเวลาหลายวันจนผู้ก่อเหตุไปท้าท้ายทำโพลซ้ำ ดูแล้วช้าไป สิ่งที่กังวลคือ ระเบียบและแผนที่จะออกตามมากับพ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ.2560 จะต้องปรับเปลี่ยน เพราะเป็นระเบียบและแผนเดิมที่ใช้ปี 2548 ยังไม่ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมถึงต้องมีการฝึกซ้อมให้พร้อมด้วย

เท่าที่ดูคลิปตอนเกิดเหตุ ก็ไม่อยากวิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่ เพราะมีแผนไม่ชัดเจนในการปฏิบัติหน้าที่ ภารกิจถวายความปลอดภัยไม่มีที่ใดในโลกที่จะไม่ส่งผลต่อประชาชนเลย แต่ต้องประชาสัมพันธ์กับประชาชนว่า การถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จจะมีผลกระทบอะไรบ้าง ประชาชนต้องทำตัวอย่างไร เชื่อว่าประชาชนพร้อมให้ความร่วมมือ ช่วยเป็นหูตาไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นอีก

ขอย้ำว่า สส.รวมไทยสร้างชาติอยากเห็นบ้านเมืองสงบสุข ไม่อยากให้มีค่านิยมที่เป็นแฟชั่นไปบั่นทอนสถาบันหลักประเทศ ขอให้มีการทบทวนมาตรการดูแลขบวนเสด็จให้เข้มงวด เหมาะสม

ด้านนายจุรินทร์ เสนอเหตุผลในญัตติเรื่องการถวายความปลอดภัย ว่า เมื่อเกิดเหตุการคุกคามขบวนเสด็จเมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา พวกตนจำเป็นต้องเสนอญัตติและมิอาจเพิกเฉยกับการกระทำดังกล่าวได้

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตนมีความเห็น 4 ประการคือ 1.ถือว่าเป็นการกระทำอันไม่บังควรเป็นอย่างยิ่ง และถือว่าการกระทำที่เกินกว่าที่คนไทยผู้จงรักภักดีทั้งประเทศจะยอมรับได้ เป็นการย่ำยีพระผู้ทรงเป็นหัวใจของประชาชน 2.การที่ขบวนเสด็จไม่ปิดถนน ยิ่งสะท้อนพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรโดยชัดแจ้ง เป็นที่ประจักษ์เหนือคำบรรยายใดๆ

3.ตนเห็นว่าสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยคือหัวใจสำคัญของประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่การใช้สิทธิเสรีภาพต้องไม่เป็นการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใคร ฐานันดรใด และต้องใช้สิทธิเสรีภาพที่มีอยู่นั้นภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย

4.ผู้ที่มีหน้าที่ถวายความปลอดภัยนอกจากส่วนราชการในพระองค์แล้ว กลไกสำคัญคือรัฐบาล ที่มีพ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ.2560 ระบุไว้ชัดในมาตรา 6 ว่าให้หน่วยงานรัฐทุกแห่ง มีหน้าที่ในการถวายความปลอดภัยหรือร่วมมือในการถวายความปลอดภัย ซึ่งตนไม่ประสงค์จะทำเรื่องนี้ให้กลายเป็นเรื่องการเมือง

แต่นายกฯ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล และในฐานะผู้ส่งปฏิบัติราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ต้องยอมรับว่านายกฯ ออกมาส่งสัญญาณ แสดงท่าทีความรับผิดชอบช้าจริงๆ เพราะหลังเกิดเหตุป่วนขบวนเสด็จ 7-8 วัน นายกฯจึงส่งสัญญาณเรียก ผบ.ตร.เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้องมาหารือมาตรการรักษาความปลอดภัยขบวนเสด็จ

ขอเสนอข้อเสนอ 4 ข้อเพื่อให้สภาฯ ได้พิจารณา คือ 1.รัฐบาลต้องตระหนักในหน้าที่รักษาความปลอดภัยตามกฎหมาย รวมทั้งให้เป็นไปด้วยความปลอดภัยสมพระเกียรติด้วยความสำนึกกระตือรือร้นจงรักภักดี และควรเร่งรัดดำเนินการมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมาอีก

2.ให้รัฐบาลยึดหลักนิติธรรม บังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัดไม่ว่ากับฝ่ายใด เพื่อทำให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ และไม่เป็นการส่งเสริมการกระทำผิดอีกต่อไปในอนาคต

3.ในฐานะที่รัฐบาลมีเสียงข้างมากทั้งในสภาฯ และในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม รัฐบาลต้องไม่สนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรมความผิดในคดีมาตรา 112 เพราะนอกจากจะเป็นชนวนขัดแย้งรอบใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ยังเท่ากับส่งเสริมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 112 เพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุป่วนขบวนเสด็จยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าไม่สมควรส่งเสริมให้มีการนิรโทษรกรรมความผิดตามมาตรา 112

4.รัฐบาลควรตั้งหลักพิจารณาร่วมกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และพิจารณาทุกอย่างอย่างรอบคอบรอบด้าน ว่าสมควรที่จะมีการปรับปรุงพ.ร.บ.ถวายความปลอดภัย พ.ศ.2560 หรือไม่ โดยเพิ่มเติมให้มีการกำหนดบทลงโทษเป็นการเฉพาะกับผู้ละเมิดพ.ร.บ.ฉบับนี้ รวมทั้งการพิจารณาว่าจำเป็นต้องทบทวนกฎระเบียบ มาตรการต่างๆ เพิ่มเติมอีกด้วยหรือไม่

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ดังนั้น ขอให้สภาฯ ได้มีมติให้ส่งความเห็นเพื่อให้รัฐบาลรับไปพิจารณาดำเนินการ และมีความประสงค์ให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม สภาฯ รับไปประกอบการพิจารณา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภาฯ ในวันนี้สส.ส่วนใหญ่ติดริบบิ้นสีม่วง และบางคนผูกไทด์สีม่วงด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน