สภามีมติเอกฉันท์รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 14 ปชป.-ก้าวไกล-เพื่อไทย เห็นตรงกัน จวกคณะรัฐประหารเพิ่มอำนาจ กอ.รมน. แต่ลดบทบาทตัวแทนประชาชนในพื้นที่ ขาดส่วนร่วมแก้ปัญหาชายแดนใต้ ตั้งกมธ.พิจารณา

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 21 ก.พ.2567 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 14/2559 เรื่องคณะกรรมการที่ปรึกษาบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ลงวันที่ 4 เม.ย.2559 ของนายยูนัยดี วาบา สส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์

อีก 2 ฉบับ ของนายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และของนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคณะเป็นผู้เสนอ

นายยูนัยดี อภิปรายหลักการและเหตุผล ว่า เนื่องด้วยคำสั่ง คสช. ที่ 14/2559 ได้กำหนดให้ยกเว้นบทบัญญัติบางมาตราของ พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลให้ไม่มีสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีประชาชนในพื้นที่เป็นสมาชิก และเป็นส่วนสำคัญให้การแก้ปัญหาเกิดผลสัมฤทธิ์

ขณะที่คณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ของ คสช. ไม่สามารถตอบสนองการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งประชาชนในพื้นที่ไม่ได้มีส่วนร่วม

ทั้งนี้แต่เดิมสภาที่ปรึกษาฯ มีตัวแทนจากหลายภาคส่วน สามารถเสนอแนะ มีส่วนร่วมตรวจสอบประเมินการทำงานของ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และให้ความเห็นแก่นายกรัฐมนตรี และเลขาธิการ ศอ.บต.เพื่อประกอบการพิจารณาให้เจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายพลเรือน ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ให้ออกไปจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้

แต่คำสั่ง คสช. ทำให้สภาที่ปรึกษาฯ ถูกลดทอนอำนาจหน้าที่ลงไป จึงขอเสนอให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. ดังกล่าว เพื่อให้สภาที่ปรึกษาเดิม ได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่

ด้านนายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้รับมอบหมายจากนายรอมฎอน เป็นผู้อภิปราย ว่า คำสั่ง คสช. ได้เพิ่มอำนาจให้ กอ.รมน. เพื่อขยายอำนาจฝ่ายทหารมาควบคุมกิจการของพลเรือน ซึ่งมองว่า กำลังเดินไปผิดทาง จึงเสนอให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. ดังกล่าว เพื่อยุติบทบาทของคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ ฟื้นฟูสภาที่ปรึกษาฯ และจำกัดบทบาทของ กอ.รมน.

ขณะที่นายชูศักดิ์ อภิปรายระบุว่า เป็นการรวมศูนย์อำนาจไปไว้ที่ส่วนกลางเพื่อเสนอนายกฯ แต่ไม่มีตัวแทนจากแต่ละภาคส่วน การบริหารเช่นนี้เป็นผลทำให้การบริหารปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งยังมีปัญหาเพิ่มขึ้น

แม้แต่รัฐบาลปัจจุบันก็ได้รับฟังเสียงสะท้อนจากหลายหน่วยงานว่า ควรยกเลิกคำสั่ง คสช. แล้วกลับไปใช้กฎหมายเดิม ทั้งนี้ทั้ง 3 ร่างพ.ร.บ. ที่มีผู้เสนอมา มีเจตจำนงเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป และเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์

ระบบกฎหมายของไทยขณะนี้ ถ้าคนยึดอำนาจการปกครองประเทศแล้วออกคำสั่งประกาศต่างๆ ใช้เวลาเท่าใด บางคนบอกว่าใช้เวลาวันเดียว พอยึดอำนาจแล้วศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ออกกฎหมายอะไรได้หมด ครั้นเราจะยกเลิก ต้องเสนอร่าง พ.ร.บ.ผ่านวาระต่างๆ อาจใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือนหรือเป็นปี

“เรื่องนี้สภาฯควรต้องตระหนัก ว่าระบบแบบนี้ควรหมดไปจากประเทศไทย โดยสภาฯ และศาล ต้องไม่ยอมรับประกาศคำสั่งใดๆ ไม่ยอมรับการยึดอำนาจรัฐประหาร ว่าไม่ใช่สิ่งดีงาม ไม่ร่วมมือด้วย ฝากเป็นข้อคิดอุทาหรณ์ไปยัง สส.ว่าเราควรต้องตระหนักถึงหน้าที่ของเราในส่วนนี้” นายชูศักดิ์ กล่าว

จากนั้นให้สมาชิกอภิปรายแสดงความคิดเห็นว่า คำสั่งคสช.มีปัญหาต่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นด้วยให้ยกเลิกคำสั่งคสช. และสนับสนุนให้สภาฯ ตั้งกมธ.วิสามัญยกเลิกคำสั่งคสช.

หลังอภิปรายเสร็จสิ้น ที่ประชุมลงมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับ ด้วยคะแนน 421 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 1 เสียง และตั้งคณะกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 14 จำนวน 31 คน แปรญัตติ 15 วัน โดยใช้ร่างของนายชูศักดิ์ เป็นร่างหลัก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน