ธีรยุทธ ทนายความของอดีตพุทธะอิสระ หอบคำวินิจฉัยศาลรธน. จี้ยุบก้าวไกล กระทำการล้มล้างการปกครอง ชี้ไม่ต้องเรียกเข้าแจงแล้ว จับตากม.นิรโทษ ค้านนิรโทษคดี 112

เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความของอดีตพุทธะอิสระ ในฐานะผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 กรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล กระทำการล้มล้างการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เข้ายื่นสำเนาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 คดีพรรคก้าวไกลกระทำการล้มล้างการปกครอง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ฉบับเต็มที่รับรองโดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ต่อ กกต.และนายทะเบียนพรรคการเมือง

นายธีรยุทธ กล่าวว่า การยื่นสำเนาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับเต็มให้กับ กกต. เพื่อให้กกต.พิจารณายุบพรรคก้าวไกล ให้เป็นไปตามกรอบของระเบียบ กกต. ซึ่งเท่าที่ตนศึกษามีการวางกรอบเวลาการทำงานในแต่ละขั้นตอนเอาไว้ชัดเจน รวมแล้วไม่น่าเกิน 90 วัน นับตั้งแต่ที่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาไต่สวน สามารถมีคำวินิจฉัยยื่นต่อศาลได้

ตนเห็นว่า กกต.ไม่จำเป็นต้องเชิญผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจงอีก เพราะทั้งนายพิธา และ นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ตลอดจนฝ่ายความมั่นคง ได้ชี้แจงข้อมูลให้กับศาลรัฐธรรมนูญอย่างครบถ้วนแล้ว

ในคำวินิจฉัย ศาลยกเหตุการณ์ที่สมาชิกพรรคก้าวไกลปรากฏตัวทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มเยาวชน แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงที่เป็นเครือข่ายเดียวกัน ซึ่งเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่ในกระบวนการพิจารณาของศาล ได้รับข้อมูลจากหน่วยงานความมั่นคง และศาลได้อนุญาตให้ตนได้เข้าไปอ่าน แต่ไม่สามารถคัดถ่ายสำเนาออกมาได้ เพราะเป็นความลับชั้นความมั่นคงของประเทศ หากหลุดออกมาอาจจะเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ไปในทำนองไม่สุจริต

ข้อมูลดังกล่าวพบว่า มีเหตุการณ์ความเชื่อมโยงที่มากกว่าที่ศาลอ่านและเผยแพร่ผ่านสาธารณะ ตนเชื่อว่า กกต.ในฐานะหน่วยงานตรวจสอบ สามารถไปขอข้อมูลหลักฐานเหล่านี้จากศาลได้ จึงไม่จำเป็นต้องเรียกผู้ถูกกล่าวหามาสอบอีก

นายธีรยุทธ กล่าวอีกว่า ตนยังคงติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมถึงเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งขณะนี้ยังมีข้อถกเถียงว่าจะให้ผู้ที่เป็นจำเลยในคดีมาตรา 112 ได้รับอานิสงส์ด้วยหรือไม่ ซึ่งตนเห็นว่ามาตรา 112 ไม่ใช่คดีความขัดแย้งทางการเมือง แต่เป็นคดีที่ศาลได้วางบรรทัดฐานเอาไว้แล้วว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง

ดังนั้น หากร่างกฎหมายนิรโทษกรรมนี้ คนที่กระทำความผิดในคดีมาตรา 112 ได้รับการนิรโทษกรรมด้วย ตนจะดำเนินการทุกช่องทางที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้ ขณะนี้ตนติดตามการพิจารณาเรื่องดังกล่าวในชั้นกรรมาธิการ เพื่อดูว่าใครมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร โดยเอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาตรวจเทียบ

ส่วนกรณีแกนนำพรรคก้าวไกล แสดงความไม่กังวลว่าหากถูกยุบพรรคจากกรณีดังกล่าว เพราะมีความพร้อมจัดตั้งพรรคใหม่นั้น เป็นสิทธิที่ทำได้ แต่การดำเนินกิจการของพรรคก็ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงแก้ไขมาตรา 112 นั้น ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ห้าม แต่ต้องเป็นไปโดยชอบและตามที่กฎหมายกำหนด อย่าใช้สิทธิเสรีภาพที่เกินขอบเขต ซึ่งตนจะติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน