ปชป. เตรียมปัดฝุ่น กฎหมายราชทัณฑ์ ตั้งกรรมการอิสระพิจารณาประโยชน์ของผู้ต้องขัง ลดโทษ-พักโทษ ต้องให้ศาลสั่ง หวั่นเกิด “ทักษิณโมเดล”

เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2567 ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับการพักโทษ ว่า หลักกระบวนการยุติธรรมต้องเป็นที่พึ่งที่หวังให้กับพี่น้องประชาชน มีความน่าเชื่อถือ

กรณีของนายทักษิณ รัฐบาลไม่ตระหนักถึงหลักนิติธรรมตามที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ทุกอย่างเป็นความลับช่วยปกปิดความจริงกันอย่างเป็นระบบ หลักนิติธรรมถูกทำลายอย่างไม่มีชิ้นดี อำนาจตุลาการถูกท้าทายจากอำนาจราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นปลายทางของกระบวนการยุติธรรม

ที่บอกว่านายทักษิณได้รับโทษจำคุกถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลารวม 6 เดือน ชัดเจนจากข้อเท็จจริงว่า นายทักษิณไม่ได้ติดคุกจริงแม้แต่วันเดียว ป่วยจริงหรือไม่ รักษาตัวอยู่จริงหรือไม่ ประชาชนรู้ทัน บุคคลที่อยู่ในระบบทักษิณ ถวิลหาความยุติธรรมที่เท่าเทียม ไม่มีการเลือกปฏิบัติ

แต่ก็เป็นแค่ลมที่ผ่านออกมาจากปาก ไม่ใช่คำพูดที่เกิดจากสามัญสำนึก แต่เป็นการเลือกปฏิบัติสองมาตรฐาน ไร้ความเท่าเทียม เหยียบย่ำอำนาจศาล ไร้ซึ่งหลักนิติธรรม ถ้ากระบวนการยุติธรรมในขั้นตอนการบังคับโทษเป็นเช่นนี้ แล้วหลักการของบ้านเมืองจะเหลืออะไร ประชาชนจะพึ่งหวังกระบวนการได้อย่างไร

นายราเมศ กล่าวต่อว่า ในประเด็นกระบวนการพักโทษนั้น แม้จะเป็นหลักการที่กรมราชทัณฑ์ใช้กับนักโทษทั่วไป แต่พี่น้องประชาชนติดใจในเรื่องการจำคุกจริงหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้พรรคประชาธิปัตย์ เคยเสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ราชทัณฑ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ อดีตสส.นครศรีธรรมราช กับคณะ ยื่นต่อสภาฯ ชุดที่ผ่านมา แต่ญัตติได้ตกไปเนื่องจากหมดวาระของสภาฯ

ดังนั้น ตนในฐานะกรรมการบริหารพรรคจะนำกฎหมายฉบับนี้มาปรับปรุง และเสนอต่อที่ประชุม สส. โดยจะให้มีการแก้ไขในเรื่องอำนาจในบางเรื่องของกรมราชทัณฑ์ เพื่อให้เป็นไปตามหลักกระบวนการยุติธรรม และรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายอย่างแท้จริง เมื่อพรรคพิจารณาแล้วจะได้ยื่นเป็นญัตติใหม่ในการประชุมสภาฯ ชุดนี้

สาระสำคัญของ ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ มองเห็นถึงปัญหาของการบังคับโทษในส่วนของกรมราชทัณฑ์ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีคณะกรรมการอิสระ เพื่อพิจารณาประโยชน์ของผู้ต้องขัง เนื่องจากเมื่อศาลตัดสินไปแล้ว แต่ศาลไม่มีอำนาจในการพิเคราะห์พิจารณาว่า จะให้มีการลดโทษหรือพักโทษกับนักโทษคดีนี้อย่างไรบ้าง

ซึ่งคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวควรจะมีโครงสร้างที่มีตัวแทนจากผู้พิพากษาในศาลฎีกา ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการป้องกันการใช้อำนาจโดยอำเภอใจขององค์กรบางองค์กร ให้มีคณะกรรมการอิสระเพื่อพิจารณาประโยชน์ของผู้ต้องขัง การที่จะพิจารณาอนุญาตให้มีการลดโทษ พักโทษ จะต้องกลับไปศาลให้เป็นที่สิ้นสุด

สมมติกรณีของนายทักษิณ สิ้นสุดที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อคณะกรรมการฯ ชุดนี้พิจารณาแล้วก็จะมีการสรุปข้อเท็จจริงทั้งหมด เพื่อให้ศาลเข้ามาร่วมในการพิจารณาว่าจะให้มีการพักโทษหรือไม่ ก็จะเป็นระบบมากขึ้น

นี่คือสิ่งที่เราจะต้องยึดหลักการณ์และกฎหมายหากไปกระทบต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรม ถึงเวลาแล้วที่เราต้องทำอย่างเป็นระบบจังหวัด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากรณีเดียวกับที่เกิดขึ้นกับคุณทักษิณ จำคุกจริง ไม่จริง ป่วยจริง ไม่จริง รักษาอยู่ที่โรงพยาบาล จริง ไม่จริง ทุกอย่างเป็นความลับหมด

นายราเมศ กล่าวต่อว่า ในการแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว ก็เพื่อให้คงไว้ซึ่งหลักนิติรัฐ นิติธรรม ปลายทางของกระบวนการยุติธรรม และการใช้อำนาจของกรมราชทัณฑ์อย่างแท้จริง ซึ่งพรรคการเมืองก็ต้องมีวุฒิภาวะในการตรวจสอบ และดำเนินการให้บ้านเมืองมีกฎเกณฑ์ มีกติกาภายใต้ระบบนิติรัฐ

ฉะนั้น ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายจึงเป็นเรื่องสำคัญ หากถูกด้อยค่าให้ลดน้อยถอยลงจากองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ก็แสดงว่ากำลังเกิดอุปสรรคในการบังคับใช้กฎหมายแล้ว และเพื่อให้ไม่มีใครสามารถอ้างได้ว่าเป็นโรคเช่นเดียวกับนายทักษิณ

เพราะหากไม่มีการแก้ไขต่อไปอาจจะมีคนอ้างในระหว่างที่ถูกคุมขังได้ว่าเป็นโรคนายทักษิณ เมื่อเป็นโรคนายทักษิณก็สามารถไปรักษาที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องมีใครรู้ ไม่ต้องมีใครทราบว่าจะรักษาอย่างไร ซึ่งตนไม่อยากให้เกิดทักษิณโมเดลในปลายทางของกระบวนการยุติธรรม

เมื่อถามว่ามองทิศทางการเมืองอย่างไรหลังนายทักษิณได้พักโทษ นายราเมศ กล่าวว่า ไม่ว่านายทักษิณจะอยู่สถานที่ใด ตนคิดว่ารัฐบาลนี้มีความเชื่อมโยงกันอยู่แล้ว ดังนั้นตนจึงไม่ให้ความสำคัญ

การที่รัฐบาลจะไปกราบนายทักษิณหรือใครจะไปดำเนินการอย่างไรกับนายทักษิณ ก็เป็นเรื่องส่วนตัว แต่รัฐบาลต้องตระหนักว่าสิ่งที่ประกาศไว้กับประชาชน และสิ่งที่บริหารแผ่นดินอยู่บนหลักนิติรัฐ นิติธรรม รัฐบาลต้องยึดหลักนี้ให้มาก

เมื่อถามว่า มีการตั้งข้องสังเกตว่าอาจจะมีนายกฯ 2 คน นายราเมศ กล่าวว่า โดยหลักรัฐธรรมนูญกำหนดไว้แล้วนายกฯ มีคนเดียว แต่ความเชื่อมโยงผูกพันกันหรือใครสามารถที่จะสั่งการให้นายกฯซ้ายหันขวาหันได้ ตนคิดว่าประชาชนทราบดีว่าใครคิดและใครเป็นคนทำ สิ่งนี้ในอนาคตจะเป็นคำตอบทั้งหมดว่าเรามีนายกฯ กี่คน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน