รทสช. จี้ “ปดิพัทธ์” รับผิดชอบ ฉะเป็นต้นเหตุ ‘ชาดา-พิเชษฐ์’ โต้เดือด ชี้ วินิจฉัยญัตติด่วนถวายความปลอดภัยวุ่นวาย เกินเจตนารมณ์ของผู้เสนอญัตติ

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2567 นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงกรณีการเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เกี่ยวกับการทบทวนมาตรการการถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จ จนนำไปสู่การตอบโต้ในสภาผู้แทนราษฎร ระหว่าง นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย กับนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 2

โดยนายอัครเดช กล่าวว่า กรณีนี้เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ควรเกิดขึ้น และต้องย้อนกลับไปดูจากสาเหตุว่าเกิดมาจากอะไร ซึ่งในการประชุมวันนั้น ขณะที่สส.พรรคก้าวไกลท่านหนึ่งอภิปรายออกนอกประเด็นของญัตติ

โดยตนในฐานะสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติเจ้าของญัตติ ได้ลุกขึ้นทักท้วงแล้วว่า การอภิปรายของสส.คนดังกล่าว อภิปรายนอกประเด็นในญัตติ โดยเฉพาะการไปกล่าวถึงการปะทะกันระหว่างบุคคล 2 กลุ่ม เพราะเชื่อว่าจะทำให้การประชุมไม่ราบรื่น จะมีการประท้วงและตอบโต้กันไปมา

แต่นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมในขณะนั้น กลับได้ใช้ดุลพินิจวินิจฉัยว่าให้สามารถอภิปรายต่อได้ โดยให้เหตุผลว่าเป็นผลต่อเนื่อง ทั้งที่โดยหลักการแล้ว ประธานควรต้องฟังเจ้าของญัตติที่แถลงด้วยวาจาว่ามีเจตนารมณ์อย่างไร เพราะการวินิจฉัยของประธานมีความสำคัญต่อการควบคุมการประชุมให้ราบรื่นหรือเกิดความวุ่นวาย

ซึ่งวันนั้นเมื่อนายปดิพัทธ์วินิจฉัยเสร็จก็ได้สลับการทำหน้าที่ประธานให้นายพิเชษฐ์ และทำให้นายพิเชษฐ์ต้องใช้คำวินิจฉัยของนายปดิพัทธ์ที่ผิดวัตถุประสงค์ของผู้ที่ยื่นญัตติ มาใช้ควบคุมการประชุมต่อ จนทำให้เกิดความวุ่นวายเสียหายต่อภาพลักษณ์ของสภาฯ และบุคคลทั้ง 2 ท่าน

วันนั้นหากนายปดิพัทธ์ได้ฟังคำทักท้วงของตนที่ลุกขึ้นทักท้วงในที่ประชุม ในฐานะเจ้าของญัตติว่าไม่ได้มีวัตถุประสงค์จะให้อภิปรายถึงการปะทะกันของบุคคล 2 กลุ่ม คือ ผู้ที่ก่อกวนขบวนเสด็จกับกลุ่มที่ออกมาแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับการกระทำ

แต่ยังใช้ดุลพินิจให้อภิปรายต่อได้ จนเกิดปัญหาความไม่เรียบร้อยไปสู่สายตาประชาชน ทำให้การประชุมมีปัญหาและผิดไปจากเจตนารมณ์ของผู้เสนอ ดังนั้น กรณีนี้นายปดิพัทธ์จะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร

“ผมขอถามหาความรับผิดชอบของนายปดิพัทธ์ ในฐานะที่เป็นประธานการประชุมขณะนั้น ที่มีการวินิจฉัยทิ้งไว้จนทำให้การประชุมไม่ราบรื่น กระทบภาพลักษณ์สภา ทำให้สภาเสียหายในสายตาประชาชนและยังทำให้นายชาดา และนายพิเชษฐ์ต้องออกมาโต้แย้งกัน จนเป็นภาพที่ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายโดนสังคมและสื่อโซเซียลถล่ม

โดยที่ทั้ง 2 ฝ่าย มีทั้งที่ชื่นชมและตำหนิ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น และน่าเห็นใจทั้ง 2 ท่านเป็นอย่างยิ่งที่ต่างมีเจตนาดีต่อกันตลอดมา แต่ต้องมาขัดแย้งกันในประเด็นที่ไม่ควรเกิดขึ้นในการประชุมญัตตินี้ ที่เจ้าของญัตติได้มีความห่วงใยระมัดระวังและพยายามป้องกัน ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมาตั้งแต่ต้น” นายอัครเดช กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน