“ก้าวไกล” ค้าน “ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม” เปลี่ยนที่มาบอร์ด จากเลือกตั้งเป็นแต่งตั้ง ฉะ กระทรวงแรงงาน แก้กฎหมายถอยหลังลงคลอง

เมื่อเวลา 09.50 น. วันที่ 21 ก.พ. 2567 ที่รัฐสภา นายเซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร แถลงกรณีการแก้ไขร่างพระราชบัญัตติ (พ.ร.บ.) แรงงาน ว่า ตามที่กระทรวงแรงงานได้เสนอร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่.) พ.ศ. … ไปยังสำนักเลขารัฐมนตรี โดยพ.ร.บ.ดังกล่าวมีการแก้ไขจากฉบับเดิมหลายมาตรา

สิ่งที่สำคัญที่ตนในฐานะ สส.สัดส่วนเครือข่ายผู้ใช้แรงงานพรรคก้าวไกล และสส.ทุกคน ขอคัดค้าน คือ เราไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการแก้ไขที่มาของคณะกรรมการประกันสังคมฝ่ายผู้ประกันตนและนายจ้าง (บอร์ดประกันสังคม)

โดยให้เปลี่ยนจากเดิมที่เป็นแบบเลือกตั้ง ไปเป็นแบบแต่งตั้ง ตามเนื้อหาในร่างกฎหมายว่า หลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

เมื่อก่อนนั้นการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมจะมาจากการเลือกตั้งของผู้แทนสหภาพแรงงาน โดยมี 1 เสียง ไม่ว่าสหภาพแรงงานจะมีสมาชิก 5,000 คน หรือมีสมาชิกแค่ 50 คน ก็มี 1 เสียงเท่ากัน ซึ่งประเทศไทยมีจำนวนสหภาพแรงงานเพียงแค่ราว 1,400 แห่งเท่านั้น ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนสถานประกอบการ

มีสถานประกอบการจำนวนมากที่ไม่มีสหภาพแรงงาน และมีผู้ใช้แรงงานจำนวนมากที่ไม่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ผู้ประกันตนส่วนใหญ่ในช่วงเวลานั้นจึงไม่ได้มีสิทธิ์มีเสียงใดๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งที่พวกเขาจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน

ที่ผ่านมาผู้ใช้แรงงานจำนวนมากพยายามเสนอให้มีการเลือกตั้งโดยตรงจากผู้ประกันตน คือ 1 ผู้ประกันตน 1 สิทธิ์ แต่ก็ไม่เคยได้รับการตอบรับจากรัฐบาล จนต่อมาเมื่อมีการทำรัฐประหารปี 2557

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ได้กระทำการซ้ำร้ายกว่าเดิม ในวันที่ 8 พ.ย.2558 โดยมีคำสั่งที่ 40/2558 ให้แต่งตั้งคณะกรรมการประกันสังคมใหม่ทั้งหมด แทนที่ชุดเดิมที่มาจากการเลือกตั้งโดยผู้แทนสหภาพแรงงาน

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตนร่วมกับพี่น้องแรงงานติดตามทวงถามต่อ รมว.แรงงาน สำนักงานประกันสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง โดยช่วงต้นเดือน ต.ค.2566 สำนักงานประกันสังคมประกาศให้ผู้ประกันตนที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง เริ่มลงทะเบียนภายในวันที่ 12-31 ต.ค.2566 และจัดให้มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2566

หลังการเลือกตั้งสำนักงานประกันสังคมได้ประกาศผลอย่างไม่เป็นทางการ และประกาศรับรองในวันที่ 23 ม.ค.2567 ปรากฏว่าผู้ที่ได้คะแนนอันดับที่ 7 ไม่ใช่คนเดิมตามประกาศแรก จึงทำให้มีคำถามมากมายว่าเกิดอะไรขึ้นกับผลคะแนนเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม

ประชาชนมองเห็นความไม่ชอบมาพากลหลายประการ ทั้งกระบวนการประชาสัมพันธ์จัดการเลือกตั้ง กติกาที่กีดกันผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติออกจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นผู้เลือกตั้งหรือผู้สมัครรับเลือกตั้ง การรับรองคะแนนที่ล่าช้าไปอย่างต่ำ 2 เดือน และผลการเลือกตั้งทางการที่จู่ๆ ก็เปลี่ยนตัวกรรมการไป 1 คน

วันนี้กระทรวงแรงงานได้เสนอร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่.) พ.ศ. … เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยในเนื้อหาร่างกฎหมายนั้น เหมือนว่าประกันสังคมต้องการจะย้อนเวลาตามหายุค คสช. กลับไปล้าหลังกว่าเดิม

ดังที่ระบุไว้ใน มาตรา 8 ว่า หลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี นี่เป็นสิ่งที่ล้าหลังและถอยหลังอย่างยิ่ง

การที่นายบุญส่ง ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการประกันสังคม ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน อ้างว่าใช้งบประมาณจัดเลือกตั้งเกือบ 100 ล้านบาท แต่คนมาใช้สิทธิ์ไม่ถึงล้านคนจากผู้ประกันตน 24 ล้านคน ผู้ที่มีสิทธิ์ 10 ล้านกว่าคน สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้สรุปบทเรียนการเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่ว่าเกิดจากอะไร

การประชาสัมพันธ์น้อยไปหรือไม่ การลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ประกันสังคมมีปัญหาจริงหรือไม่ การเดินทางไปหน่วยเลือกตั้งที่อยู่ห่างไกลร่วมร้อยกิโลเมตร ทำให้ผู้ประกันตนไม่สามารถไปใช้สิทธิ์ได้จริงใช่หรือไม่

มิหนำซ้ำหน่วยเลือกตั้งเหล่านี้หลายหน่วยก็ไม่รับรองผู้พิการด้านต่างๆ อีกด้วยหรือเปล่า ปัญหาอุปสรรคต่างๆ เป็นอย่างไร ควรจะนำไปปรับปรุงแก้ไขให้การเลือกตั้งในครั้งหน้าดีขึ้นกว่าเดิมหรือเปล่า ทำไมถึงกลับมาแก้ไขกฎหมายให้ถอยหลังลงคลองเช่นนี้

“หรือที่ผ่านมากระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม ไม่เคยคิดอยากให้มีการเลือกตั้งในรูปแบบ 1 สิทธิ์ 1 เสียง มีใครได้ประโยชน์อะไรจากการแต่งตั้งบอร์ดประกันสังคมหรือไม่ วันนี้ในเมื่อเรามีกฎกติกาที่ก้าวหน้ามาไกลแล้ว ทำไมถึงมีความพยายามดึงถอยหลังกลับไปอีก วันนี้ผมและคณะจึงขอคัดค้านในประเด็นดังกล่าว รวมถึงขอเชิญชวน ครม.ทุกท่านมาร่วมคัดด้านกับเราด้วย

เพราะเราต้องการให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง ดังนั้นในการเลือกตั้งขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของผู้ใช้แรงงาน เราจึงสมควรปกป้องความศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ใช่มัวหวาดระแวงการเลือกตั้งเยี่ยงรัฐบาลเผด็จการ” นายเซีย กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน