ราคาสินค้าการเกษตร อีกประเด็นสำคัญที่ควรต้องตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ ซึ่งเน้นการเมืองแบบประนีประนอม แต่บุกหนักด้านปากท้องประชาชน ว่าทำให้เกษตรกรไทยมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ขนาดไหน

มีคำยืนยันจาก นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ที่กุมบังเหียนดูแลราคาสินค้า ว่ารัฐบาลโดยการนำของนายเศรษฐา บริหารมา 6 เดือน ตั้งแต่ก.ย. 2566 จนถึงปัจจุบัน

ทำให้สินค้าเกษตรที่สำคัญ 5 รายการของไทย ที่มีมูลค่าตลาดรวมกันมากกว่า 8-9 แสนล้านบาท มีราคาปรับสูงขึ้นทุกรายการ

ทั้งข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และยางพารา ทำให้เกษตรกรไทยมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น ตอบโจทย์นโยบายลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาสของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี

หากจะเปรียบเทียบราคาสินค้าเกษตรทั้ง 5 รายการในช่วงรัฐบาลเศรษฐาเข้ามาบริหารประเทศ กับช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริหารประเทศช่วง 9 ปีก่อน ระหว่างปี 2558 ถึงปี 2566 จะเห็นชัดว่าราคาสินค้าเกษตรในรัฐบาลปัจจุบันมีราคาปรับเพิ่มขึ้นทุกรายการ

ข้าวเปลือกหอมมะลิ ปรับเป็น 14,995 บาทต่อตัน จากเดิม 13,315 บาทต่อตัน ราคาสูงขึ้น 1,680 บาทต่อตัน หรือเพิ่มขึ้น 13%

ข้าวเปลือกเจ้า ปรับเป็น 12,181 บาทต่อตัน จากเดิม 8,443 บาทต่อตัน ราคาสูงขึ้น 3,738 บาทต่อตัน หรือเพิ่มขึ้น 44%

ข้าวเปลือกเหนียว ปรับเป็น 13,640 บาทต่อตัน จากเดิม 11,847 บาทต่อตัน ราคาสูงขึ้น 1,793 บาทต่อตัน หรือเพิ่มขึ้น 15%

มันสำปะหลัง ปรับเป็น 3.56 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิม 2.45 บาทต่อกิโลกรัม ราคาสูงขึ้น 1.20 บาทต่อกิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้น 45%

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปรับเป็น 9.84 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิม 9.10 บาทต่อกิโลกรัม ราคาสูงขึ้น 0.33 บาทต่อกิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้น 8%

มีสินค้าเกษตรอีก 2 รายการ ที่ราคาปรับขึ้นด้วย คือ

ปาล์มน้ำมัน ปรับเป็น 5.83 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิม 5.23 บาทต่อกิโลกรัม ราคาสูงขึ้น 1.22 บาทต่อกิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้น 12%

ยางแผ่นดิบชั้น 3 ปรับเป็น 54.51 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิม 47.17 บาทต่อกิโลกรัม ราคาสูงขึ้น 7.34 บาทต่อกิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้น 16%

กระทรวงพาณิชย์ระบุปัจจัยหลักที่ทำให้สินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากรัฐบาลจับมือภาคเอกชนทำตลาดผลักดันการส่งออก

อาทิ เร่งเจรจาซื้อขายข้าวสารให้ประเทศคู่ค้าอย่าง ญี่ปุ่น จีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ทำให้ปี 2566 ไทย ส่งออกข้าวเกินกว่าเป้าหมาย โดยส่งออกได้ 8.76 ล้านตัน ทำรายได้เข้าประเทศมากถึง 178,136 ล้านบาท

และยังผลักดันการส่งออกมันสำปะหลัง ทำให้ราคาส่งออกแป้งมันปัจจุบันสูงกว่าราคาเฉลี่ยปี 2566 แล้ว 4.6% หรือจาก 19.15 บาทต่อกิโลกรัม ปัจจุบันเฉลี่ย 20.03 บาทต่อกิโลกรัม

รวมถึงเร่งยกระดับการเพิ่มผลิตผลสินค้าเกษตรภายใต้นโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยเร่งรัดผลักดันพันธุ์ข้าวชนิดใหม่ ผลผลิตสูง ทนทานโรค ต้นทุนต่ำ เพื่อให้แข่งขันได้ในตลาดโลก โดยผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ได้ 535,000 ตัน ภายในปี 2570

พร้อมทั้งนำมาตรการบริหารจัดการกลไกตลาด วางแผนบริหารจัดการเชิงรุกมาใช้ในทุกสินค้า ตั้งแต่จัดการก่อนเกิดปัญหา

อาทิ ข้าว นำมาตรการช่วยชาวนา โรงสีเก็บสต๊อกในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ช่วยลดต้นทุนชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่

ส่วนมันสำปะหลัง ส่งเสริมการแปรรูปหัวมันสดเป็นมันสับ เพื่อเพิ่มมูลค่าการจำหน่าย รวมทั้งเพิ่มสภาพคล่องให้ลานมัน โรงแป้ง ในการรวบรวมหัวมันสด

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รัฐบาลเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้รวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน เข้าบริหารจัดการสมดุลสต๊อกน้ำมันปาล์ม ให้มีน้ำมันปาล์มเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ การส่งเสริมเป็นพลังงานทางเลือก และผลักดันส่งออกเพื่อบริหารจัดการผลผลิตส่วนเกิน

ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้การนำของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ ที่เคยประกาศไว้ว่า หากกลับมาจะเดินหน้าแก้ปัญหาปากท้อง เกษตรกรต้องอยู่ดีกินดี ราคาผลผลิตต้องปรับตัวสูงขึ้น ต้นทุนลดลง

จะทำทุกวิธีทางไม่ให้สินค้าผิดกฎหมายมาทำให้ราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ เพื่อขับเคลื่อนภาคการเกษตรให้เติบโตขึ้น เพิ่มรายได้เกษตรกรขึ้นอีก 3 เท่า ภายใน 4 ปี

ก็พบราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิดมีทิศทางปรับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว สับปะรด น้ำนมดิบ และสุกร

เป็นผลสำเร็จจากนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะการลุยปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมายมาอย่างเข้มงวด การมุ่งยกระดับสินค้าเกษตร เร่งแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ วางมาตรการรองรับภัยพิบัติ โรคระบาดพืช สัตว์

เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในช่วงวิกฤตภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง การบริหารจัดการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กิจกรรมภาคการเกษตร เป็นผลสำเร็จชัดเจนและส่งผลบวก

พบราคาผลผลิตด้านการเกษตรที่เกษตรกรขายได้ หรือราคา ณ ไร่นา ปี 2567 ราคาข้าวเปลือกนาปี ม.ค. 2567 อยู่ที่ 11,588.32 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากราคาเฉลี่ยปี 2566 ที่ราคา 11,512.40 บาท/ตัน

ข้าวหอมจังหวัด ก.พ. 2567 ราคา 13,611 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากต.ค. 2566 ที่รัฐบาลเข้ารับตำแหน่งที่ราคา 12,923 บาท/ตัน และเพิ่มขึ้นจากราคาเฉลี่ยทั้งปี ที่ 12,230 บาท/ตัน

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ม.ค. 2567 ราคา 11,324 บาท/ตัน ลดลงจากต.ค. 2566 ที่ราคา 12,958 บาท/ตัน แต่เพิ่มขึ้นจากราคาเฉลี่ยทั้งปี 2566 ที่ 10,686 บาท/ตัน

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ม.ค. 2567 ราคา 8.93 บาท/กิโลกรัม ลดลงเล็กน้อยจากต.ค. 2566 ที่ 9.22 บาท/กิโลกรัม

ยางพารา ก.พ. 2567 ราคา 65.47 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากต.ค. 2566 ที่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศที่ราคา 48.90 บาท/กิโลกรัม และสูงกว่าราคาเฉลี่ยทั้งปี 2566 ที่ราคา 45.77 บาท/กิโลกรัม

มันสำปะหลัง ก.พ. 2567 ราคา 3.05 บาท/กิโลกรัม สูงขึ้นกว่าต.ค. 2566 ที่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศที่ราคา 2.82 บาท/กิโลกรัม และราคาเฉลี่ยทั้งปี 2566 ที่ราคา 2.83 บาท/กิโลกรัม

ปาล์มน้ำมัน ปัจจุบันราคาเฉลี่ย 6.28 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากช่วงก.ย. 2566 ที่ราคา 5.06 บาท/กิโลกรัม

มะพร้าว ปัจจุบันราคาเฉลี่ย 14.57 บาท/ผล เพิ่มขึ้นจากช่วงก.ย. 2566 ที่ราคา 7.90 บาท/ผล

สับปะรด ปัจจุบันราคาสับปะรดปัตตาเวียส่งโรงงาน เฉลี่ยที่ 10.60 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากช่วงก.ย. 2566 ที่ราคา 8.37 บาท/กิโลกรัม

น้ำนมดิบ ปัจจุบันราคาเฉลี่ยที่ 20.21 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากช่วงก.ย. 2566 ที่ราคา 19.65 บาท/กิโลกรัม

สําหรับสินค้าสุกร นับแต่รัฐบาลปัจจุบันเริ่มปฏิบัติหน้าที่ เดินหน้าปราบปรามการลักลอบนำเข้าสุกรเถื่อนอย่างจริงจัง กระทรวงเกษตรฯ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กอ.รมน.จังหวัด ดีเอสไอ ตำรวจ ตรวจสอบห้องเย็นทั่วประเทศมากกว่า 2 พันแห่ง ทำให้ราคาสุกรปรับตัวสูงขึ้น

ปัจจุบันราคาสุกรเฉลี่ยที่ 67.45 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนต.ค. 2566 ที่ราคา 64.25 บาท/กิโลกรัม

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า นโยบายของ ร.อ.ธรรมนัส ที่เข้ามาลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ หากนับจากรายได้เกษตรกรที่สศก.ร่วมกับสำนักงานสถิติฯสำรวจ

พบรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่า เป็นรายได้จากในภาคเกษตรเท่าไร นอกภาคเกษตรเท่าไร ต้องใช้เวลาแยกตัวเลขรายได้ออกมา

สำหรับรายได้ภาคเกษตรปีล่าสุดคือปี 2565 อยู่ที่ 420,198 บาท/ครัวเรือน เป็นรายได้นอกภาคเกษตร 213,888 บาท/ครัวเรือน รายได้ในภาคเกษตร 206,310 บาท/ครัวเรือน หนี้สินรวม 235,050 บาท/ครัวเรือน

ทั้งนี้ สถานการณ์ภาคการเกษตร มีอัตราเติบโตของ GDP ภาคการเกษตร (ณ ราคาที่แท้จริง) ปี 2566 มีมูลค่า 680,640 ล้านบาท หรือขยาย 0.3% จากปริมาณน้ำที่เพียงพอ การจัดการฟาร์มที่ดี และเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น

ส่วนปี 2567 มีแนวโน้มการขยายตัว 0.7-1.7% จากปัจจัยนโยบายภาครัฐ ความต้องการสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาสินค้าเกษตรอยู่ในเกณฑ์ดี

6 เดือนที่ผ่านมาของรัฐบาลเศรษฐา สถานการณ์สินค้าการเกษตรมีทิศทางที่ดีขึ้นมาก คงต้องจับตาและตรวจสอบต่อไปว่า ช่วงปี 2567 นี้ จะทำให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้มากขึ้นอีกหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน