ราชทัณฑ์ ปล่อยบทความ สร้างความเข้าใจ ขั้นตอนพิจารณา ‘พักโทษ’ หลังโดนวิจารณ์ปม ‘ทักษิณ’ ยันพักโทษปีละไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นราย

เมื่อวันที่ 27 ก.พ.2567 กรมราชทัณฑ์ ออกเอกสารข่าวบทความ การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการพักการลงโทษในงานราชทัณฑ์ ตอนที่ 1 ระบุว่า จากกระแสสังคมในปัจจุบันที่ตั้งคำถามต่างๆ นานาต่อการดำเนินงานด้านการพักการลงโทษ ของกรมราชทัณฑ์

ดังนั้น กรมราชทัณฑ์จึงขอให้ข้อมูล เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารโทษในบริบทของ งานราชทัณฑ์ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ และมองเห็นภาพการทำงานได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ดังนี้

1.กฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม พ.ศ.2561 ระบุให้กรมราชทัณฑ์ มีหน้าที่และอำนาจกําหนดแนวทางปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง และบุคคลที่อยู่ในความควบคุมหรือดูแลตามหน้าที่ และอํานาจของกรม ให้สอดคล้องกับกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ นโยบายของกระทรวง หลักอาชญาวิทยา และทัณฑวิทยา ตลอดจนข้อกําหนดมาตรฐานขั้นต่ำสําหรับปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง และข้อเสนอแนะ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องขององค์การสหประชาชาติ

2.การพักการลงโทษ เป็นอำนาจ หน้าที่หนึ่ง ที่เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามหลักทัณฑปฏิบัติ ซึ่งดำเนินการภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยการพักการลงโทษเป็นการบริหารโทษที่กรมราชทัณฑ์ ได้ดำเนินการตามที่ได้ระบุไว้ในพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 เป็นต้นมา

ประเทศไทย ได้ศึกษามาจากสหรัฐอเมริกา และเมื่อมีการปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ก็ยังคงระบุเรื่องการพักการลงโทษไว้เช่นเดิม ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นในปัจจุบัน

3.ในการดำเนินการพิจารณาการพักการลงโทษ ตั้งแต่ขั้นตอนในชั้นเรือนจำและทัณฑสถาน ระเบียบที่เกี่ยวข้อง ได้ระบุให้มีบุคคลภายนอกมาร่วมเป็นคณะทำงานเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ โดยมีผู้บัญชาการเรือนจำ/ผู้อำนวยการทัณฑสถาน เป็นประธาน ร่วมกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้แทนคุมประพฤติ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ผู้แทนกรมการปกครอง ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเจ้าพนักงานเรือนจำ ซึ่งผู้บัญชาการเรือนจำแต่งตั้ง

โดยเสนอผลการพิจารณาไปยังกรมราชทัณฑ์ เพื่อนำเข้าคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่พิจารณาเห็นชอบพักการลงโทษ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงยุติธรรม รองปลัดกระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมคุมประพฤติ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เลขาธิการป.ป.ส. ผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม

ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนกรมการปกครอง ผู้แทนกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ผู้อำนวยการกองทัณฑปฏิบัติ ผอ.กลุ่มงานพักการลงโทษ และหัวหน้าฝ่ายพักการลงโทษ

ดังจะเห็นว่า กรมราชทัณฑ์ ได้ดำเนินการพักการลงโทษ โดยนำภาคส่วนต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาทั้งในชั้นกลั่นกรองและวินิจฉัย เพื่อสร้างความโปร่งใสและคำนึงถึงประโยชน์ของสังคมเป็นหลัก

จากสถิติในทุกๆ ปี กรมราชทัณฑ์มีการปล่อยตัวพักการลงโทษไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นราย โดยในปี พ.ศ.2566 กรมราชทัณฑ์ ได้มีการปล่อยตัวพักการลงโทษกรณีปกติ จำนวน 10,552 คน พักโทษกรณีพิเศษ จำนวน 1,776 คน รวมทั้งสิ้น 12,328 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บทความดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ หลังจากมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์การพักโทษของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่เข้าสู่กระบวนการพักโทษเมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างการคุมประพฤติ นอกจากนี้ นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ยังเสนอให้แก้ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์อีกด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน