จรัญ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ย้ำอำนาจศาล เพื่อประโยชน์ประเทศชาติและประชาชน ขอน้อมรับคำตัดสินสู่การปรับปรุง หยุดปลุกคนลงถนน

เมื่อวันที่ 16 ก.พ.2567 ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ คณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา จัดสัมมนา เรื่อง “ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมีความสำคัญต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างไร”

โดยนายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวตอนหนึ่งว่า ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่วินิจฉัยตัดสินเรื่องขัดแย้งทางการเมืองที่ถูกส่งต่อมาจากองค์กรอิสระต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่น การฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และสุดท้ายมาจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัยศาลมีผลในการตัดสิทธิ์ ยุบพรรค ทำให้ที่ผ่านมาศาลได้รับผลกระทบ ส่วนตัวก็เคยถูกข่มขู่ แต่ต้องยืนยันว่าศาลต้องทำตามกฎหมาย ทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ทำให้อดทนทำหน้าที่โดยไม่หวั่นไหว อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ถูกศาลวินิจฉัยตัดสินก็ต้องยอมรับ หาข้อบกพร่องของตัวเองแล้วแก้ไข เพื่อให้ชนะการเลือกตั้งครั้งต่อไป ไม่ใช่การปลุกประชาชนลงถนน ด่าบนโลกออนไลน์

นายจรัญ กล่าวอีกว่า จึงต้องมีองค์กรตุลาการที่มีความเป็นกลาง เป็นอิสระจากความขัดแย้งทางการเมือง จากผลประโยชน์ในระบบทุนที่แฝงอยู่ใต้ระบบการเมืองไทย เพื่อเป็นหลักประกันว่าเป็นระบบงานยุติธรรมที่มีคุณภาพมาตรฐาน ขอเพียงอย่างเดียวขอให้ยอมรับคำตัดสินสุดท้ายของฝ่ายตุลาการ

ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้เพิ่มเรื่องฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้เป็นหน้าที่ของป.ป.ช.สอบ จึงเป็นระบบตรวจสอบที่มีคุณภาพขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 60 และสุดท้ายต้องมาจบที่องค์กรตุลาการ กระบวนการยุติธรรม ซึ่งเราอุตส่าห์ทุ่มเทสร้าง ก็อาจจะมีผิดเพี้ยนบ้างเป็นรายบุคคล แต่โดยรวมแล้วเป็นระบบงานที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะฝ่ายข้างน้อยทางการเมืองไม่มีทางเอาชนะได้ในระบบรัฐสภา ก็ทำให้มีช่องทางนั่นคือ มาทางระบบตรวจสอบผ่านศาลรัฐธรรมนูญ แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่อยู่ที่การมีระบบตุลาการที่มีความเป็นกลาง ความเป็นอิสระจากความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อเป็นตัวรับประกันว่าเป็นระบบงานด้านความยุติธรรมอย่างมีคุณภาพ แต่ขอให้ยอมรับอารยธรรมและการตัดสินของฝ่ายตุลาการ

ถ้าตุลาการทุจริตไม่อยู่ในร่องในรอย เช็กบิลตุลาการคนนั้นให้มีโทษถึงประหาร นั่นก็ไม่ได้ดูรุนแรงเกินไป แต่ถ้าเขาไม่ได้มีพฤติกรรมอย่างนั้น ขอให้ยอมรับคำวินิจฉัยของศาล เหมือนที่อารยธรรมในระบบการปกครองเสรีประชาธิปไตย ที่เราต้องยอมรับผลการเลือกตั้งแล้วมาแก้ปัญหากันหลังจากนั้น








Advertisement

อย่าได้ทำแบบในบางประเทศมหาอำนาจผู้นำทางระบบประชาธิปไตยโลก อ้างตัวเองเป็นผู้นำทางเสรีประชาธิปไตย สั่งสมอารยธรรมนี้มา 200 กว่าปี แต่แล้วก็ถูกเหยียบย่ำทำลายเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา อย่างไรแล้วให้ฝ่ายข้างน้อยได้มีทางออก ขอให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้มีผู้ดูแล ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นของประเทศ ต้องสามารถป้องกันปราบปรามได้ดีขึ้น และอย่าให้ประชาชนต้องแตกสามัคคีกลายเป็นศัตรูกันโดยที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน